คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2681-2683/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

มติคณะรัฐมนตรีที่ยกเว้นให้จำเลยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการในเรื่องเงินเดือน สวัสดิการและผลประโยชน์ค่าตอบแทนของพนักงานโดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และหรือเงื่อนไขในการจ้างเดิมของจำเลย มีผลทำให้สภาพการจ้างเดิมในเรื่องดังกล่าวยังคงใช้บังคับกันต่อไปได้เท่านั้น มิได้ห้ามไม่ให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง จำเลยจึงสามารถดำเนินการให้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเดิมเกี่ยวกับการจ่ายเงินโบนัสพนักงานได้ ไม่ขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี
ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเรื่องการจ่ายเงินโบนัสมิได้เกิดจากข้อเรียกร้องจึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518นายจ้างและลูกจ้างย่อมมีสิทธิทำข้อตกลงเปลี่ยนแปลงให้มีผลบังคับแตกต่างไปจากข้อตกลงเดิมได้เท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและเงินโบนัสเป็นเงินที่นายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้างนอกเหนือไปจากที่นายจ้างจะต้องจ่ายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มิได้มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจึงสามารถออกประกาศเพื่อนำไปสู่ข้อตกลงเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเกี่ยวกับการจ่ายเงินโบนัสกับโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างได้ไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อมาตรา 13
โจทก์ยินยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างโดยระงับการจ่ายเงินโบนัสประจำปี 2542 แต่ให้จ่ายเป็นค่าครองชีพจำนวน 0.5 เท่าของเงินเดือน ตามประกาศของจำเลยแทน จึงเป็นกรณีที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างและโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างทำข้อตกลงเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างให้มีผลแตกต่างไปจากข้อตกลงเดิมโดยระงับการจ่ายเงินโบนัสประจำปี 2541 และปี 2542 ซึ่งสามารถกระทำได้และขณะนั้นจำเลยยังมิได้จ่ายเงินโบนัสประจำปีดังกล่าวให้แก่พนักงานจึงมีผลใช้บังคับ ไม่เป็นการย้อนหลังจำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินโบนัสประจำปี 2541 และปี 2542 ให้โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์ที่ 1 เข้าทำงานเป็นลูกจ้างเมื่อวันที่1 กุมภาพันธ์ 2531 ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 15,870 บาท และค่าครองชีพเดือนละ1,100 บาท จ้างโจทก์ที่ 2 เข้าทำงานเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2532 ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 17,160 บาท ค่าครองชีพเดือนละ 1,100 บาท จ้างโจทก์ที่ 3 เข้าทำงานเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2521 ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 21,130 บาท ค่าครองชีพเดือนละ 1,100 บาท โดยมีสัญญาจ้าง ระเบียบข้อบังคับการทำงานและข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างว่าจะจ่ายเงินโบนัสให้โจทก์ทั้งสามปีละ 4.5 เท่าของเงินเดือนกรณีที่โจทก์ทั้งสามทำงานครบ 1 ปี โดยแบ่งจ่ายเป็น 2 งวด งวดละ 2.25เท่าของเงินเดือน งวดแรกจ่ายในเดือนมิถุนายน งวด หลังเดือนธันวาคม