แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า คนขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยชื่อนาย สมศักดิ์ไม่ทราบนามสกุล ตามที่จำเลยให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวน จึงเป็นการบรรยายฟ้องถึงตัวบุคคลตามที่จำเลยให้การถึง ซึ่งการที่บุคคลนั้นจะเป็นนายสมศักดิ์หรือนายคำรณและชื่อดังกล่าวจะเป็นชื่อจริงหรือไม่ก็คงหมายถึงบุคคลคนเดียวกันที่เป็นลูกจ้างขับรถให้จำเลยในทางการที่จ้างนั่นเอง ที่จำเลยอ้างว่าคนขับรถยนต์บรรทุกชื่อนายคำรณมิใช่นายสมศักดิ์ตามที่โจทก์บรรยายฟ้อง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชอบนั้นฟังไม่ขึ้น โจทก์เช่ารถยนต์โดยสารที่ถูกรถยนต์บรรทุกของจำเลยชนจากบริษัทธ. โจทก์ได้ทำการซ่อมแซมรถยนต์โดยสารตามสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับบริษัท ธ. เจ้าของรถยนต์โดยสารแล้ว โจทก์จึงเสียหายและฟ้องเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้กับค่าขาดรายได้ในระหว่างซ่อมแซมได้ แม้โจทก์จะไม่ใช่เจ้าของรถยนต์โดยสารก็ตาม ส่วนค่าเช่ารถยนต์โดยสารที่โจทก์ต้องจ่ายแก่บริษัท ธ. นั้นเป็นเงินลงทุนของโจทก์ที่จะทำให้เกิดรายได้ขึ้นซึ่งไม่ว่าจะมีเหตุละเมิดเกิดขึ้นหรือไม่ โจทก์ก็ต้องจ่ายอยู่แล้ว ค่าเช่ารถยนต์โดยสารจึงไม่ใช่ความเสียหายที่เกิดจากการกระทำละเมิดของลูกจ้างจำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยชดใช้ค่าเช่ารถยนต์โดยสารในระหว่างการซ่อมแซมแก่โจทก์.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองรถยนต์โดยสาร โดยเช่ามาจากบริษัทธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุก จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว นายมนัส พ่วงพลับ ลูกจ้างของโจทก์ได้ขับรถยนต์โดยสารของโจทก์ดังกล่าวจากจังหวัดน่านมุ่งหน้าสู่กรุงเทพมหานครถึงที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นทางโค้งด้วยความระมัดระวังอย่างดี นายสมศักดิ์(ไม่ทราบนามสกุล) ลูกจ้างขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1 คันดังกล่าวในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ส่วนทางมาด้วยความประมาทเฉี่ยวชนบริเวณกลางตัวรถด้านขวาของรถยนต์โดยสารของโจทก์ ทำให้รถยนต์ทั้งสองคันเสียหายมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย โจทก์ได้จ่ายค่าซ่อมแซมรถยนต์โดยสารของโจทก์เป็นเงิน 80,950 บาท เสียค่าเช่าและขาดรายได้ในระหว่างซ่อมรถ 15 วัน ค่าเช่าวันละ 830 บาท เป็นเงิน 12,450 บาทรายได้สุทธิขาดไปวันละไม่น้อยกว่า 1,000 บาท โจทก์ขอคิดเพียง15,000 บาท ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน108,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันละเมิดจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 8,000 บาท และนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยที่ 1 มิใช่เจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุ นายสมศักดิ์มิได้เป็นลูกจ้างและมิได้ขับรถในทางการที่จำเลยที่ 1 จ้าง เหตุเกิดมิใช่เพราะความประมาทของนายสมศักดิ์ แต่เป็นความประมาทของผู้ขับรถยนต์โดยสารของโจทก์ โจทก์เรียกค่าเสียหายสูงเกินความจริงขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ทิ้งฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นค่าซ่อมแซมรถยนต์โดยสารจำนวน 70,000 บาทค่าขาดประโยชน์และค่าเช่ารถยนต์โดยสารในระหว่างซ่อมแซมรถยนต์โดยสาร15 วัน เป็นค่าขาดประโยชน์วันละ 1,000 บาท ค่าเช่ารถยนต์โดยสารวันละ 820 บาท พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 97,300 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 6พฤศจิกายน 2525 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า คนขับรถยนต์บรรทุกชนรถยนต์โดยสารของโจทก์โดยประมาทเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และกระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าคนขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1 ชื่อนายสมศักดิ์ไม่ทราบนามสกุลตามที่จำเลยที่ 1 ให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวน จึงเป็นการบรรยายฟ้องถึงตัวบุคคลตามที่จำเลยที่ 1 ให้การถึง ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่า บุคคลนั้นจะเป็นนายสมศักดิ์หรือนายคำรณและชื่อดังกล่าวจะเป็นชื่อจริงหรือไม่ ก็คงหมายถึงบุคคลคนเดียวกันที่เป็นลูกจ้างขับรถให้จำเลยที่ 1 ในทางการที่จ้างนั่นเอง ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าคนขับรถยนต์บรรทุกชื่อนายคำรณมิใช่นายสมศักดิ์ตามที่โจทก์บรรยายฟ้อง จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดชอบนั้นฟังไม่ขึ้น สำหรับค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้ให้โจทก์นั้นต้องเป็นค่าเสียหายสำหรับความเสียหายที่โจทก์ได้รับจากการกระทำละเมิดของลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ค่าซ่อมแซมรถยนต์โดยสารที่ถูกรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1ชนเสียหาย และโจทก์ได้ทำการซ่อมแซมตามสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับบริษัทธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด เจ้าของรถยนต์โดยสารแล้วโจทก์จึงเสียหายและฟ้องเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้ได้ แม้โจทก์จะไม่ใช่เจ้าของรถยนต์โดยสารก็ตาม กับค่าขาดรายได้ของรถยนต์โดยสารในระหว่างซ่อมแซมเท่านั้น ส่วนค่าเช่ารถยนต์โดยสารที่โจทก์ต้องจ่ายให้แก่บริษัทธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัดนั้น เป็นเงินลงทุนของโจทก์ที่จะทำให้เกิดรายได้ขึ้นซึ่งไม่ว่าจะมีเหตุละเมิดเกิดขึ้นหรือไม่โจทก์ก็ต้องจ่ายอยู่แล้ว ค่าเช่ารถยนต์โดยสารจึงไม่ใช่ความเสียหายที่เกิดจากการกระทำละเมิดของลูกจ้างจำเลยที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเช่ารถยนต์โดยสารในระหว่างซ่อมแซมแก่โจทก์ศาลฎีกาไม่เห็นฟ้องด้วย จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายคือค่าซ่อมแซมรถยนต์โดยสารจำนวน 70,000 บาท และค่าขาดประโยชน์ในระหว่างซ่อมแซมวันละ 1,000 บาท 15 วัน เป็นเงิน 15,000 บาทรวมเป็นเงิน 85,000 บาท แก่โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน85,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2525 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.