คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7136/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในการขอแก้ไขคำฟ้องนั้น พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มิได้บัญญัติเอาไว้ จึงต้องนำบทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย โดยได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอม หลังจากมีการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองแล้ว โจทก์สืบหาทรัพย์สินของจำเลย แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องทำนองว่าโจทก์ได้สืบหาทรัพย์สินของจำเลยแล้วพบว่าจำเลยมีที่ดิน 4 แปลง ติดจำนองสถาบันการเงินอยู่ หากมีการยึดทรัพย์ออกขายทอดตลาดก็ยังไม่สามารถใช้หนี้ให้แก่โจทก์โดยสิ้นเชิง โดยยังมีหนี้ค้างชำระเกินกว่า 1,000,000 บาท เมื่อคำฟ้องเดิมของโจทก์ครบเงื่อนไขในการฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายแล้ว การที่โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องเฉพาะเพียงส่วนที่เกี่ยวกับข้อสันนิษฐานที่ว่าจำเลยไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้นั้น เป็นเพียงการขอแก้ไขรายละเอียดอันเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตจึงเป็นการชอบแล้ว
ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 13 บัญญัติว่า “เมื่อศาลสั่งรับฟ้องคดีล้มละลายไว้แล้วให้กำหนดวันนั่งพิจารณาเป็นการด่วน และให้ออกหมายเรียกและส่งสำเนาคำฟ้องไปยังลูกหนี้ให้ทราบก่อนวันนั่งพิจารณาไม่น้อยกว่า 7 วัน” การที่กฎหมายได้บัญญัติเหตุดังกล่าวไว้ก็เพื่อเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการพิจารณาคดีล้มละลายที่จะให้กระบวนพิจารณาเป็นไปโดยรวดเร็วกว่าคดีแพ่งสามัญ จึงกำหนดให้ศาลนั่งพิจารณาเป็นการด่วนโดยไม่ได้กำหนดวันยื่นคำให้การเหมือนอย่างคดีแพ่งสามัญ ฉะนั้นจำเลยจะยื่นคำให้การหรือไม่ก็ได้ หากจำเลยประสงค์จะยื่นคำให้การ จำเลยก็มีโอกาสยื่นได้ก่อนวันนั่งพิจารณา การที่จำเลยยื่นคำให้การภายหลังที่มีการเสร็จการพิจารณาแล้ว จึงเป็นการมิชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยยื่นคำให้การลงวันที่ 14 กันยายน 2552 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งว่า คดีนี้มีการนัดพิจารณาและสืบพยานเสร็จตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2551 มีการเลื่อนการนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งเนื่องจากจำเลยขอระยะเวลาในการประนอมหนี้เรื่อยมา การที่จำเลยยื่นคำให้การในคดีนี้เป็นการประวิงคดี จึงไม่อนุญาต
ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้วมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลย เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ในมูลหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมของศาลจังหวัดทุ่งสง คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1433/2540 ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2540 ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 2,017,708.08 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,600,103.10 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยจำเลยจะชำระหนี้จำนวน 450,000 บาท ภายในเดือนมิถุนายน 2541 และส่วนที่เหลือจำเลยตกลงผ่อนชำระหนี้แก่โจทก์ภายในวันที่ 5 ของทุกเดือน เดือนละไม่ต่ำกว่า 25,000 บาท เริ่มผ่อนชำระตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ทั้งนี้จำเลยจะชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมิถุนายน 2542 และจำเลยตกลงชำระค่าฤชาธรรมเนียมส่วนที่ศาลไม่สั่งคืนและค่าทนายความจำนวน 1,000 บาท ภายในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2541 หากจำเลยไม่ชำระหนี้หรือผิดนัดข้อใดข้อหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด ยอมให้โจทก์บังคับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 10457 ตำบลชะมาย อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาด รวมทั้งบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยไปชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วนตามคำพิพากษาตามยอมและสัญญาประนีประนอมยอมความ หลังจากศาลมีคำพิพากษาแล้วจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดได้เงินชำระหนี้บางส่วนตามบัญชีแสดงรายการรับจ่ายเงินครั้งที่ 1 หลังจากนั้นจำเลยไม่ได้ชำระหนี้แก่โจทก์อีก คำนวณถึงวันฟ้องจำเลยคงค้างชำระหนี้โจทก์เป็นเงิน 3,797,110.03 บาท มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า โจทก์มีสิทธินำมูลหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวมาฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลายหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์จะต้องดำเนินการบังคับคดีภายในวันที่ 29 ธันวาคม 2550 ดังนั้นนับแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2550 โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิบังคับคดีแก่จำเลยอีกต่อไป