คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1340/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้พระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวง พ.ศ. 2464มาตรา 72 จะบัญญัติว่า “เมื่อทางรถไฟผ่านข้ามถนนสำคัญเสมอระดับ ให้วางรางคู่กำกับเพื่อให้มีช่องพอครีบล้อรถผ่านไป มาได้ กับให้ทำประตูหรือขึงโซ่หรือทำราวกั้นขวางถนน หรือทางนั้น ๆ ตามสมควรแก่การ” ก็ตาม แต่ได้มีบทบัญญัติต่อไปในมาตรา 73 ว่า “เมื่อถนนที่ต้องผ่านข้ามไปนั้นไม่สู้สำคัญพอถึงกับต้องทำประตูกั้นแล้ว ให้พนักงานขับรถจักรเปิดหวีดก่อนที่รถจะผ่านข้ามถนนนั้นกับให้ทำเครื่องหมายสัญญาณอย่างถาวรปักไว้ให้แจ้งบนทางและถนนนั้นเพื่อให้พนักงานขับรถจักรและประชาชนรู้ตัวก่อนภายในเวลาอันสมควรว่าเข้ามาใกล้ทางรถไฟที่ผ่านข้ามถนน” แสดงว่ากฎหมายให้อำนาจโจทก์เป็นผู้พิจารณาว่า ทางรถไฟผ่านข้าม ถนนสายใดสำคัญหรือไม่ ถ้าเป็นทางสำคัญก็ให้ปฏิบัติตามมาตรา 72ถ้าเป็นทางไม่สู้สำคัญก็ให้ปฏิบัติตามมาตรา 73 หาได้บังคับให้โจทก์จำต้องทำประตูหรือขึงโซ่ หรือทำราวกั้นขวางถนนบรรดาที่ตัดผ่านทางรถไฟทุกแห่งไม่ ได้ความว่าถนนที่ตัดผ่านทางรถไฟที่เกิดเหตุเป็นถนนสุขาภิบาลห้วยราช อยู่ห่างจากสถานีรถไฟห้วยราชประมาณ 800 เมตร อยู่ในท้องที่กิ่งอำเภอห้วยราช จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งไม่ได้ความว่าเป็นท้องที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นหรือมีการจราจรคับคั่งเพียงใดเมื่อคำนึงถึงสภาพของท้องที่เกิดเหตุในขณะเกิดเหตุซึ่งเป็นเพียงกิ่งอำเภอในจังหวัดบุรีรัมย์แล้ว เชื่อว่าถนนที่เกิดเหตุเป็นเพียงถนนในเขตสุขาภิบาลเล็ก ๆ ซึ่งมีการจราจรไม่คับคั่งนัก ถนนที่เกิดเหตุจึงไม่ใช่ถนนสำคัญอันโจทก์มีหน้าที่จะต้องทำประตูหรือขึงโซ่ หรือทำราวกั้นขวางถนนตามที่กฎหมายบังคับไว้ ส่วนการทำเครื่องหมายสัญญาณอื่นเพื่อเตือนให้พนักงานขับรถจักรหรือประชาชนรู้ตัวก่อนภายในเวลาอันสมควรว่าเข้ามาใกล้ทางรถไฟที่ผ่านข้ามถนนซึ่งโจทก์มีหน้าที่ต้องจัดทำตามมาตรา 73 นั้น โจทก์นำสืบว่าก่อนถึงที่เกิดเหตุประมาณ 500 เมตร พนักงานขับรถไฟของโจทก์ได้เปิดหวีดเตือน พร้อมปิดคันบังคับการและลดความเร็วลงตามระเบียบแล้วและในบริเวณที่เกิดเหตุก็ได้ติดตั้งสัญญาณจราจรระวังรถไฟและสัญญาณจราจรหยุดไว้ที่ข้างถนนเพื่อให้ประชาชนรู้ตัวก่อนภายในเวลาอันสมควรว่าเข้ามาใกล้ทางรถไฟที่ผ่านข้ามถนนแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้นำพยานหลักฐานมาสืบเพื่อหักล้างพยานหลักฐานดังกล่าวของโจทก์แต่อย่างใดจึงฟังได้ว่า โจทก์ได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดในมาตรา 73 แล้ว ส่วนข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ว่าโจทก์ละเลยไม่ตัดต้นไม้และวัชพืชที่ขึ้นปกคลุมหรือปิดบังทางรถไฟและพนักงานของโจทก์ขับรถไฟด้วยความเร็วสูงนั้นโจทก์นำสืบว่าถนนบริเวณที่เกิดเหตุเป็นทางโล่งและพนักงานของ โจทก์ขับรถไฟในอัตราความเร็วประมาณ 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้นำสืบหักล้างพยานหลักฐานดังกล่าวของโจทก์แต่อย่างใดเช่นเดียวกัน พยานหลักฐานจำเลยที่ 1และที่ 2 เลื่อนลอย ขัดต่อเหตุผล ทั้งเจือสมกับพยานหลักฐานของโจทก์ จึงมีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ฟังไม่ได้ว่าเหตุรถชนกันเกิดเพราะความประมาทของโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 นำรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุไปร่วม กิจการเดินรถกับจำเลยที่ 3 ในเส้นทางที่ได้รับสัมปทานจากทาง ราชการเพื่อประโยชน์ของตน ดังนี้แม้จำเลยที่ 1 จะให้จำเลยที่ 2 เช่าซื้อไปก็เป็นเรื่องกรรมสิทธิ์ในรถเท่านั้น การที่จำเลยที่ 1 มอบรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุให้จำเลยที่ 2 นำไปวิ่งส่งผู้โดยสารในเส้นทางสัมปทานของจำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 1 ยังไม่เปลี่ยนชื่อผู้ร่วมเดินรถกับจำเลยที่ 3แล้วจำเลยที่ 2 ให้ ว. ลูกจ้างเป็นผู้ขับรถยนต์โดยสารคันดังกล่าวเมื่อเกิดเหตุชนกันจำเลยที่ 1 เป็นผู้ไปเจรจาค่าเสียหายกับผู้บาดเจ็บ ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างของ ว. ด้วย ดังนั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นนายจ้างของ ว. ซึ่งทำละเมิดต่อโจทก์ในทางการที่จ้าง ต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อโจทก์ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ลูกจ้างของจำเลยทั้งสามขับรถยนต์โดยสารประจำทางชนิดสองแถวด้วยความเร็วสูงโดยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง ไม่ลดความเร็วเมื่อรถยนต์โดยสารแล่นไปถึงป้ายสัญญาณจราจรระวังรถไฟ และไม่หยุดรถยนต์โดยสารก่อนถึงทางรถไฟห่างไม่น้อยกว่า 5 เมตร เมื่อรถยนต์โดยสารแล่นถึงป้ายสัญญาณจราจรหยุดแล้วขับรถยนต์โดยสารนั้นข้ามทางรถไฟจากด้านขวาไปด้านซ้ายขบวนรถไฟในระยะกระชั้นชิดในขณะที่รถไฟของโจทก์แล่นมาถึงจุดที่ถนนตัดผ่านทางรถไฟดังกล่าว พนักงานของโจทก์ไม่สามารถบังคับรถไฟให้หยุดได้ทันจึงเกิดชนกันขึ้น เป็นเหตุให้ขบวนรถไฟของโจทก์ตกราง 1 คัน นายวัฒน์หรือสวัสดิ์ถึงแก่ความตายผู้โดยสารในรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุตายและบาดเจ็บหลายคนรถไฟของโจทก์ได้รับความเสียหายหลายรายการ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 355,581.62 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 330,773.60 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์เป็นฝ่ายประมาทเพราะไม่จัดให้มีป้ายสัญญาณจราจร แผงกั้นทาง และพนักงานควบคุมบริเวณที่เกิดเหตุซึ่งมีการจราจรคับคั่งและมีวัชพืชกับต้นไม้ขึ้นบังข้างทางไม่สามารถมองเห็นรถไฟได้ประกอบกับพนักงานของโจทก์ขับด้วยความเร็วสูง เหตุที่รถชนกันไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความประมาทของนายวัฒน์หรือสวัสดิ์ จำเลยที่ 1และที่ 2 ไม่ต้องร่วมรับผิดด้วยความเสียหายของโจทก์ไม่เกิน80,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 เลิกกิจการขนส่งผู้โดยสารหลายปีแล้วเพียงแต่ยังไม่ได้จดทะเบียนเลิกกิจการจำเลยที่ 3 ไม่เคยยินยอมให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุมาร่วมประกอบการขนส่งด้วย ทั้งไม่เคยเรียกผลประโยชน์ตอบแทนจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 เหตุคดีนี้เกิดเพราะความประมาทของโจทก์ จำเลยที่ 3 ไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน214,065.23 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 6 มกราคม 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุดังกล่าวในฟ้องนายวัฒน์หรือสวัสดิ์ สายยศหรือสายหยด ได้ขับรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 10 – 0523 บุรีรัมย์ ชนกับรถไฟขบวนที่ 77สายนครราชสีมา – อุบลราชธานี ของโจทก์ในที่เกิดเหตุซึ่งเป็นจุดที่ถนนสุขาภิบาลห้วยราชตัดผ่านทางรถไฟ เป็นเหตุให้ขบวนรถไฟดังกล่าวตกราง 1 คัน นายวัฒน์หรือสวัสดิ์ถึงแก่ความตายในที่เกิดเหตุ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2ประการแรกว่า เหตุรถชนกันเกิดจากความผิดของโจทก์หรือไม่โจทก์มีนายสุคนธ์ ชูพลกรัง เป็นพยานเบิกความว่า พยานเป็นพนักงานขับรถไฟขบวนเกิดเหตุ ในวันเกิดเหตุเมื่อพยานขับรถไฟไปอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 500 เมตร พยานได้เปิดหวีดรถไฟปิดคันบังคับการและลดความเร็วของรถไฟลงตามระเบียบ และเมื่อรถไฟแล่นไปอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 40 เมตร มีรถจักรยานยนต์1 คัน แล่นตามถนนด้านขวามาหยุดห่างจากทางรถไฟประมาณ 10 เมตรแต่เมื่อพยานขับรถไฟไปอีกประมาณ 20 เมตร รถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุได้แล่นมาตามถนนดังกล่าวทางด้านขวาด้วยความเร็วสูงแซงขึ้นหน้ารถจักรยานยนต์ที่จอดอยู่ดังกล่าวเพื่อจะข้ามทางรถไฟโดยไม่หยุดรอให้รถไฟแล่นผ่านไปก่อน พยานเปิดหวีดอันตรายแต่รถยนต์โดยสารไม่หยุด พยานลงห้ามล้อฉุกเฉิน แต่ไม่สามารถหยุดรถไฟได้ทันเนื่องจากเป็นระยะกระชั้นชิด รถไฟจึงชนกับรถยนต์โดยสารที่บริเวณส่วนกลางของรถยนต์ และพาครูดติดไปกับด้านหน้าของขบวนรถไฟเป็นระยะทางประมาณ 150 เมตร จึงหยุดเพราะรถไฟคันแรกโบกี้พ่วงดีเซลรางที่ 21 ตกราง ถนนที่เกิดเหตุก่อนจะถึงทางรถไฟเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็กกว้าง 8 เมตร มีป้ายสัญญาณจราจรระวังรถไฟและป้ายสัญญาณจราจรหยุดติดตั้งไว้ด้านซ้ายของถนนก่อนถึงทางรถไฟ 30 เมตร และ 10 เมตร ตามลำดับตามภาพถ่ายหมาย จ.3 ถึง จ.5 และแผนผังสังเขปเอกสารหมาย จ.6 โดยมีนายชัยยุทธ วรรณโพธิ์ นายเสรี เหลืองอ่อนนายประมวล วงศาโรจน์ นายสันทัด รัตนวงษ์ นายยวน จีนประสพและนายวิพัฒน์ กระจ่างพจน์เป็นพยานเบิกความสนับสนุน ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีนายเสงี่ยม อนันรัมย์เป็นพยานเบิกความว่าพยานเคยขับรถยนต์โดยสารระหว่างบ้านตาเสา – บุรีรัมย์ตั้งแต่ปี2525 ถึง 2536 บริเวณที่เกิดเหตุถ้าขับรถยนต์จากบุรีรัมย์ไปบ้านตาเสาจะมองไม่เห็นรถไฟ เนื่องจากมีบ้านและต้นไม้บังจะมองเห็นรถไฟต่อเมื่อรถยนต์ที่ขับไปคร่อมอยู่บนทางรถไฟแล้วบริเวณที่ผ่านทางรถไฟไม่มีแผงกั้นถนนเพื่อให้รถยนต์หยุด ภายหลังเกิดเหตุมีการตัดต้นไม้ที่บังทางรถไฟออกตามภาพถ่ายหมาย ล.4ดังนี้ เห็นว่า ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดเพราะไม่ได้จัดให้มีแผง โซ่ หรือไม้กั้นถนนตรงที่เกิดเหตุซึ่งติดกับทางรถไฟนั้น แม้พระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวงพุทธศักราช 2464 มาตรา 72 จะบัญญัติว่า “เมื่อทางรถไฟผ่านข้ามถนนสำคัญเสมอระดับ ให้วางรางคู่กำกับเพื่อให้มีช่องพอครีบล้อรถผ่านไปมาได้ กับให้ทำประตูหรือขึงโซ่หรือทำราวกั้นขวางถนนหรือทางนั้น ๆ ตามสมควรแก่การ” ก็ตาม แต่ได้มีบทบัญญัติต่อไปในมาตรา 73 ว่า “เมื่อถนนที่ต้องผ่านข้ามไปนั้นไม่สู้สำคัญพอถึงกับต้องทำประตูกั้นแล้ว ให้พนักงานขับรถจักรเปิดหวีดก่อนที่รถจะผ่านข้ามถนนนั้นกับให้ทำเครื่องหมายสัญญาณอย่างถาวรปักไว้ให้แจ้งบนทางและถนนนั้น เพื่อให้พนักงานขับรถจักรและประชาชนรู้ตัวก่อนภายในเวลาอันสมควรว่าเข้ามาใกล้ทางรถไฟที่ผ่านข้ามถนน”ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวแสดงว่ากฎหมายให้อำนาจโจทก์เป็นผู้พิจารณาว่า ทางรถไฟผ่านข้ามถนนสายใดสำคัญหรือไม่ ถ้าเป็นทางสำคัญก็ให้ปฏิบัติตามมาตรา 72 ถ้าเป็นทางไม่สู้สำคัญก็ให้ปฏิบัติตามมาตรา 73 หาได้บังคับให้โจทก์จำต้องทำประตูหรือขึงโซ่หรือทำราวกั้นขวางถนนบรรดาที่ตัดผ่านทางรถไฟทุกแห่งไม่ สำหรับคดีนี้ได้ความว่า ถนนที่ตัดผ่านทางรถไฟที่เกิดเหตุเป็นถนนสุขาภิบาลห้วยราช อยู่ห่างจากสถานีรถไฟห้วยราชประมาณ 800 เมตรอยู่ในท้องที่กิ่งอำเภอห้วยราช จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งไม่ได้ความว่าเป็นท้องที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นหรือมีการจราจรคับคั่งเพียงใด ที่นายเสงี่ยมพยานจำเลยที่ 1 และที่ 2 เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า เส้นทางจากบ้านขามไปจังหวัดบุรีรัมย์มีรถยนต์ของชาวบ้านแล่นไปมาจำนวนมาก และมีอุบัติเหตุรถยนต์ชนกับรถไฟทุกปีนั้น นายเสงี่ยมเบิกความต่อไปว่า ขณะที่พยานขับรถยนต์โดยสารอยู่นั้น ไม่เคยเกิดอุบัติเหตุชนรถไฟเลย รถยนต์โดยสารของจำเลยที่ 3 ทุกคันไม่เคยเกิดอุบัติเหตุชนกับรถไฟเช่นกันซึ่งเมื่อพิจารณาคำเบิกความดังกล่าวประกอบกับคำเบิกความที่พยานตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่า พยานขับรถยนต์โดยสารในเส้นทางดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2525 ถึง 2536 อันเป็นเวลาเกือบ 10 ปีแล้วคำเบิกความดังกล่าวมีลักษณะขัดกันเอง ทั้งเป็นการเบิกความอย่างเลื่อนลอยเพราะไม่ได้ความชัดว่า มีการจราจรคับคั่งหรือไม่และมีอุบัติเหตุรถยนต์ชนกับรถไฟในปีใดจำนวนเท่าใด ไม่มีน้ำหนักในการรับฟัง แต่เมื่อคำนึงถึงสภาพของท้องที่เกิดเหตุในขณะเกิดเหตุซึ่งเป็นเพียงกิ่งอำเภอในจังหวัดบุรีรัมย์แล้ว เชื่อว่า ถนนที่เกิดเหตุเป็นเพียงถนนในเขตสุขาภิบาลเล็ก ๆ ซึ่งมีการจราจรไม่คับคั่งนัก ดังนั้น ถนนที่เกิดเหตุจึงไม่ใช่ถนนสำคัญอันโจทก์มีหน้าที่จะต้องทำประตู หรือขึงโซ่ หรือทำราวกั้นขวางถนนตามที่กฎหมายบังคับไว้ ส่วนการทำเครื่องหมายสัญญาณอื่นเพื่อเตือนให้พนักงานขับรถจักรหรือประชาชนรู้ตัวก่อนภายในเวลาอันสมควรว่าเข้ามาใกล้ทางรถไฟที่ผ่านข้ามถนน ซึ่งโจทก์มีหน้าที่ต้องจัดทำตามมาตรา 73 นั้น โจทก์ก็นำสืบว่าก่อนถึงที่เกิดเหตุประมาณ 500 เมตรพนักงานขับรถไฟของโจทก์ได้เปิดหวีดเตือน พร้อมปิดคันบังคับการและลดความเร็วลงตามระเบียบแล้ว และในบริเวณที่เกิดเหตุก็ได้ติดตั้งสัญญาณจราจรระวังรถไฟและสัญญาณจราจรหยุดไว้ที่ข้างถนนเพื่อให้ประชาชนรู้ตัวก่อนภายในเวลาอันสมควรว่าเข้ามาใกล้ทางรถไฟที่ผ่านข้ามถนนแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้นำพยานหลักฐานมาสืบเพื่อหักล้างพยานหลักฐานดังกล่าวของโจทก์แต่อย่างใดข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า