พนักงานที่มีสิทธิได้รับเงินโบนัสงวดแรกต้องทำงานถึงวันที่ 30 มิถุนายน งวดหลังต้องทำงานถึงวันที่ 31 ธันวาคม การจ่ายเงินโบนัสงวดแรกจำเลยจะทดรองจ่ายให้ก่อนในเดือนเมษายน หากพนักงานคนใดทำงานไม่ถึงวันที่ 30 มิถุนายน จะต้องคืนเงิน โบนัสนั้นให้แก่จำเลย จำเลยจ่ายเงินโบนัสให้โจทก์ทั้งสามตลอดมา จนถึงปี 2540 จากนั้นในเดือนเมษายน 2541 จำเลยจ่ายเงินโบนัสให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 เพียงคนละ 1 เดือนและไม่จ่ายเงินโบนัสให้โจทก์ที่ 3 โดยจำเลยมิได้แจ้งขอแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเรื่องการจ่ายเงินโบนัสให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 โจทก์ทั้งสามทำงานกับจำเลยจนถึงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2543 จำเลยจึงค้างจ่ายเงินโบนัสให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 8 เท่าของเงินเดือน คิดเป็นเงิน 126,960บาท ค้างจ่ายเงินโบนัสให้โจทก์ที่ 2 จำนวน 8 เท่าของเงินเดือน คิดเป็นเงิน 137,280บาท ค้างจ่ายเงินโบนัสให้โจทก์ที่ 3 จำนวน 9 เท่าของเงินเดือน คิดเป็นเงิน 190,170บาท และในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2543 จำเลยบังคับข่มขู่ให้โจทก์ทั้งสามลงนามในหนังสือลาออกและให้พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของจำเลยทั้ง ๆ ที่โจทก์ทั้งสามไม่มีเจตนาลาออก จึงขอถือคำฟ้องนี้เป็นการบอกล้างการลงนามในหนังสือลาออกดังกล่าว จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามเพราะปรับโครงสร้างองค์กรใหม่โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า และหลังจากเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามแล้วจำเลยยังได้รับสมัครพนักงานใหม่ การเลิกจ้างของจำเลยจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมทำให้โจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินโบนัส 145,283.35 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 126,960 บาท ค่าชดเชยพิเศษ81,306.58 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 79,350 บาทค่าเสียหายในการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 1,309,275 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ที่ 1 ชำระเงินโบนัส157,656.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 137,280 บาทค่าชดเชยพิเศษ 70,586.36 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน68,640 บาท ค่าเสียหายในการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 1,415,700 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ที่ 2 และชำระเงินโบนัส 221,079.12 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงิน 190,170 บาทค่าชดเชยพิเศษ 217,291.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน211,300 บาท ค่าเสียหายในการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 1,743,225 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ที่ 3

