แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
สัญญาจ้างกำหนดว่าหากถนนที่ทำการก่อสร้างชำรุดเสียหายภายใน1ปีนับแต่วันส่งมอบงานและความชำรุดเสียหายนั้นเกิดจากความบกพร่องของผู้รับจ้างผู้รับจ้างต้องจัดการแก้ไขให้เรียบร้อยภายในเวลาที่ผู้ว่าจ้างกำหนดถ้าบิดพลิ้วไม่แก้ไขภายใน15วันผู้ว่าจ้างมีสิทธิจ้างผู้อื่นให้ทำการซ่อมแซมได้โดยผู้รับจ้างยอมเสียค่าจ้างและค่าใช้จ่ายให้ทั้งสิ้นข้อสัญญาเช่นนี้เพียงแต่ให้สิทธิผู้ว่าจ้างที่จะว่าจ้างให้ผู้อื่นซ่อมแซมได้เท่านั้นผู้ว่าจ้างอาจไม่ใช้สิทธินั้นก็ได้มิได้หมายความว่าจะต้องว่าจ้างผู้อื่นซ่อมแซมเสียก่อนแล้วจึงจะมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับจ้างได้ฉะนั้นแม้โจทก์ผู้ว่าจ้างจะมิได้จ้างให้ผู้อื่นทำการซ่อมแซมถนนพิพาทเสียก่อนก็ย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยผู้รับจ้างได้กรณีมิใช่เป็นเรื่องสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับกันได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาจ้างก่อสร้างถนนพิพาท ซึ่งกำหนดว่าจำเลยจะต้องรับผิด หากถนนที่จำเลยรับจ้างก่อสร้างเกิดชำรุดเสียหายภายใน 1 ปี นับแต่วันรับมอบงานโดยเกิดจากความบกพร่องของจำเลย เป็นเหตุให้ผิวถนนชำรุดหลุดล่อน หากซ่อมแซมแก้ไขจะต้องสิ้นเงินจ้างเหมา 861,178 บาท โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยแก้ไขซ่อมแซมแล้วจำเลยเพิกเฉย จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยจัดการซ่อมแซมถนนพิพาทหรือมิฉะนั้นให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 861,178 บาท
จำเลยให้การว่าถนนชำรุดเพราะความบกพร่องของโจทก์เองที่เปิดถนนให้ประชาชนให้เร็วเกินไป ทั้งไม่ควบคุมน้ำหนักรถมิได้บรรทุกเกินอัตราด้วย โจทก์มิได้เสียหายดังฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความ
าลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม คดีไม่ขาดอายุความ และจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาก่อสร้างถนนบกพร่องทำให้ถนนชำรุดเสียหายภายใน 1 ปี นับแต่วันรับมอบงาน แต่เนื่องจากโจทก์มิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญา คือมิได้ว่าจ้างคนอื่นทำงานแทนก่อนกลับมาฟ้องทันที สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายของโจทก์ยังไม่เกิดกลับมาฟ้องทันที สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายของโจทก์ยังไม่เกิดจำเลยจึงไม่ต้องรับผิด พิพากษายกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ภายในกำหนดอายุความ
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยจัดการซ่อมแซมถนนพิพาทให้อยู่ในสภาพเดิม หากไม่จัดการก็ให้ใช้ค่าเสียหาย861,178 บาท ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์ได้ว่าจ้างจำเลยให้ก่อสร้างถนนรายพิพาท จำเลยได้ทำการก่อสร้างถนนแล้วเสร็จตามสัญญาและส่งมอบงานให้โจทก์และรับเงินค่าจ้างไปเรียบร้อยแล้ว ต่อมาภายในระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ได้รับมอบงาน ปรากฏว่าผิวถนนดังกล่าวชำระหลุดล่อนเป็นบางส่วนคิดเป็นเนื้อที่ที่จะต้องทำการซ่อม 2,862 ตารางเมตร ปัญหาวินิจฉัยมีว่า การที่ถนนชำรุดเสียหายดังกล่าวนั้นจำเลยจะต้องรับผิดชอบหรือไม่ ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 6 ได้กำหนดไว้เป็นใจความสำคัญว่า หากถนนที่ทำการก่อสร้างนั้นชำรุดเสียหายภายในกำหนด 1 ปีนับแต่วันที่ส่งมอบงาน และเหตุชำรุดเสียหายนั้นเกิดจากความบกพร่องของผู้รับจ้าง (จำเลย) ผู้รับจ้างจะต้องรับผิดชอบ ปัญหาจึงมีว่าการที่ถนนดังกล่าวชำรุดเสียหายนั้นเกิดขึ้นเพราะความบกพร่องของจำเลยหรือไม่…พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักและเหตุผลรับฟังได้ว่าการที่ถนนรายพิพาทเกิดชำรุดเสียหายขึ้นนั้นเนื่องจากความบกพร่องของจำเลย โดยปล่อยให้รถเข้ามาแล่นบนถนนในขณะคอนกรีตยังบ่มไม่ได้อายุหรือยังบ่มไม่ถึงกำหนดเวลาที่จะใช้งานได้ ที่จำเลยอ้างว่าถนนเสียหายเนื่องจากความผิดของโจทก์ เพราะเมื่อรับมอบงานแล้วโจทก์เปิดให้ประชาชนใช้เร็วเกินไปนั้น