แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในคดีนี้เป็นคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแห่งวาเรน – แฟร์ไอน์ แดร์ ฮามบัวร์เกอร์ เบอร์เซ อี.วี. ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี จึงเป็นคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ซึ่งตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 ถึงมาตรา 44 เห็นได้แจ้งชัดว่า คู่พิพาทอาจร้องขอต่อศาลประเทศไทยที่มีเขตอำนาจให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการซึ่งกระทำขึ้นในต่างประเทศได้ และศาลที่มีเขตอำนาจจะมีคำพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดนั้นให้ต่อเมื่อเป็นคำชี้ขาดที่อยู่ในบังคับแห่งสนธิสัญญา อนุสัญญา หรือความตกลงระหว่างประเทศซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่ประเทศไทยยอมตนเข้าผูกพันเท่านั้น ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 41 หรือคู่พิพาทซึ่งจะถูกบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการซึ่งได้กระทำขึ้นในต่างประเทศอาจขอให้ศาลประเทศไทยที่มีเขตอำนาจมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวหากสามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 43 (1) ถึง (6) บัญญัติได้เท่านั้น แต่ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจศาลไทยที่มีเขตอำนาจมีคำสั่งให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการซึ่งกระทำขึ้นในต่างประเทศ การร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจึงต้องร้องขอต่อศาลในประเทศที่คำชี้ขาดคณะอนุญาโตตุลาการได้กระทำขึ้นเท่านั้น สอดคล้องกับบทบัญญัติมาตรา 5 (1) (อี) ในอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการบังคับตามชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี และกฎหมายแม่แบบว่าด้วยอนุญาโตตุลาการทางพาณิชย์ของคณะกรรมาธิการว่าด้วยกฎหมายการค้าระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติหรือ “UNCITRAL Model Laws” ที่กำหนดไว้ใน Ariticle 34 และ 36 การเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 นั้น เฉพาะศาลที่มีการดำเนินกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการอยู่ในเขตศาลเท่านั้นที่อาจพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ดังนั้น ผู้คัดค้านจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอแย้งให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวซึ่งเป็นคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการซึ่งกระทำขึ้นในต่างประเทศได้
ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้ผู้คัดค้านชำระเงินสกุลต่างประเทศโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยในวันที่ถึงกำหนดชำระเงินตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการนั้น ยังไม่ถูกต้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 196 ที่บัญญัติให้ลูกหนี้ใช้เป็นเงินไทยได้โดยให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน จึงเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้บังคับให้ผู้คัดค้านชำระเงินตามคำชี้ขาดและคำสั่งของศาลสูงมลรัฐแห่งนครรัฐฮันซีติก ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยให้ผู้คัดค้านชำระเงินจำนวน 1,206,765 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทย ณ อัตราแลกเปลี่ยนวันที่ 31 มีนาคม 2551 ในอัตรา 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 31.6229 บาท รวมเป็นเงิน 38,161,408.92 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2551 และขอให้ผู้คัดค้านชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมอนุญาโตตุลาการคืนให้แก่ผู้ร้องจำนวน 28,853.75 ยูโร (ที่ถูก 28,853.74 ยูโร) หรือคิดเป็นเงินไทย ณ อัตราแลกเปลี่ยนวันที่ 31 มีนาคม 2551 ในอัตรา 1 ยูโร เท่ากับ 50.0139 บาท เป็นเงินจำนวน 1,443,088.57 บาท รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 39,604,497.49 บาท
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน แก้ไขคำคัดค้าน และคำร้องขอแย้ง ขอให้ศาลมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ มีคำสั่งให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ และขอให้ผู้ร้องชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแก่ผู้คัดค้าน
ผู้ร้องให้การแก้คำร้องขอแย้ง ขอให้ยกคำร้องขอแย้งของผู้คัดค้าน
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแห่งวาเรน – แฟร์ไอน์ แดร์ ฮามบัวร์เกอร์ เบอร์เซ อี.วี. โดยให้ผู้คัดค้านชำระเงินให้แก่ผู้ร้องดังนี้ (1) ค่าเสียหายจำนวน 1,206,765 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2551 โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2551 (2) ค่าฤชาธรรมเนียมอนุญาโตตุลาการจำนวน 28,853.75 ยูโร โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2551 ให้ผู้คัดค้านใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้อง โดยกำหนดค่าทนายความ 800,000 บาท ยกคำร้องขอแย้ง ให้ค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับคำร้องขอแย้งเป็นพับ
