แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งตั้งผู้ร้องและ ต.เป็นกรรมการของบริษัทม.ชั่วคราวคดีถึงที่สุดแล้ว ต่อมาผู้คัดค้านยื่นคำร้องเป็นคดีนี้ แม้ในคำร้องจะขอให้ศาลอุทธรณ์ไต่สวนคำร้องและมีคำสั่งก็ตาม แต่จากข้ออ้างในคำร้องประกอบด้วยพฤติการณ์แห่งคดีเมื่อเป็นที่เข้าใจได้ว่าผู้คัดค้านประสงค์ที่จะให้ศาลมีคำสั่งถอดถอนผู้ร้องและ ต.ออกจากการเป็นกรรมการชั่วคราวของบริษัท ม. แล้วตั้งผู้คัดค้านเป็นกรรมการชั่วคราวของบริษัท ม.แทน ซึ่งผู้ร้องและ ต.คัดค้านคำร้องดังกล่าวของผู้คัดค้าน เมื่อมูลคดีเป็นเรื่องผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้แทนชั่วคราวของนิติบุคคล กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ.มาตรา 70, 73 กรณีเช่นนี้ศาลชั้นต้นชอบที่จะไต่สวนข้อเท็จจริงให้ได้ความว่ามีเหตุสมควรที่จะถอดถอนผู้ร้องและ ต.ออกจากการเป็นกรรมการชั่วคราวแล้วตั้งผู้คัดค้านเป็นกรรมการชั่วคราวของบริษัทม.แทนหรือไม่ และมีคำสั่งต่อไปตามรูปคดี การที่ศาลชั้นต้นด่วนมีคำสั่งงดการไต่สวนและส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณานั้น เป็นการไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณา
คดีจะขึ้นมาสู่การวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ได้ก็ต่อเมื่อมีการอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ทั้งนี้ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ.ลักษณะ 1 ว่าด้วยอุทธรณ์ แต่คดีนี้กลับขึ้นมาสู่ศาลอุทธรณ์โดยคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดการไต่สวนคำร้องของผู้คัดค้านและส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา และศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งยกคำร้องของผู้คัดค้านโดยไม่มีการวินิจฉัยถึงคำสั่งศาลชั้นต้น คำสั่งศาลอุทธรณ์ดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณา แม้ผู้คัดค้านจะไม่ฎีกามาก็ตาม แต่ก็เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน กรณีต้องด้วย ป.วิ.พ.มาตรา142 (5), 243, 247 ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและเห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี และให้ยกคำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกคำร้องของผู้คัดค้าน ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนคำร้องของผู้คัดค้าน แล้วมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดีต่อไป