ฟังไม่ขึ้น เพราะการที่จำเลยส่งมอบงานให้แก่โจทก์นั้น ย่อมหมายความว่าส่งมอบให้ในลักษณะพร้อมที่จะใช้งานได้ทันที ฎีกาจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยต่อไปก็คือจำเลยจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์เป็นจำนวนเท่าใด คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยจัดการซ่อมแซมถนนพิพาทให้มีสภาพดีเหมือนเดิม หากไม่ทำการซ่อมแซมก็ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 861,178 บาท พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์เป็นเทศบาลเมืองนครราชสีมา นับว่าเป็นหน่วยงานของรัฐ การดำเนินงานของโจทก์ต้องปฏิบัติไปตามระเบียบแบบแผนที่วางไว้ การคำนวณค่าเสียหายนี้เจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้จัดทำโดยมีแผนผังแสดงไว้ชัดแจ้งว่าจะต้องซ่อมแซมตรงไหนบ้าง และต้องซ่อมแซมโดยวิธีใด พร้อมกับมีใบประเมินราคาซ่อมแซมประกอบการพิจารณาอีกด้วย ซึ่งนางสุภาภรณ์ พัฒนจันทร์หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยก็เบิกความยอมรับว่า หากต้องซ่อมแซมตามวิธีการที่โจทก์แจ้งมานั้นจะต้องเสียค่าซ่อมแซมประมาณ 800,000บาท ซึ่งใกล้เคียงกับจำนวนค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้อง คดีไม่มีพฤติการณ์ที่จะส่อให้เห็นว่า จำนวนค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยรับผิดนั้นเป็นจำนวนที่สูงเกินกว่าความเป็นจริง หรือเป็นการค้ากำไรแต่อย่างใด ถ้าหากจำเลยเห็นว่าโจทก์เรียกค่าเสียหายสูงเกินไป จำเลยก็มีทางแก้โดยจัดการซ่อมแซมเสียเอง ซึ่งโจทก์ก็เปิดโอกาสให้จำเลยทำได้ ฉะนั้นที่โจทก์เรียกร้องค่าเสียหายมาเป็นเงิน 861,178 บาท และศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยรับผิดใช้ค่าเสียหายเต็มตามฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
ปัญหาที่จะวินิจฉัยต่อไปก็คือ การที่ถนนพิพาทเกิดชำรุดเสียหายขึ้น โจทก์จะต้องจ้างผู้อื่นให้ทำการซ่อมแซมเสียก่อนแล้วจึงจะมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเอาจากจำเลยหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ถนนพิพาทชำรุดเสียหายขึ้นเช่นนี้ ตามปกติโจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายจากจำเลยได้ทันที แต่ในกรณีระหว่างโจทก์กับจำเลยนี้ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 6 ได้กำหนดกันไว้ว่า หากมีการชำรุดเสียหายเกิดขึ้นภายใน 1 ปี นับแต่วันรับมอบแงาน และความชำรุดเสียหายนั้นเกิดจากความบกพร่องของผู้รับจ้าง (จำเลย) ผู้รับจ้างต้องจัดการแก้ไขให้เรียบร้อยภายในเวลาที่ผู้ว่าจ้างกำหนด ถ้าผู้รับจ้างบิดพลิ้วไม่แก้ไขภายใน 15 วัน ผู้ว่าจ้างมีสิทธิจ้างผู้อื่นให้ทำการซ่อมแซมได้ โดยผู้รับจ้างจ้างยอมเสียค่าจ้างและค่าใช้จ่ายให้ทั้งสิ้น ตามข้อสัญญาดังกล่าว หมายความว่า เมื่อมีการชำรุดบกพร่องเกิดขึ้นและจำเลยไม่ยอมซ่อมแซม โจทก์มีสิทธิจ้างผู้อื่นทำการซ่อมแซมได้โดยจำเลยต้องเสียค่าจ้างและค่าใช้จ่ายให้ทั้งสิ้นตามสัญญาดังกล่าวเพียงแต่เป็นสิทธิของโจทก์ที่จะว่าจ้างให้ผู้อื่นซ่อมแซมได้เท่านั้น โจทก์อาจไม่ใช้สิทธินั้นก็ได้ มิได้หมายความว่าโจทก์จะต้องว่าจ้างผู้อื่นทำการซ่อมแซมเสียก่อน แล้วจึงจะมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเอาจากจำเลยได้ ฉะนั้น ในกรณีของโจทก์นี้ถึงแม้โจทก์จะมิได้ว่าจ้างให้ผู้อื่นทำการซ่อมแซม ถนนพิพาทเสียก่อนก็ตาม ก็ย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเอาจากจำเลยได้ และการที่โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยทำการซ่อมแซมถนนพิพาท หากไม่ทำการซ่อมแซมก็ขอให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น กรณีมิใช่เป็นเรื่องสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับได้ดังที่จำเลยฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยจัดการแก้ไขซ่อมแซมถนนพิพาท หากไม่แก้ไขซ่อมแซมก็ให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 861,178 บาทนั้นชอบแล้วฎีกาจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์1,200 บาท”.