ทั้งการนำมูลหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมมาฟ้องเป็นคดีล้มละลายนั้นมีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ไม่เกี่ยวกับระยะเวลาในการบังคับคดี ซึ่งโจทก์ต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายให้ครบถ้วนภายใน 10 ปี แต่อย่างใด เห็นว่า คดีนี้ศาลได้มีคำพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2540 โดยกำหนดให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนที่ศาลไม่สั่งคืนและค่าทนายความภายในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2541 และในสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 3 กำหนดว่าหากจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามข้อ 1 และข้อ 2 ให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด เช่นนี้ เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ตามข้อ 2 ย่อมถือได้ว่าจำเลยผิดนัดชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมทั้งหมด ซึ่งการนับระยะเวลาในการบังคับคดีจึงต้องเริ่มนับแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2541 การที่โจทก์ได้นำมูลหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวมาฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลายเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2550 จึงเป็นการฟ้องภายในกำหนดระยะเวลาที่โจทก์ยังมีสิทธิบังคับคดีอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 แม้ว่าการฟ้องคดีล้มละลายดังกล่าวจะมิได้ทำให้ระยะเวลาในการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 เปลี่ยนแปลงไป แต่การพิจารณาเรื่องระยะเวลาบังคับคดีนั้นเป็นเรื่องที่จะพิจารณาว่าในคดีแพ่งที่ศาลพิพากษาตามยอมนั้นโจทก์มีสิทธิบังคับคดีต่อไปอีกหรือไม่ ส่วนในคดีนี้เมื่อโจทก์ได้นำมูลหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมมาฟ้องจำเลยภายในกำหนดระยะเวลาที่โจทก์มีสิทธิบังคับคดีได้แล้ว แม้ว่าในการพิจารณาคดีล้มละลายของศาลจะเกินกำหนดระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจใช้สิทธิบังคับคดีแพ่ง โจทก์ก็ย่อมมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาตามที่พระราชบัญญัติล้มละลายบัญญัติไว้ต่อไปได้ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาประการที่สองมีว่า การขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ชอบหรือไม่ เห็นว่า ในการขอแก้ไขคำฟ้องนั้น พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มิได้บัญญัติเอาไว้ จึงต้องนำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 มาใช้บังคับโดยอนุโลมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 บัญญัติว่า “การแก้ไขคำฟ้องหรือคำให้การที่คู่ความเสนอต่อศาลไว้แล้ว ให้ทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลก่อนวันชี้สองสถาน หรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน ในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน เว้นแต่มีเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนนั้น หรือเป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย” คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย โดยได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอม หลังจากมีการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองแล้ว โจทก์สืบหาทรัพย์สินของจำเลย แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ตามรายละเอียดคำขอตรวจสอบกรรมสิทธิ์ที่ดิน 2 ฉบับ และโจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ 2 ครั้ง ระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน จำเลยได้รับหนังสือทวงถามแล้วแต่ไม่ชำระหนี้ การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องฉบับลงวันที่ 25 มีนาคม 2551 ทำนองว่า โจทก์ได้สืบหาทรัพย์สินของจำเลยแล้วพบว่าจำเลยมีที่ดิน 4 แปลง และที่ดินทั้ง 4 แปลงนั้นติดจำนองสถาบันการเงินอยู่ หากมีการยึดทรัพย์ดังกล่าวออกขายทอดตลาดก็ยังไม่สามารถใช้หนี้ให้แก่โจทก์โดยสิ้นเชิง โดยยังมีหนี้ค้างชำระเกินกว่า 1,000,000 บาท เมื่อคำฟ้องเดิมของโจทก์ครบเงื่อนไขในการฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายแล้ว การที่โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องเฉพาะเพียงส่วนที่เกี่ยวกับข้อสันนิษฐานที่ว่าจำเลยไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้นั้น เป็นเพียงการขอแก้ไขรายละเอียดอันเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตจึงเป็นการชอบแล้ว