จำเลยทั้งสามสำนวนให้การว่า โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างของจำเลยตั้งแต่วันที่1 กุมภาพันธ์ 2531 วันที่ 18 กันยายน 2532 วันที่ 24 กรกฎาคม 2521 จนถึงวันที่22 กุมภาพันธ์ 2543 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 16,970 บาท 18,260 บาทและ 22,230 บาท ตามลำดับ และมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเรื่องระเบียบข้อบังคับ สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามเอกสารที่โจทก์ทั้งสองอ้างจริงแต่ยังมีข้อตกลงเรื่องเงินโบนัสโดยจำเลยได้ประกาศให้โจทก์และพนักงานของจำเลยทุกคนทราบว่าการจ่ายเงินโบนัสของแต่ละปีขึ้นอยู่กับผลประกอบการของปีนั้นและการพิจารณาตัดสินใจอันเป็นนโยบายด้านบริหารของจำเลย ในรอบปี 2541 จำเลยขาดทุน จึงพิจารณาจ่ายเงินโบนัส 1 เดือน เฉพาะพนักงานที่มีฐานเงินเดือนไม่เกิน20,000 บาท โจทก์ที่ 1 ที่ 2 จึงได้รับเงินโบนัสคนละ 1 เดือน ในเดือนเมษายน 2541อันเป็นเงินทดรองจ่ายเงินโบนัสงวดเดือนมิถุนายน และต่อมาจำเลยเห็นสมควรประกาศระงับการจ่ายเงินโบนัส แต่จ่ายเงินช่วยเหลือพิเศษจำนวน 0.5 เท่าของเงินเดือนแทนซึ่งโจทก์ทั้งสามได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไปแล้ว จำเลยจึงไม่มีหนี้ค้างจ่ายเงินโบนัสตามฟ้อง เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2543 โจทก์ทั้งสามได้ยื่นใบลาออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยโดยสมัครใจ พร้อมกับรับเงินช่วยเหลือทดแทนการลาออกซึ่งรวมทั้งค่าชดเชยตามกฎหมาย จำนวน 413,312.67 บาท 235,554 บาท และ 286,026บาท ตามลำดับ ซึ่งเท่ากับ 24 เท่า 13 เท่าและ 13 เท่าของเงินเดือนที่โจทก์แต่ละคนได้รับ โจทก์ทั้งสามอายุ 36 ปี 35 ปี และ 46 ปี มีการศึกษาระดับปริญญาตรี สุขภาพอนามัยแข็งแรง ภาวะแห่งจิตปกติ หากไม่สมัครใจลาออกจำเลยไม่มีทางบังคับข่มขู่ให้ลงนามในหนังสือลาออกได้ โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีมูลเหตุที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ก่อนโจทก์ทั้งสามลาออก จำเลยประสบปัญหาวิกฤตด้านเศรษฐกิจและขาดทุนสะสมมาหลายปีติดต่อกัน จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรปรับกระบวนการทำงาน และวัฒนธรรมการทำงานเป็นเหตุให้ต้องปรับกำลังคนทั้งปริมาณและคุณภาพให้เหมาะสมเพื่อความอยู่รอดขององค์กรของจำเลยและพนักงานส่วนใหญ่ มิใช่จำเลยปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ อันเนื่องจากการนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรือเทคโนโลยี อย่างไรก็ตามเมื่อโจทก์ทั้งสามสมัครใจลาออกจำเลย จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษตามฟ้องขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างจำเลยเดิมจำเลยจ่ายเงินโบนัสให้พนักงานปีละ 4.5 เท่าของเงินเดือนตามเอกสารหมาย จ.1 เรื่อยมาจนกระทั่งปี 2541 จำเลยออกประกาศ ที่ 41/0113 ระงับการจ่ายเงินโบนัสประจำปี 2541 ตามเอกสารหมาย จ.2 โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ได้ลงชื่อรับทราบประกาศดังกล่าวไว้ในเอกสารหมาย ล.5 ส่วนโจทก์ที่ 1 ให้ผู้อื่นลงชื่อรับทราบแทนตามเอกสารหมาย จ.6ต่อมาปี 2542 จำเลยออกประกาศที่ ส.บค. 1.0188/2542 ระงับการจ่ายเงินโบนัสประจำปี 2542 แต่ให้จ่ายเงินค่าครองชีพจำนวน 0.5 เท่าของเงินเดือนแทนตามเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งเป็นเอกสารเดียวกับเอกสารหมาย ล.6, ล.7 และ ล.8 โจทก์ทั้งสามได้ลงชื่อรับทราบและยินยอมปฏิบัติตามไว้ท้ายเอกสารหมาย ล.7 และ ล.6และ ล.8 ตามลำดับและโจทก์ทั้งสามได้ลงชื่อในหนังสือลาออกเอกสารท้ายคำให้การในแต่ละสำนวนแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสามลงชื่อในหนังสือลาออกจากธนาคารจำเลยด้วยความสมัครใจ มิได้ถูกจำเลยเลิกจ้าง จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษและกรณีไม่เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม จำเลยจ่ายเงินโบนัสให้พนักงานปีละ4.5 เท่าของเงินเดือนตามเอกสารหมาย