คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2719-2720/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายโดยเป็นเสมียนตรวจปล่อยสินค้าประจำโรงพักสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทยเป็นผู้ตรวจสอบสินค้าในรถยนต์บรรทุกและเขียนใบกำกับสินค้าตามที่เจ้าหน้าที่ศุลกากรสั่งปล่อย ย่อมเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จ่ายทรัพย์หรือสินค้าตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 153

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกันกับคดีอีก 2 สำนวนซึ่งถึงที่สุดโดยคู่ความมิได้ฎีกา โดยศาลชั้นต้นเรียกนายอดุลย์ เวชรักษ์ เป็นจำเลยที่ 1นายดลใจ เกิดอยู่ เป็นจำเลยที่ 2 และนายวัชรินทร์ อารีย์กุล เป็นจำเลยที่ 5

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นพนักงานของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย โดยจำเลยที่ 1 มีตำแหน่งเป็นพนักงานธุรการชั้น 1 แผนกโรงพักสินค้าที่ 12 จำเลยที่ 2 มีตำแหน่งเป็นเสมียน แผนกโรงพักสินค้าที่ 12 จำเลยทั้งสองกับพวกมีอำนาจและหน้าที่ร่วมกันรักษาทรัพย์ จ่ายทรัพย์จัดการตรวจปล่อยสินค้าที่มีผู้นำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งเก็บรักษาอยู่ในโรงพักสินค้าที่ 12 ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย เมื่อนำเข้าหรือตัวแทนของผู้นำเข้าได้เสียภาษีสำหรับสินค้านั้นโดยถูกต้องตามกฎหมายและผ่านการตรวจของพนักงานศุลกากรแล้วมาขอนำสินค้าดังกล่าวออกไปจากโรงพักสินค้า โดยในการจ่ายสินค้าและตรวจปล่อยสินค้า จำเลยทั้งสองต้องใช้อำนาจและหน้าที่ให้เป็นไปตามวิธีการ ระเบียบ แบบแผน คำสั่งและกฎหมายของการท่าเรือแห่งประเทศไทย จำเลยที่ 5 มีอาชีพรับจ้างออกสินค้าให้แก่ผู้นำเข้าและส่งออกสินค้า (ชิปปิ้ง) จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ร่วมกันกระทำผิดกฎหมายกล่าวคือจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับพวกได้ร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตได้ร่วมกันตรวจปล่อยและจ่ายสินค้าประเภทส่วนประกอบเครื่องรับโทรทัศน์ที่ยังไม่ได้เสียภาษีอากรและค่าเช่า และยังไม่ได้ผ่านการตรวจของพนักงานศุลกากร ซึ่งเก็บรักษาอยู่ในโรงพักสินค้าที่ 12 ของการท่าเรือแห่งประเทศไทยให้แก่จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้นำสินค้าเข้าเกินกว่าที่ควรจ่ายจำนวน 1,863 หีบ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สำหรับตนเองและผู้อื่นโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐและเป็นการปฏิบัติหน้าที่และละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต โดยจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นราษฎรได้สนับสนุนช่วยเหลือและให้ความสะดวกในการที่จำเลยอื่น ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายกระทำความผิดดังกล่าว โดยจำเลยที่ 5 ได้จัดทำเอกสาร ดำเนินการให้มีการตรวจปล่อยและจ่ายสินค้าเกินกว่าที่ควรจ่าย และนำรถยนต์มาขนสินค้าที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 กับพวก ตรวจปล่อยและจ่ายสินค้าเกินกว่าที่ควรจ่ายไป 1,863 หีบโดยทุจริต จำเลยที่ 5 ได้ทำปลอมขึ้นแต่บางส่วนซึ่งใบสั่งปล่อยสินค้าของกรมศุลกากรจำนวน 6 ฉบับ ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการของกรมศุลกากร โดยจำเลยที่ 5 ได้ปลอมลายมือชื่อนายสุรพล เทพสุบรรณ หรือเทศสุบรรณสารวัตรศุลกากร 5 และนางสาววัฒนา อาชาประดิษฐ์กุล นายตรวจศุลกากร 3ลงในใบสั่งปล่อยสินค้าของกรมศุลกากร ฉบับดังกล่าวในช่องลงชื่อเจ้าพนักงานทั้งนี้เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง และโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นายสุรพลและนางสาววัฒนา กรมศุลกากร การท่าเรือแห่งประเทศไทยและผู้อื่นหรือประชาชน ต่อมาจำเลยที่ 5 ได้ใช้เอกสารที่จำเลยได้ปลอมขึ้นทั้งหกฉบับอ้างแสดงต่อนายฉลวย โตสวัสดิ์ พนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ช่วยหัวหน้าแผนกโรงพักสินค้าที่ 12 และนายจำลอง ยุทธวงษ์ เจ้าพนักงานศุลกากรทั้งนี้โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นายสุรพล นางสาววัฒนา การท่าเรือแห่งประเทศไทย กรมศุลกากร และผู้อื่น หรือประชาชน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 