โจทก์ได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดในมาตรา 73 แล้วส่วนข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ว่าโจทก์ละเลยไม่ตัดต้นไม้และวัชพืชที่ขึ้นปกคลุมหรือปิดบังทางรถไฟและพนักงานของโจทก์ขับรถไฟด้วยความเร็วสูงนั้น โจทก์นำสืบว่า ถนนบริเวณที่เกิดเหตุเป็นทางโล่ง ตามภาพถ่ายหมาย จ.3 ถึง จ.5 และพนักงานของโจทก์ขับรถไฟในอัตราความเร็วประมาณ 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมงจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้นำสืบหักล้างพยานหลักฐานดังกล่าวของโจทก์แต่อย่างใดเช่นเดียวกัน ที่นายเสงี่ยมพยานจำเลยที่ 1 และที่ 2 เบิกความว่ามีบ้านและต้นไม้บังจนมองไม่เห็นรถไฟในบริเวณที่เกิดเหตุนั้น นายเสงี่ยมก็เบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่าภาพถ่ายหมาย จ.3 ถึง จ.5 ตรงกับสภาพสถานที่เกิดเหตุในวันเกิดเหตุแล้ว อันเป็นการเจือสมกับทางนำสืบของโจทก์ พยานหลักฐานจำเลยที่ 1 และที่ 2 เลื่อนลอย ขัดต่อเหตุผล ทั้งเจือสมกับพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าเหตุรถชนกันเกิดเพราะความประมาทของโจทก์ ตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าเหตุรถชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของนายวัฒน์หรือสวัสดิ์คนขับรถยนต์โดยสารนั้นชอบแล้ว
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประการต่อไปมีว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดชอบต่อโจทก์หรือไม่ โจทก์มีนางมาย สายยศ มารดา นายวัฒน์หรือสวัสดิ์สายยศหรือสายหยด และนายจูน แก้วกล้า ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1ตำบลหนองใหญ่ เป็นพยานเบิกความฟังประกอบกันว่านายวัฒน์หรือสวัสดิ์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ขับรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุ ได้ค่าจ้างเดือนละ 700 ถึง 1,000 บาทและมีนายวิวัฒน์ กระจ่างพจน์ ซึ่งเป็นอาณาบาลเขต 2 ของโจทก์เป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า หลังเกิดเหตุพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบได้แจ้งผลคดีต่อโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ยินยอมใช้ค่าเสียหายให้แก่ญาติของผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุรถชนกันตามหนังสือแจ้งผลการดำเนินคดีและหนังสือส่งสำเนาเอกสารตกลงยินยอมชดใช้ค่าเสียหายเอกสารหมาย ป.จ. 9 และ ป.จ. 10(ศาลจังหวัดนครราชสีมา) ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า เดิมจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุ แต่ต่อมาวันที่ 20 มีนาคม 2532 ได้ให้จำเลยที่ 2เช่าซื้อไปในราคา 180,000 บาท ตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย ล.3 และจำเลยที่ 2 ได้ให้นายวัฒน์หรือสวัสดิ์เช่าซื้อไปในราคาเดียวกัน เมื่อเดือนกรกฎาคม 2533 นายวัฒน์หรือสวัสดิ์นำรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุไปประกอบการขนส่งด้วยตนเอง ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดังนี้ เห็นว่า โจทก์มีนางมายและนายจูนเบิกความตรงกันว่า นายวัฒน์หรือสวัสดิ์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 นอกจากนั้นจำเลยที่ 2 ยังได้ให้การรับต่อพนักงานสอบสวนเช่นนั้นด้วย ดังปรากฏตามบันทึกคำให้การของจำเลยที่ 2 เอกสารหมาย จ.38 ที่จำเลยที่ 2 อ้างว่า ได้ให้นายวัฒน์หรือสวัสดิ์เช่าซื้อรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุไปประกอบการขนส่งด้วยตนเองนั้นเป็นการกล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอย เพราะไม่มีหนังสือสัญญาการเช่าซื้อส่งอ้างเป็นพยานหลักฐาน ทั้งขัดกับบันทึกคำให้การดังกล่าวข้างต้นโดยไม่มีเหตุผลสนับสนุนไม่มีน้ำหนักในการรับฟัง เมื่อจำเลยที่ 1 นำรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุไปร่วมกิจการเดินรถกับจำเลยที่ 3 ในเส้นทางที่ได้รับสัมปทานจากทางราชการเพื่อประโยชน์ของตน ดังนี้ แม้จำเลยที่ 1 จะให้จำเลยที่ 2 เช่าซื้อไปก็เป็นเรื่องกรรมสิทธิ์ในรถเท่านั้น การที่จำเลยที่ 1 มอบรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุให้จำเลยที่ 2 นำไปวิ่งส่งผู้โดยสารในเส้นทางสัมปทานของจำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 1 ยังไม่เปลี่ยนชื่อผู้ร่วมเดินรถกับจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 1 ยังเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านยอมรับว่า หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นผู้ไปเจรจาค่าเสียหายกับผู้บาดเจ็บตามเอกสารหมาย จ.22 จำเลยที่ 1 จึงเป็นนายจ้างของนายวัฒน์หรือสวัสดิ์ด้วย ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 ไปเจรจาเรื่องค่าเสียหายแทนจำเลยที่ 2 นั้นจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้นำสืบเช่นนั้น จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นนายจ้างของนายวัฒน์หรือสวัสดิ์ซึ่งทำละเมิดต่อโจทก์ในทางการที่จ้างต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ด้วยนั้นชอบแล้ว
ส่วนปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประการสุดท้ายที่ว่า ความเสียหายของโจทก์มีเพียงใดนั้น โจทก์มีนายเสรี เหลืองอ่อน นายทวี ทองแย้ม นายประมวล วงศาโรจน์และนายสายัณห์ โรหิตรัตนะเป็นพยานเบิกความประกอบบันทึกค่าใช้จ่ายในการจัดเดินรถขบวนพิเศษช่วยอันตราย ค่าใช้จ่ายในการยกรถค่าใช้จ่ายในการซ่อมรถ ค่าเสียหายฝ่ายการช่างโยธา และบันทึกข้อความเรื่องค่าเสียหายด้านโดยสาร กรณีขบวนรถช้าเอกสารหมาย จ.8 ถึง จ.10, จ.12 และ ป.จ. 1 (ศาลแพ่ง) ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายต่าง ๆ ดังกล่าวรวมทั้งสิ้นเป็นเงิน330,773.60 บาท ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้นำสืบโต้แย้งเป็นอย่างอื่นดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 214,065.23 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดจึงเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้วที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1และที่ 2 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share