คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2720/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นทำการสืบพยานโจทก์จนหมดพยานแล้วเลื่อนไปนัดสืบพยานจำเลย ทนายจำเลยทราบนัดแล้ว ถึงวันนัดฝ่ายจำเลยไม่มีผู้ใดมาศาลศาลชั้นต้นถือว่าจำเลยไม่ติดใจสืบพยานและหรือไม่มีพยานมาสืบ จึงพิพากษาให้จำเลยแพ้คดี กรณีดังกล่าวถือว่าทนายจำเลยเป็นตัวแทนของจำเลย แม้จะฟังว่าทนายจำเลยมิได้แจ้งวันนัดให้จำเลยทราบก็ตามแต่เมื่อทนายจำเลยทราบวันนัดตามกฎหมาย ก็ต้องถือว่าจำเลยทราบวันนัดด้วยแล้ว เมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งว่าคดีเสร็จสำนวนโดยถือว่าจำเลยไม่มีพยานมาสืบ มิใช่กรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาแล้วได้พิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีนั้นไปฝ่ายเดียว จำเลยจึงไม่อาจนำบทบัญญัติเรื่องขาดนัดพิจารณามาใช้เพื่อขอให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีใหม่ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้เช่าซื้อเครื่อง วี ดี โอไปจากโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันแล้วผิดนัดขอให้จำเลยทั้งสามคืนเครื่อง วี ดี โอ ที่เช่าซื้อให้แก่โจทก์หากคืนไม่ได้ขอให้ชดใช้ราคา กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 370,000 บาท ให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1ไม่ได้ผิดสัญญา จำเลยที่ 3 ไม่ได้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสามไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสามส่งมอบเครื่องวี ดี โอ ที่เช่าซื้อตามฟ้องคืนให้โจทก์ในสภาพเรียบร้อย หากไม่ส่งคืนให้ใช้ราคาและให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าขาดประโยชน์ในการใช้เครื่อง วี ดี โอ แก่โจทก์
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำร้องขอพิจารณาใหม่อ้างว่าเหตุที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ไปศาลในวันนัดทำให้ศาลตัดพยานจำเลยและพิพากษาให้จำเลยแพ้คดีนั้น เนื่องจากทนายความที่จำเลยที่ 2 และที่ 3แต่งตั้งให้เป็นทนายแก้ต่างไม่ได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 และที่ 3ทราบโดยไม่ใช่ความผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 หากจำเลยที่ 2 และที่ 3ได้นำพยานเข้าสืบแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะต้องชนะคดีอย่างแน่นอน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3จงใจขาดนัดพิจารณา สั่งยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามได้แต่งตั้งทนายความให้ดำเนินคดีแทนตนโดยยื่นคำให้การไว้แล้วในวันนัดสืบพยานโจทก์ 2 นัดแรก คู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงร่วมกันว่าคดีมีทางตกลงกันได้ แต่พอถึงนัดที่ 3 คือวันที่ 23 สิงหาคม 2531คู่ความแถลงร่วมกันว่าตกลงกันไม่ได้จึงให้สืบพยานโจทก์ไปแล้วนัดสืบพยานโจทก์นัดต่อไปวันที่ 19 กันยายน 2531 เวลา 9 นาฬิกาและนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 27 กันยายน 2531 เวลา 13.30 นาฬิกาและวันที่ 11 ตุลาคม 2531 เวลา 9 นาฬิกา เมื่อถึงวันที่ 19 กันยายน2531 ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์ปรากฏว่าฝ่ายจำเลยไม่มีผู้ใดมาศาลศาลชั้นต้นได้ทำการสืบพยานโจทก์จนหมดพยานแล้วเลื่อนไปนัดสืบพยานจำเลยในวันที่ 27 กันยายน 2531 ซึ่งทนายจำเลยทั้งสามทราบนัดอยู่แล้ว เมื่อถึงวันนัดดังกล่าวฝ่ายจำเลยไม่มีผู้ใดไปศาลศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาลถือว่าจำเลยทั้งสามไม่ติดใจสืบพยานและหรือไม่มีพยานมาสืบ จึงได้พิพากษาให้จำเลยทั้งสามแพ้คดี ต่อมาวันที่ 16 มกราคม 2532 จำเลยที่ 2 และที่ 3ยื่นคำร้องขอพิจารณาใหม่อ้างว่าตนไม่ทราบวันนัดสืบพยานเนื่องจากทนายจำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งได้แต่งตั้งไว้ไม่ได้แจ้งให้ทราบและทนายก็ไม่ได้ไปศาลด้วย คดีมีปัญหาว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3มีสิทธิร้องขอให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีใหม่หรือไม่ เห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จำเลยจะมีสิทธิให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีใหม่ หลังจากมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้จำเลยแพ้คดีในประเด็นที่พิพาทแล้ว ก็เฉพาะกรณีที่จำเลยขาดนัดพิจารณาโดยมิได้จงใจหรือมีเหตุอันสมควร แต่ตามข้อเท็จจริงในคดีนี้ ทนายจำเลยที่ 2ที่ 3 ซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ในการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 60, 61 ได้มาศาลในวันสืบพยานโจทก์แล้ว ไม่ได้ขาดนัดพิจารณาตามมาตรา 197 วรรค 2และศาลชั้นต้นก็มิได้มีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา แต่ทนายจำเลยที่ 2 ที่ 3 ตัวจำเลยที่ 2 ที่ 3 รวมทั้งพยานไม่ได้มาศาลในวันที่27 กันยายน 2531 อันเป็นวันนัดสืบพยานจำเลย แม้จะฟังว่าทนายจำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งทราบวันนัดสืบพยานมิได้แจ้งวันนัดให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ทราบดังที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 อ้างในฎีกาก็ตามตามกฎหมายก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ทราบวันนัด และไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานฝ่ายตน ซึ่งศาลชั้นต้นก็ได้มีคำสั่งว่าคดีเสร็จสำนวนโดยถือว่าจำเลยไม่มีพยานมาสืบจำเลยจึงไม่อาจนำบทบัญญัติเรื่องขาดนัดพิจารณามาใช้เพื่อขอให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีใหม่ได้
พิพากษายืน.

Share