153, 157, 264, 265, 266, 268, 83, 86พระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มาตรา 16 และให้ริบของกลาง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 153 ลงโทษจำคุกคนละ 3 ปี จำเลยที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 153 ประกอบด้วยมาตรา 86 จำคุก 2 ปี ริบของกลาง คำขออื่นให้ยก จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ฎีกาโดยพิพากษาซึ่งนั่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังยุติได้ตามที่โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5นำสืบรับกันว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นเสมียนตรวจปล่อยสินค้าประจำโรงพักสินค้าที่ 12ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย จำเลยที่ 5 มีอาชีพรับจ้างออกสินค้าจากกรมศุลกากรซึ่งเก็บรักษาไว้ที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2524 จำเลยที่ 5รับจ้างบริษัท ซี.เค.อิมปอร์ต จำกัด และบริษัท ดี.ยู.อีเล็คโทรนิคส์ จำกัด นำสินค้าออกจากโรงพักสินค้า 12 ตามใบสั่งปล่อยสินค้าเอกสารหมาย จ.13 ถึง จ.20โดยมีจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นเสมียนตรวจปล่อยสินค้า ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการโดยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จ่ายทรัพย์ จ่ายทรัพย์เกินกว่าที่ควรจ่ายเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นและจำเลยที่ 5 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำดังกล่าวหรือไม่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในวันที่ 30 ธันวาคม 2524 จำเลยที่ 5 ได้ขนสินค้าออกจากโรงพักสินค้าที่ 12 มากกว่าที่ระบุไว้ในใบสั่งปล่อยสินค้าจำนวน 1,863 หีบและในคูหาที่ 8 โรงพักสินค้าที่ 12 จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ตรวจสอบจำนวนสินค้าเขียนใบกำกับสินค้าและปล่อยสินค้า ซึ่งหากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตแล้วจำนวนสินค้าตามใบกำกับสินค้าจะต้องมีจำนวนตรงกับใบรับสินค้าและใบสั่งปล่อยสินค้า เมื่อจำนวนสินค้าในใบกำกับสินค้ามีมากกว่าจำนวนในใบรับสินค้าและใบสั่งปล่อยสินค้า จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จ่ายทรัพย์ จ่ายทรัพย์นั้นเกินกว่าที่ควรจ่ายเพื่อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 153 สำหรับจำเลยที่ 5 เป็นราษฎรผู้มีอาชีพรับจ้างออกสินค้าให้บริษัท ซี.เค.อิมปอร์ต จำกัดและบริษัท ดี.ยู.อีเล็คโทรนิคส์ จำกัด เป็นผู้ทำใบขนสินค้า เสียภาษีศุลกากรและค่าธรรมเนียมให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย แต่ปรากฏว่า มีสินค้าจำนวนหนึ่งหลีกเลี่ยงไม่ต้องเสียภาษีศุลกากรและค่าธรรมเนียมการท่าเรือ จำเลยที่ 5ผู้นำสินค้าออกเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรและค่าธรรมเนียมดังกล่าวตามพฤติการณ์เชื่อว่า จำเลยที่ 5 ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ด้วยดังจะเห็นได้จากที่จำเลยที่ 5 ได้ชำระค่าธรรมเนียมจำนวน 40,476.05 บาท ตามเอกสารหมาย จ.23 ให้แก่การท่าเรือแห่งประเทศไทย หลังจากมีการร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแล้ว แสดงว่าจำเลยที่ 5 ได้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จริงแต่จำเลยที่ 5 เป็นราษฎรมิใช่เจ้าพนักงานเช่นจำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้กระทำผิดเท่านั้น ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จ่ายทรัพย์ตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 153 ทั้งนี้เพราะผู้มีหน้าที่จ่ายทรัพย์ คือเจ้าหน้าที่ศุลกากรประจำโรงพักสินค้าที่ 12 นั้น เห็นว่า การปล่อยสินค้าออกจากโรงพักสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทยมีหลายขั้นตอน นอกจากเจ้าหน้าที่สั่งปล่อยสินค้าแล้ว พนักงานการท่าเรือผู้ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เช่น พนักงานผู้จัดเรียงสินค้า พนักงานผู้เขียนใบรับสินค้าและเมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นผู้ตรวจสอบสินค้าในรถยนต์บรรทุกและเขียนใบกำกับสินค้าย่อมเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จ่ายทรัพย์ หรือสินค้าด้วย”

พิพากษายืน

Share