จ.1 เรื่อยมาตั้งแต่ปี 2535 จนถึงปี 2540ถือเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่มีผลผูกพันจำเลยแต่ไม่ได้เกิดจากข้อเรียกร้องจำเลยออกประกาศที่ 41/0113 เอกสารหมาย จ.2 มีข้อความระบุว่าจำเลยพิจารณาเห็นสมควรระงับการจ่ายเงินโบนัสแก่พนักงานประจำปี 2541 หากปีต่อ ๆ ไปจำเลยมีผลการดำเนินการดีขึ้นเป็นลำดับจะพิจารณาจ่ายเงินโบนัสประจำปีให้แก่พนักงานตามความเหมาะสมในโอกาสต่อไป โจทก์ทั้งสามลงชื่อรับทราบในเอกสารหมาย ล.5และ จ.6 ซึ่งมีข้อความว่าได้รับทราบประกาศดังกล่าวโดยตลอดรวมทั้งเงื่อนไขต่าง ๆและยินดีให้ความร่วมมือปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวทุกกรณี ถือได้ว่าโจทก์ทั้งสามตกลงยอมรับการระงับการจ่ายเงินโบนัสประจำปี 2541 ส่วนปี 2542 เมื่อจำเลยออกประกาศที่ ส.บค.1.0188/2542 ระงับการจ่ายเงินโบนัสประจำปี 2542 แต่ให้จำเลยเป็นค่าครองชีพจำนวน 0.5 เท่า ของเงินเดือนแทน ตามเอกสารหมาย จ.4หรือ ล.6, ล.7, ล.8 โจทก์ทั้งสามก็ลงชื่อรับทราบและยินยอมปฏิบัติตาม ทั้งได้รับค่าครองชีพ 0.5 เท่าของเงินเดือนไปแล้ว ถือได้ว่าโจทก์ทั้งสามยอมรับการระงับการจ่ายเงินโบนัสประจำปี 2542 และรับเงินค่าครองชีพแทน จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินโบนัสตามฟ้องให้โจทก์ทั้งสาม พิพากษายกฟ้อง

โจทก์ทั้งสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามประการแรกว่า การที่จำเลยดำเนินการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเกี่ยวกับการจ่ายเงินโบนัสตามเอกสารหมาย จ.1 โดยออกประกาศที่ 41/0113 ระงับการจ่ายเงินโบนัสพนักงานประจำปี 2541 ตามเอกสารหมาย จ.2 ในขณะที่จำเลยมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากถูกกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินเข้าแทรกแซงถือหุ้นเกินกว่าร้อยละห้าสิบนั้น ขัดต่อมติคณะรัฐมนตรีตามเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งยกเว้นให้จำเลยไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการในเรื่องเงินเดือนสวัสดิการและผลประโยชน์ค่าตอบแทนของพนักงาน โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และหรือเงื่อนไขในการจ้างเดิมของจำเลยหรือไม่ เห็นว่ามติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเพียงแต่ยกเว้นให้จำเลยไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการในเรื่องเงินเดือน สวัสดิการและผลประโยชน์ค่าตอบแทนของพนักงานโดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และหรือเงื่อนไขในการจ้างเดิมของจำเลย อันมีผลทำให้สภาพการจ้างเดิมในเรื่องดังกล่าวยังคงใช้บังคับกันต่อไปได้เท่านั้น มิได้ห้ามไม่ให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง จำเลยจึงสามารถดำเนินการให้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเดิมเกี่ยวกับการจ่ายเงินโบนัสพนักงานได้ ไม่ขัดต่อมติคณะรัฐมนตรีตามเอกสารหมาย จ.3 อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามประการที่สองมีว่า การที่จำเลยดำเนินการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเกี่ยวกับการจ่ายเงินโบนัสตามเอกสารหมาย จ.1 โดยออกประกาศที่ ส.