คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1895/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 ที่ 2 มิได้ฎีกา ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 6) พ.ศ.2526 มาตรา 4 แก้ไขมาตรา 91 แห่งประมวลกฎหมายอาญาในเรื่องรวมโทษทุกกระทง ซึ่งตามมาตรา 91(3) ที่แก้ไขใหม่ได้บัญญัติไว้ว่า สำหรับความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 10 ปี ขึ้นไป เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วโทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกิน 50 ปี และโดยที่ความผิดกระทงที่หนักที่สุดของจำเลยที่ 1 ที่ 2 คือความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 ซึ่งมีอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ประหารชีวิต กรณีจึงต้องด้วยมาตรา91(3) เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วจะลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1ที่ 2 ได้ไม่เกิน 50 ปี ดังนั้น จึงต้องใช้กฎหมายใหม่ดังกล่าวซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 แม้จำเลยที่ 1 ที่ 2 จะมิได้ฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาถึงจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำผิดหลายกรรมต่างกันคือจำเลยที่ 3 จ้างวานจำเลยที่ 1 ที่ 2 ฆ่านายศรี อินต๊ะเปา ผู้ตาย เนื่อจากผลประโยชน์ขัดกันในการค้าและโกรธแค้นที่ผู้ตายเคยจ้างมือปืนให้ฆ่าจำเลยที่ 3 มาก่อน จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย 1 นัดโดยเจตนาฆ่าและโดยไตร่ตรองไว้ก่อน กระสุนปืนถูกผู้ตายจนถึงแก่ความตาย และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันมีอาวุธปืนลูกซองสั้นหมายเลขทะเบียน ชร.12/2467 และ ชร.2/7798ของผู้มีชื่อ กับมีกระสุนลูกซองเบอร์ 12 จำนวน 3 นัดไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และนำอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปในสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและไม่ได้รับอนุญาต ทั้งไม้เป็นกรณีมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ เหตุเกิดที่ตำบลเวีง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 289, 371, 84, 83, 91 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 2พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2522 มาตรา 5, 7 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน (ฉบับที่ 44) ลงวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2519ข้อ 3, 6, 7 ริบของกลาง

จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2522 มาตรา 5, 7 คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน (ฉบับที่ 44) ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 6, 7ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 289, 371, 83 การกระทำของจำเลยที่ 1ที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามมาตรา 91ความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ2 ปี ฐานพกพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90จำคุกคนละ 1 ปี รวมจำคุกคนละ 3 ปี ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 2 ปี ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน วางประโทษประหารชีวิต ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78, 52(1) ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ข้อ 1 จำคุกตลอดชีวิตและเปลี่ยนเป็นโทษจำคุก 50 ปี รวมโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 คนละ 52 ปีจำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4), 84 วางโทษประหารชีวิต ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78, 51(1) ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 1 คงจำคุกตลอดชีวิต ริบอาวุธปืนกระสุนปืนและปลอกกระสุนปืนของกลาง ส่วนรถจักรยานยนต์ไม่ใช้ทรัพย์ที่ใช้กระทำผิดโดยตรง จึงไม่ริบ

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (โดยไม่ปรับบทมาตรา 288) ให้ยกฟ้องคดีเฉพาะตัวจำเลยที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกาให้ลงโทษจำเลยที่ 3

จำเลยที่ 1 ที่ 2 มิได้ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 3 ได้ กระทำผิดดังฟ้องส่วนคดีของจำเลยที่ 1 ที่ 2 นั้นปรากฏว่าระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526มาตรา 4 แก้ไขมาตรา 91 แห่งประมวลกฎหมายอาญาในเรื่องรวมโทษทุกกระทงซึ่งตามมาตรา 91(3) ที่แก้ไขใหม่ได้บัญญัติไว้ว่า สำหรับความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 10 ปี ขึ้นไป เมื่อรวมทุกกระทงแล้วโทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกิน 50 ปี และโดยที่ความผิดกระทงที่หนักที่สุดของจำเลยที่ 1 ที่ 2คือความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 ซึ่งมีอัตราโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ประหารชีวิต กรณีจึงต้องด้วยมาตรา 91(3) เมื่อรวมโทษกระทงแล้วจะลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ไม่เกิน 50 ปี ดังนั้น จึงต้องใช้กฎหมายใหม่ดังกล่าวซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 3 แม้จำเลยที่ 1 ที่ 2 จะมิได้ฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาได้

พิพากษาแก้เป็นว่า เมื่อรวมโทษของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ทุกกระทงแล้วให้จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไว้มีกำหนดคนละ 50 ปี ส่วนจำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4) ประกอบด้วยมาตรา 84 ให้วางโทษประหารชีวิต คำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 3 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสามตามรปะมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78ประกอบด้วยมาตรา 52(1) คงจำคุกตลอดชีวิต นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share