ปัญหาประการที่สามมีว่า การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งไม่รับคำให้การของจำเลยตามคำให้การลงวันที่ 14 กันยายน 2552 นั้น ชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 13 บัญญัติว่า “เมื่อศาลสั่งรับฟ้องคดีล้มละลายไว้แล้ว ให้กำหนดวันนั่งพิจารณาเป็นการด่วน และให้ออกหมายเรียกและส่งสำเนาคำฟ้องไปยังลูกหนี้ให้ทราบก่อนวันนั่งพิจารณาไม่น้อยกว่า 7 วัน” การที่กฎหมายได้บัญญัติเหตุดังกล่าวไว้ก็เพื่อเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการพิจารณาคดีล้มละลายที่จะให้กระบวนพิจารณาเป็นไปโดยรวดเร็วกว่าคดีแพ่งสามัญ จึงกำหนดให้ศาลนั่งพิจารณาเป็นการด่วนโดยไม่ได้กำหนดวันยื่นคำให้การเหมือนอย่างคดีแพ่งสามัญ ฉะนั้นจำเลยจะยื่นคำให้การหรือไม่ก็ได้ หากจำเลยประสงค์ที่จะยื่นคำให้การ จำเลยก็มีโอกาสยื่นได้ก่อนวันนั่งพิจารณา คดีนี้ปรากฏว่าโจทก์ยื่นฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2550 ได้มีการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2551 โดยจำเลยเป็นผู้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไว้เอง ต่อมาศาลนัดพิจารณาสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยในวันที่ 31 มีนาคม 2551 ในวันดังกล่าวโจทก์ได้นำพยานเข้าสืบจนเสร็จและแถลงหมดพยาน ส่วนทนายจำเลยแถลงไม่ติดใจถามค้านและไม่ติดใจสืบพยาน ศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 ครั้นถึงวันนัดจำเลยได้ขอเลื่อนการอ่านคำพิพากษา เนื่องจากประสงค์ที่จะเจรจาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ศาลมีคำสั่งให้เลื่อนไปนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 9 ธันวาคม 2551 แต่เนื่องจากในช่วงดังกล่าวศาลล้มละลายกลางจะต้องย้ายไปยังศูนย์ราชการ จึงให้เลื่อนการพิจารณาคดีนี้ไปนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาในวันที่ 26 พฤษภาคม 2552 เมื่อถึงวันนัดทนายจำเลยขอเลื่อนการฟังคำพิพากษาอีกครั้งหนึ่ง ศาลได้เลื่อนไปนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 21 กันยายน 2552 การที่จำเลยยื่นคำให้การฉบับลงวันที่ 14 กันยายน 2552 ภายหลังที่มีการเสร็จการพิจารณาแล้ว จึงเป็นการมิชอบ ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งไม่รับคำให้การของจำเลยนั้นชอบแล้ว
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการที่ห้ามีว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี กรณีจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5) ว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว นอกจากนี้โจทก์ยังมีนายสมบัติ จิตอารีละมัย ผู้รับมอบอำนาจโจทก์มาเบิกความต่อไปอีกว่าได้ดำเนินการสืบหาทรัพย์สินของจำเลยแล้ว พบว่าจำเลยมีที่ดิน 4 แปลง ที่ติดจำนองสถาบันการเงิน มีราคาไม่พอที่จะนำมาชำระหนี้แก่โจทก์ ส่วนที่จำเลยอ้างในอุทธรณ์ว่าจำเลยยังเป็นเจ้าของที่ดินอีกแปลงหนึ่ง คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 145870 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ก็ปรากฏว่าที่ดินดังกล่าวนั้นมีราคาเพียง 795,925 บาท ซึ่งไม่เพียงพอชำระหนี้แต่อย่างใด นอกจากนี้จำเลยก็ไม่ได้นำพยานมาสืบให้เห็นว่าจำเลยมีทรัพย์สินเพียงพอชำระหนี้ ส่วนในอุทธรณ์ของจำเลยว่าหากว่ามีการบังคับจำนองที่ดินของจำเลย 3 แปลง แล้วก็น่าจะมีเงินเหลือชำระหนี้ให้แก่โจทก์นั้น เห็นว่า ปรากฏตามเอกสารแนบท้ายคำร้องลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2552 ว่าที่ดินของจำเลยทั้ง 3 แปลงนั้น ติดจำนองอยู่แก่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย นอกจากนี้ตามเอกสารที่จำเลยแนบท้ายคำร้องขอเลื่อนคดีลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 ระบุว่าจำเลยยังมีภาระหนี้อยู่กับบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยอีกจำนวน 12,397,096.35 บาท พยานหลักฐานของจำเลยยังไม่เพียงพอที่จะหักล้างทางนำสืบของพยานโจทก์ คดีจึงฟังว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว ส่วนที่จำเลยอ้างว่าจำเลยยังประกอบอาชีพทนายความ อยู่ในวิสัยที่ใช้ความรู้หาเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ทั้งภรรยาของจำเลยรับราชการครู ระดับ คศ.3 อัตราเงินเดือน 35,360 บาท เงินวิทยาฐานะ 11,200 บาท กรณีจึงมีเหตุอื่นไม่ควรให้จำเลยล้มละลายนั้น เห็นว่า หลังจากศาลมีคำพิพากษาแล้วจำเลยมิได้ชำระหนี้จนกระทั่งโจทก์ดำเนินการบังคับคดี และเมื่อได้เงินไม่เพียงพอชำระหนี้ จำเลยก็มิได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์แต่อย่างใด ที่อ้างว่าจำเลยอยู่ในฐานะที่ขวนขวายหาเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์โดยใช้ความรู้ความสามารถนั้น ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยจะใช้ความรู้ความสามารถแล้วจะนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้มากน้อยเพียงใด ที่จำเลยอ้างว่าภรรยาจำเลยเป็นข้าราชการและมีเงินเดือนนั้น เห็นว่า เงินดังกล่าวเป็นของภรรยาของจำเลย ไม่ปรากฏว่าภรรยาของจำเลยได้นำเงินดังกล่าวมาช่วยชำระหนี้ที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์หรือแสดงเจตนาที่สละเงินเดือนดังกล่าวมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์แต่อย่างใด กรณีจึงไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดมานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share