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ส่วนที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ขอให้บังคับตามคำร้องขอแย้งของผู้คัดค้านโดยให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้น เห็นว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเป็นคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแห่งวาเรน – แฟร์ไอน์ แดร์ ฮามบัวร์เกอร์ เบอร์เซ อี.วี. ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าว จึงเป็นคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ซึ่งตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 ถึงมาตรา 44 บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องการร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการและการร้องขอให้บังคับตามหรือปฏิเสธไม่บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ จากบทบัญญัติมาตรา 40 ถึงมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ดังกล่าวเห็นได้แจ้งชัดว่า คู่พิพาทอาจร้องขอต่อศาลประเทศไทยที่มีเขตอำนาจให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการซึ่งกระทำขึ้นในต่างประเทศได้และศาลที่มีเขตอำนาจจะมีคำพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดนั้นให้ต่อเมื่อเป็นคำชี้ขาดที่อยู่ในบังคับแห่งสนธิสัญญา อนุสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่ประเทศไทยยอมตนเข้าผูกพันเท่านั้น สนธิสัญญาหรืออนุสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี คืออนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ (Convention on the Recognition and Enforcement of Foreign Arbitral Award) หรืออนุสัญญากรุงนิวยอร์ก (New York Convention) ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 41 หรือคู่พิพาทผู้ซึ่งจะถูกบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการซึ่งได้กระทำขึ้นในต่างประเทศอาจขอให้ศาลประเทศไทยที่มีเขตอำนาจมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการซึ่งได้กระทำในต่างประเทศหากสามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่มาตรา 43 (1) (2) (3) (4) (5) หรือ (6) แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 บัญญัติได้เท่านั้น แต่พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ไม่มีบทบัญญัติมาตราใดที่ให้อำนาจศาลไทยที่มีเขตอำนาจมีคำสั่งให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการซึ่งกระทำขึ้นในต่างประเทศ คงบัญญัติให้อำนาจศาลไทยที่มีเขตอำนาจที่มีคำพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการซึ่งกระทำขึ้นในต่างประเทศหรือมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการซึ่งกระทำขึ้นในต่างประเทศได้ดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 41 และมาตรา 43 ตามลำดับ เท่านั้น การร้องขอให้ศาลไทยที่มีเขตอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 ดังกล่าวมิได้บัญญัติให้คู่พิพาทร้องขอให้ศาลไทยที่มีเขตอำนาจมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการซึ่งกระทำขึ้นในต่างประเทศได้เช่นเดียวกับการร้องขอให้ศาลไทยที่มีเขตอำนาจมีคำพิพากษาบังคับตามหรือมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการซึ่งกระทำขึ้นในต่างประเทศดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 41 และมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ดังนั้น การร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจึงต้องร้องขอต่อศาลในประเทศที่คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้กระทำขึ้นเท่านั้นซึ่งหลักการนี้สอดคล้องกับบทบัญญัติมาตรา 5 (1) (อี) ในอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการบังคับตามชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย มาตรา 5 (1) (อี) ดังกล่าว บัญญัติว่า “อาจมีการปฏิเสธไม่ยอมรับและบังคับให้ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ หากคู่พิพาทฝ่ายที่จะถูกบังคับตามคำชี้ขาดพิสูจน์ได้ว่า คำชี้ขาดนั้นได้ถูกเพิกถอนแล้วโดยเจ้าหน้าที่หรือองค์กรผู้มีอำนาจของประเทศที่มีการทำคำชี้ขาดหรือของประเทศที่คำชี้ขาดได้ทำขึ้นภายใต้กฎหมายของประเทศนั้น” (Article V 1. Recognition and enforcement of the award may be refused, at the request of the party against whom it is invoked, only if that party furnishes to the competent authority where the recognition and enforcement is sought, proof that:
(e) The award has not yet become binding on the parties, or has been set aside or suspended by a competent authority of the country in which, or under the law of which, that award was made.) ซึ่งมีความหมายชัดเจนว่าการเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจโดยเฉพาะของเจ้าหน้าที่หรือองค์กรที่มีอำนาจในประเทศที่มีการทำคำชี้ขาดซึ่งโดยปกติก็คือศาล นอกจากนี้ยังปรากฏตามหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ว่า “เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระงับข้อพิพาททางการพาณิชย์ระหว่างประเทศ แต่เนื่องจากพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว บทบัญญัติของพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายอนุญาโตตุลาการของประเทศอื่นด้วยสมควรปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวเสียใหม่ โดยนำกฎหมายแม่แบบว่าด้วยอนุญาโตตุลาการทางพาณิชย์ระหว่างประเทศของคณะกรรมาธิการว่าด้วยกฎหมายการค้าระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเป็นที่ยอมรับและรู้จักกันอย่างกว้างขวางมาเป็นหลักเพื่อการพัฒนาระบบอนุญาโตตุลาการในประเทศไทยให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศ และส่งเสริมให้มีการใช้กระบวนการทางอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาททางแพ่งและพาณิชย์ระหว่างประเทศให้แพร่หลายยิ่งขึ้น