คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6294/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดต่อศาล และการลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลย่อมเป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิจารณาแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานเท่าที่ไต่สวนมายังไม่อาจรับฟังได้อย่างสนิทใจ เห็นควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้เป็นคุณแก่ผู้ถูกกล่าวหาและพิพากษากลับว่าให้ยกข้อกล่าวหา ดังนี้ ผู้กล่าวหาซึ่งเป็นผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลจังหวัดสมุทรสาคร และมีหน้าที่รายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาต่อศาลเพื่อไต่สวนว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลหรือไม่ จึงไม่มีสิทธิฎีกาคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ดังกล่าวได้ ทั้งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่ให้อำนาจผู้อำนวยการประจำศาล ฎีกาในกรณีเช่นนี้ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลจังหวัดสมุทรสาคร ผู้กล่าวหา รายงานต่อศาลชั้นต้นว่า ผู้ถูกกล่าวหาไปรับตัวนางสาวณัฐฐา จำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 9215/2555 ของศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นบุตรของนางชมัยพร มาจากบ้าน เพื่อเจรจาตกลงเรื่องคดีความกันที่ศาลชั้นต้น จากนั้นผู้ถูกกล่าวหาได้แสดงหมายจับของศาลซึ่งเป็นหมายจับปลอม ให้นางสาวณัฐฐาดู แล้วโทรศัพท์ไปข่มขู่นางชมัยพรว่า เจ้าพนักงานตำรวจจะจับตัวนางสาวณัฐฐาหากไม่นำเงินมาให้ นางชมัยพรกลัวจึงยอมมอบพระพุทธรูปบูชา 50 องค์ และเงินสดอีก 260,000 บาท ให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล
ผู้ถูกกล่าวหาให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ถูกกล่าวหามีความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1) จำคุก 6 เดือน ให้นับโทษจำคุกคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3407/2556 ของศาลชั้นต้น
ผู้ถูกกล่าวหาอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้ยกข้อกล่าวหา
ผู้กล่าวหาฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดต่อศาล และการลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลย่อมเป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิจารณาแล้ว เห็นว่า พยานหลักฐานเท่าที่ไต่สวนมายังไม่อาจรับฟังได้อย่างสนิทใจ เห็นควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้เป็นคุณแก่ผู้ถูกกล่าวหาและพิพากษากลับว่าให้ยกข้อกล่าวหา ดังนี้ ผู้กล่าวหาซึ่งเป็นผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลจังหวัดสมุทรสาคร และมีหน้าที่รายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาต่อศาลเพื่อไต่สวนว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลหรือไม่ จึงไม่มีสิทธิฎีกาคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ดังกล่าวได้ ทั้งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่ให้อำนาจผู้อำนวยการประจำศาล ฎีกาในกรณีเช่นนี้ได้ ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของผู้กล่าวหามาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายกฎีกาของผู้กล่าวหา

Share