คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2719/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลล่างให้โจทก์โอนที่ดินเนื้อที่ 4 ไร่กว้าง 20 วา ยาว 20 วา ให้แก่จำเลยตาม ฟ้องแย้งตามสัญญาจะซื้อขายที่พิพาทได้ความชัดว่าจำเลยซื้อที่พิพาทจำนวนเนื้อที่ 4 ไร่ กว้าง 20 วายาว80 วา ซึ่งคิดเนื้อที่ได้ 4 ไร่พอดี คำขอตามฟ้องแย้ง ที่ให้โจทก์แบ่งแยกที่ดินโดยวัดความกว้าง 20 วา ความยาว60 วาก็ดี คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้โจทก์แบ่งแยกที่ดินโดยวัดความกว้าง 20 วา ความยาว20 วาก็ดี เห็น ได้ชัดว่าด้านยาวพิมพ์ตัวเลขผิดไป แม้จะมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ในชั้นบังคับคดีศาลย่อมมีอำนาจบังคับคดีไป ตามที่ถูกต้องตามสัญญาจะซื้อขายซึ่งเป็นหลักฐานแห่งฟ้องแย้งนั้นได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลล่างทั้งสองที่พิพากษา ให้โจทก์โอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๕๙๓ เนื้อที่ ๔ ไร่ กว้าง ๒๐ วา ยาว ๒๐ วา ให้แก่จำเลย ศาลชั้นต้นออกคำบังคับให้โจทก์ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ทราบคำบังคับแล้วเพิกเฉย
ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของจำเลยและได้รับอนุญาตให้เข้าดำเนินการบังคับคดีแทนยื่นคำร้องขอให้เรียกโจทก์มาสอบถาม และให้โจทก์ส่งมอบโฉนดที่ดินรายนี้แก่ผู้ร้องหรือสำนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรีเพื่อดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยต่อไป
โจทก์แถลงต่อศาลชั้นต้นว่า โจทก์ได้ไปขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินให้แก่จำเลยแล้ว โดยวัดที่ดินตามความกว้าง ๒๐ วา ความยาว ๒๐ วา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้โจทก์ไปจัดสรรรังวัดแบ่งแยกโอนที่ดินเต็มตามฟ้องแย้งคือเนื้อที่ ๔ ไร่ ตามความกว้าง ๒๐ วา ความยาว ๘๐ วา ให้แก่ผู้ร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฟ้องแย้งของจำเลยให้บังคับโจทก์โอนที่ดินในโฉนดเนื้อที่ ๔ ไร่ โดยวัดความกว้าง ๒๐ วา และความยาว ๖๐ วา (ที่ถูกน่าจะมีความยาว๘๐ วา) ตามสัญญาจะซื้อขายเอกสารท้ายคำให้การ คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาวินิจฉัยต้องกันกับศาลล่างสองศาลให้จำเลยชนะตามฟ้องแย้ง ซึ่งตามสัญญาจะซื้อขายที่พิพาทได้ความชัดว่า จำเลยที่พิพาทจากโจทก์จำนวนเนื้อที่๔ ไร่ กว้าง ๒๐ วา ยาว ๘๐ วา เมื่อคิดเนื้อที่จากด้านกว้างและด้านยาวดังกล่าวก็จะได้เนื้อที่ ๔ ไร่พอดี คำขอตามฟ้องแย้งก็ดี คำพิพากษาของศาลชั้นต้นก็ดีเห็นได้ว่าด้านยาวพิมพ์ตัวเลขผิดไป ที่ถูกเป็น ๘๐ วา ดังนั้นแม้คดีนี้จะมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว แต่ในชั้นบังคับคดี คำพิพากษาดังกล่าวมีข้อความขัดกันเอง มีเหตุอันควรสงสัย เมื่อจำเลยขอให้บังคับตามฟ้องแย้งโดยอ้างสัญญาจะซื้อขายเป็นหลักฐาน ศาลย่อมมีอำนาจที่จะตัดสินชี้ขาดบังคับคดีไปตามที่ถูกต้องได้
พิพากษายืน

Share