คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2709/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่า จำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาอยู่เลขที่ 23/61 แต่โจทก์ปิดบังโดยทำให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาอยู่ที่อื่น เป็นเหตุให้ศาลหลงเชื่อว่าจำเลยที่2 ไม่มีภูมิลำเนาตามฟ้อง จนศาลอนุญาตให้ประกาศโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ให้จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การ กำหนดวันสืบพยานและประกาศให้จำเลยที่ 2 ทราบคำบังคับ โดยปิดประกาศที่หน้าศาล ดังนี้ เมื่อการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 2 เป็นไปโดยมิชอบ จึงต้องถือว่าศาลยังมิได้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 2 กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงเป็นการไม่ชอบ ชอบที่ศาลชั้นต้นจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่.

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ฐานละเมิด จำนวน 193,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2528 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับให้จำเลยทั้งสองทราบโดยการปิดประกาศที่หน้าศาลเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2530
วันที่ 9 มิถุนายน 2530 จำเลยที่ 2 ยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่อ้างว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา จำเลยที่ 2 มีพยานหลักฐานในการต่อสู้คดีและมีทางชนะคดีโจทก์ได้
โจทก์คัดค้านว่า จำเลยที่ 2 จงใจไม่ยื่นคำให้การและจงใจขาดนัดพิจารณา จึงไม่มีสิทธิขอให้พิจารณาใหม่ ขอให้ยกคำขอ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำขอของจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2จงใจขาดนัดยื่นคำให้การและจงใจขาดนัดพิจารณาหรือไม่ ข้อเท็จจริงตามสำนวนได้ความว่า โจทก์ระบุภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 ในคำฟ้องว่าอยู่เลขที่ 123 หมู่ที่ 1 ตำบลแม่สา อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่พนักงานเดินหมายไปพบนายพันธ์ ศิริราช เฝ้าบ้านดังกล่าว นายพันธ์ว่าไม่รู้จักจำเลยที่ 2 โจทก์ยืนยันว่า จำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาตามคำฟ้อง ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์นำสำเนาทะเบียนบ้านของจำเลยที่ 2 มาแสดง วันที่ 9 กันยายน 2529 โจทก์ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 2อยู่บ้านเลขที่ 152/6 ซอยเกงชวน แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวากรุงเทพมหานคร โดยไม่ได้นำสำเนาทะเบียนบ้านดังกล่าวมาแสดงโจทก์ขออนุญาตแก้ภูมิลำเนาตามคำฟ้องของจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาตปรากฏตามรายงานของพนักงานเดินหมายว่า พบแต่บ้านเลขที่ 152/6 ปิดประตูใส่กุญแจ คนข้างเคียงว่าไม่ทราบว่าจำเลยที่ 2 มีชื่ออยู่ในบ้านนั้นหรือไม่ วันที่ 21 ตุลาคม 2529 โจทก์ยื่นคำแถลงว่าจำเลยที่ 2ย้ายมาอยู่เลขที่ 149/26 ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่จังหวัดเชียงใหม่ ตามสำเนาทะเบียนบ้านที่ยื่นมาพร้อมกับคำแถลง แต่เมื่อตรวจสอบแล้วไม่พบทะเบียนบ้านเลขที่ดังกล่าว โจทก์จึงขอให้ประกาศทางหนังสือพิมพ์ศาลชั้นต้นอนุญาต ปรากฏว่าสำเนาทะเบียนบ้านที่โจทก์ยื่นพร้อมคำแถลงดังกล่าว เป็นสำเนาทะเบียนบ้านของบ้านเลขที่ 23/61 หมู่ที่ 13 แขวงคลองกุ่ม เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานครซึ่งระบุชัดว่าจำเลยที่ 2 ย้ายมาจากเลขที่ 152/6 ถนนนางลิ้นจี่แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน2522 มาอยู่ที่เลขที่ 23/61 การที่โจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่ 9กันยายน 2529 ขอแก้ภูมิลำเนาตามคำฟ้องของจำเลยที่ 2 ไปเป็นเลขที่ 152/6 ทั้งที่ปรากฏตามสำเนาทะเบียนบ้านเลขที่ 23/61ว่าจำเลยที่ 2 ย้ายมาอยู่บ้านเลขที่ดังกล่าวแล้ว และปรากฏตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1893/2529 ของศาลจังหวัดเชียงใหม่ที่ทนายโจทก์ในคดีนี้เป็นทนายโจทก์ในคดีดังกล่าว ฟ้องจำเลยที่ 2 คดีนี้เป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ด้วย ปรากฏตามสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินท้ายฟ้องดังกล่าว ระบุว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1 อยู่บ้านเลขที่ 23/61 หมู่ที่ 13 ตำบลคลองกุ่มเขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ตรงตามสำเนาทะเบียนบ้านที่โจทก์อ้างต่อศาลพร้อมคำแถลงลงวันที่ 21 ตุลาคม 2529 และตามทางไต่สวนพยานจำเลยที่ 2 ในชั้นขอให้พิจารณาใหม่ จำเลยที่ 2 ก็ยังคงอยู่ที่เลขที่ 23/61 ตามเอกสารหมาย ล.19 ตามพฤติการณ์ดังที่ได้กล่าวมานั้นเห็นได้ว่า โจทก์ปิดบังภูมิลำเนาที่แท้จริงของจำเลยที่ 2 ซึ่งโจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่าอยู่เลขที่ 23/61 เป็นให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 อยู่ที่อื่นซึ่งมิใช่ภูมิลำเนาแท้จริงของจำเลยที่ 2 ทำให้ศาลหลงเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ไม่มี ภูมิลำเนาตามคำฟ้องจนศาลอนุญาตให้ประกาศโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ให้จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การกำหนดวันสืบพยาน และประกาศให้จำเลยที่ 2 ทราบคำบังคับ โดยปิดประกาศที่หน้าศาล เมื่อการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 2 เป็นไปโดยมิชอบเพราะมิได้ส่งยังภูมิลำเนาที่แท้จริงของจำเลยที่ 2 จึงต้องถือว่าศาลยังมิได้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 2 กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นตั้งแต่การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 2 และภายหลังแต่นั้นมา จึงเป็นการไม่ชอบ และไม่มีผลตามกฎหมาย ทั้งเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม ชอบที่ศาลชั้นต้นจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ยกคำขอของจำเลยที่ 2 ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแก่จำเลยที่ 2 ให้ถูกต้องแล้วพิจารณาพิพากษาใหม่

Share