อันจะเป็นการลดปริมาณคดีที่จะขึ้นสู่ศาลอีกทางหนึ่งจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้” ซึ่งในกฎหมายแม่แบบว่าด้วยอนุญาโตตุลาการทางพาณิชย์ของคณะกรรมาธิการว่าด้วยกฎหมายการค้าระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ หรือ “UNCITRAL Model Laws” มีบทบัญญัติเรื่องการคัดค้านคำชี้ขาดโดยการยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการโดยตรงโดยบัญญัติอยู่ใน “Article 34” ซึ่งได้กำหนดเหตุต่างๆ ที่ศาลอาจเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไว้บทบัญญัติในมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มีที่มาจากการแปล “Article 34” ของกฎหมายแม่แบบของ “UNCITRAL” ดังกล่าว และใน “Article 36 (1) (v)” ของกฎหมายแม่แบบดังกล่าวได้บัญญัติถึงเหตุที่ศาลอาจปฏิเสธไม่รับบังคับให้ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในกรณีที่คำชี้ขาดนั้นได้ถูกเพิกถอนแล้ว ในประเทศที่ได้ทำคำชี้ขาดหรือในประเทศที่คำชี้ขาดได้ทำขึ้นภายใต้กฎหมายของประเทศนั้นซึ่งสำนักงานเลขาธิการ “UNCITRAL” ได้ทำคำอธิบายกฎหมายแม่แบบของ “UNCITRAL” ในเรื่องนี้ไว้ว่า “แม้เหตุแห่งการเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตาม “Article 34 (2)” กับเหตุแห่งการปฏิเสธไม่ยอมรับและบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตาม “Article 36 (1)” จะเหมือนกันเกือบทั้งหมด แต่ก็มีข้อแตกต่างในทางปฏิบัติ กล่าวคือ การร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดตาม “Article 34 (2)” อาจยื่นได้เฉพาะต่อศาลในประเทศที่ทำคำชี้ขาดเท่านั้น ในขณะที่การร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการอาจยื่นต่อศาลในประเทศใดก็ได้ (Although the grounds for setting aside as set out in article 34 (2) are almost identical to those for refusing recognition or enforcement as set out in article 36 (1), a practical difference should be noted. An application for setting aside under article 34 (2) may only be made to a court in the State where the award was rendered whereas an application for enforcement might be made in a court in any State. (United Nations, “UNCITRAL Model Law on International Commercial Arbitration with amendments as adopted in 2006 and Explanatory Note by the UNCITRAL Secretariat” United Nations Publication, Austria, 2008 Page 36)) จากบทบัญญัติแห่งกฎหมายแม่แบบของ “UNCITRAL” “Article 34” ซึ่งเป็นที่มาของบทบัญญัติมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 และ “Article 36” แห่งกฎหมายแม่แบบของ “UNCITRAL” พร้อมคำอธิบายกฎหมายแม่แบบของ “UNCITRAL” ซึ่งจัดทำขึ้นโดยสำนักงานเลขาธิการ “UNCITRAL” ดังกล่าวกับบทบัญญัติใน “Article V (1) (e)” แห่งอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย แสดงให้เห็นชัดแจ้งว่าการเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 นั้น เฉพาะศาลที่มีการดำเนินกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการอยู่ในเขตศาลเท่านั้นที่อาจพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ดังนั้น ผู้คัดค้านจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอแย้งให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแห่งวาเรน – แฟร์ไอน์ แดร์ ฮามบัวร์เกอร์ เบอร์เซ อี.วี. ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งเป็นคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการซึ่งกระทำขึ้นในต่างประเทศตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 ได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้ยกคำร้องขอแย้งของผู้คัดค้านนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของผู้คัดค้านในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้ผู้คัดค้านชำระเงินสกุลต่างประเทศโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2551 อันเป็นวันที่ถึงกำหนดชำระเงินดังกล่าวตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้น ยังไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 196 ที่บัญญัติให้ลูกหนี้ใช้เป็นเงินไทยได้โดยให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน จึงเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแห่ง วาเรน – แฟร์ไอน์ แดร์ ฮามบัวร์เกอร์ เบอร์เซ อี.วี. โดยให้ผู้คัดค้านชำระเงิน (1) ค่าเสียหายจำนวน 1,206,765 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2551 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง และ (2) ค่าฤชาธรรมเนียมอนุญาโตตุลาการจำนวน 28,853.74 ยูโร หากผู้คัดค้านจะชำระเป็นเงินบาทให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ที่ขายให้แก่ลูกค้าในวันที่ใช้เงินจริง ถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ใช้เงินจริง ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราเช่นว่านั้นก่อนวันดังกล่าว ในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งให้ทราบถึงอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ (อัตราอ้างอิง) ก็ให้ถือว่าอัตราดังกล่าวเป็นเกณฑ์คำนวณ ทั้งนี้อัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวต้องไม่เกิน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 31.6229 บาท และไม่เกิน 1 ยูโร เท่ากับ 50.0139 บาท ตามที่ผู้ร้องขอ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ให้ผู้คัดค้านใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์แทนผู้ร้อง 50,000 บาท