บค.1.0188/2542 ระงับการจ่ายเงินโบนัสพนักงานประจำปี 2542ตามเอกสารหมาย จ.4 ในขณะที่จำเลยกลับมีฐานะเป็นธนาคารเอกชนเป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 13 หรือไม่เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเรื่องการจ่ายเงินโบนัสตามเอกสารหมาย จ.1 มิได้เกิดจากข้อเรียกร้องของนายจ้างหรือลูกจ้างจึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518นายจ้างและลูกจ้างย่อมมีสิทธิทำข้อตกลงเปลี่ยนแปลงให้มีผลบังคับแตกต่างไปจากข้อตกลงเดิมได้เท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและเงินโบนัสเป็นเงินที่นายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้างนอกเหนือไปจากที่นายจ้างจะต้องจ่ายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มิได้มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจึงสามารถออกประกาศตามเอกสารหมาย จ.4 เพื่อนำไปสู่ข้อตกลงเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเกี่ยวกับการจ่ายเงินโบนัสกับโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นลูกจ้างได้ไม่ฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 13 อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามประการสุดท้ายมีว่าการลงชื่อในเอกสารหมาย ล.5, จ.6 และเอกสารหมาย ล.7, ล.6, ล.8 ของโจทก์ทั้งสามเป็นการยินยอมให้เปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างโดยระงับการจ่ายเงินโบนัสประจำปี 2541 และปี 2542 ตามประกาศของจำเลยที่ 41/0113 เอกสารหมาย จ.2 และประกาศที่ ส.บค.1.0188/2542 เอกสารหมาย จ.4 หรือไม่ เห็นว่าเอกสารหมาย ล.5 และล.6 ที่โจทก์ทั้งสามลงชื่อมีข้อความว่า “ข้าพเจ้าตามลายมือชื่อข้างล่างนี้ได้รับทราบประกาศของธนาคารประกาศที่ 41/0113 เรื่อง การพิจารณาโบนัสประจำปี 2541โดยอ่านแล้วเข้าใจตลอด รวมทั้งรับทราบเงื่อนไขทุกกรณีและยินดีให้ความร่วมมือปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวทุกกรณี” และประกาศของธนาคารจำเลยที่ 41/0113เอกสารหมาย จ.2 มีข้อความระบุว่าจำเลยพิจารณาเห็นสมควรระงับการจ่ายโบนัสพนักงานประจำปี 2541 ดังนี้ ถือได้ว่าโจทก์ทั้งสามยินยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างโดยระงับการจ่ายเงินโบนัสประจำปี 2541 ตามประกาศของจำเลยที่ 41/0113 เอกสารหมาย จ.2 แล้ว และเอกสารหมาย ล.7, ล.6, ล.8 ที่โจทก์ทั้งสามลงชื่อก็คือประกาศที่ ส.บค.1.0188/2542 ของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.4ที่ให้ระงับการจ่ายเงินโบนัสประจำปี 2542 แต่ให้จ่ายเป็นค่าครองชีพจำนวน 0.5เท่า ของเงินเดือนแทนโดยในตอนท้ายของเอกสารดังกล่าวซึ่งเป็นส่วนที่โจทก์ทั้งสามลงชื่อมีข้อความว่า “รับทราบและยินยอมปฏิบัติตาม” ทั้งข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ทั้งสามได้รับเงินค่าครองชีพจำนวน 0.5 เท่าของเงินเดือนตามประกาศดังกล่าวไปแล้ว ย่อมถือได้ว่าโจทก์ทั้งสามยินยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างโดยระงับการจ่ายเงินโบนัสประจำปี 2542 แต่ให้จ่ายเป็นค่าครองชีพจำนวน 0.5 เท่าของเงินเดือน ตามประกาศของจำเลยที่ ส.บค.1.0188/2542 เอกสารหมาย จ.4 แทน จึงเป็นกรณีที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างและโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นลูกจ้างทำข้อตกลงเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างให้มีผลแตกต่างไปจากข้อตกลงเดิมโดยระงับการจ่ายเงินโบนัสประจำปี 2541 และปี 2542 ซึ่งสามารถกระทำได้และขณะนั้นจำเลยยังมิได้จ่ายเงินโบนัสประจำปีดังกล่าวให้แก่พนักงาน จึงมีผลใช้บังคับไม่เป็นการย้อนหลังจำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินโบนัสประจำปี 2541 และปี 2542 ตามฟ้องให้โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน”

พิพากษายืน

Share