คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2680/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยนำเงินมาวางศาลชั้นต้นเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาโดยอ้างว่าไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเนื่องจากยังมีผู้เช่านาทำประโยชน์และผู้เช่านาประสงค์จะซื้อที่ดินดังกล่าว ในวันนัดพร้อมจำเลยแถลงไม่คัดค้านที่โจทก์จะขอรับเงินที่จำเลยนำมาวางศาลเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา ศาลชั้นต้นจึงสั่งอนุญาตให้โจทก์รับเงินจำนวนดังกล่าวไป แม้ในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจำเลยไม่ได้ลงลายมือชื่อไว้ก็ตาม เมื่อจำเลยมาศาลและไม่คัดค้านการที่ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้โจทก์รับเงินที่จำเลยนำมาวางศาลเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาจึงเป็นการสั่งโดยชอบ กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ที่จำเลยจะขอให้ศาลสั่งเพิกถอน

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสองฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาจะซื้อขายที่ดินขอให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 795 เลขที่ดิน 6 ตำบลบึงทองหลางอำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี เฉพาะส่วนเนื้อที่ 60 ไร่ 20 ตารางวา ให้แก่โจทก์ทั้งสองและใช้ค่าเสียหาย คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสองโดยให้โจทก์ทั้งสองชำระเงินค่าที่ดินซึ่งยังเหลือจำนวน 1,080,000 บาทแก่จำเลยขณะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ณ สำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานีสาขาธัญบุรี ค่าธรรมเนียมและค่าภาษีในการโอนที่ดินให้หักจากเงินดังกล่าวหากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 250,000 บาท โดยให้หักจากเงินค่าที่ดินซึ่งโจทก์ทั้งสองชำระแก่จำเลย หากจำเลยไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่โจทก์ทั้งสองได้โดยปลอดจากภาระติดพันแล้วให้จำเลยคืนเงินมัดจำจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2530 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสองคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก วันที่ 22 มิถุนายน 2538 จำเลยนำเงินจำนวน812,602.50 บาท มาวางศาลเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสองโดยอ้างว่าไม่สามารถโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสองได้เนื่องจากยังมีผู้เช่านาทำประโยชน์อยู่และผู้เช่านาประสงค์จะซื้อที่ดินดังกล่าว วันที่ 9 พฤษภาคม2539 โจทก์ทั้งสองได้ดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวเป็นของโจทก์ทั้งสอง ต่อมาวันที่ 1 ตุลาคม 2540 โจทก์ทั้งสองยื่นคำแถลงขอรับเงินจำนวน 812,602.50 บาท ที่จำเลยนำมาวางศาลเพื่อชำระหนี้ที่เหลือได้แก่ค่าธรรมเนียมและค่าภาษีต่าง ๆ ในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นเงิน2,903,783 บาท ค่าเสียหาย 250,000 บาท ค่าขึ้นศาล 63,175 บาทและค่าทนายความ 20,000 บาท โดยหักค่าที่ดินที่ค้างแล้ว จำเลยยังค้างชำระเงินอีก 2,156,958 บาท และวันที่ 2 ตุลาคม 2540 จำเลยยื่นคำแถลงขอรับเงินจำนวนที่จำเลยนำมาวางศาลนั้นคือโดยอ้างว่าหมดภาระผูกพันที่จะต้องชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสอง ศาลชั้นต้นนัดพร้อมวันที่ 26 พฤศจิกายน2540 ถึงวันนัดศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาว่าสอบคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้ว จำเลยแถลงไม่คัดค้านที่โจทก์ทั้งสองจะขอรับเงินที่จำเลยนำมาวางศาลเป็นการชำระหนี้ตามคำพิพากษาจำนวน 812,602.50 บาทจึงอนุญาตให้โจทก์ทั้งสองรับเงินจำนวนดังกล่าวเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา

ต่อมาวันที่ 25 ธันวาคม 2540 จำเลยยื่นคำร้องว่า ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้โจทก์รับเงินที่จำเลยวางศาลจำนวน 812,602.50 บาทไปโดยผิดหลง ขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้โจทก์ทั้งสองรับเงินจำนวน812,602.50 บาท ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 26พฤศจิกายน 2540

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยมาศาลและทราบรายงานกระบวนพิจารณาในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2540 แล้ว จำเลยยื่นคำร้องขอเพิกถอนวันที่ 25 ธันวาคม 2540 เกินระยะเวลา 8 วันนับแต่วันทราบ จึงไม่สามารถจะยื่นคำร้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27วรรคสอง ให้ยกคำร้อง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า จำเลยจะขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งที่อนุญาตให้โจทก์ทั้งสองรับเงินจำนวน812,602.50 บาท ที่จำเลยนำมาวางศาลเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ทั้งสองได้หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 795 ให้แก่โจทก์ทั้งสอง โดยให้โจทก์ทั้งสองชำระค่าที่ดินที่ยังเหลือจำนวน 1,080,000 บาท ให้แก่จำเลย ค่าธรรมเนียมและค่าภาษีในการโอนที่ดิน ให้หักจากเงินจำนวนดังกล่าวซึ่งหมายถึงว่าจำเลยเป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมและค่าภาษีในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสิ้นเมื่อปรากฏว่าค่าธรรมเนียมและค่าภาษีเป็นเงิน 2,903,783 บาท รวมค่าเสียหายและค่าฤชาธรรมเนียมที่จำเลยจะต้องชำระตามคำพิพากษาโดยหักค่าที่ดินที่เหลือที่โจทก์ทั้งสองต้องชำระแล้ว จำเลยยังคงเป็นหนี้อีก2,156,958 บาท โจทก์ทั้งสองได้ขอรับเงินที่จำเลยนำมาวางศาลชั้นต้นจำนวน 812,602.50 บาท แม้จะเป็นเงินที่จำเลยนำมาวางศาลโดยอ้างว่าไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 795 เนื่องจากยังมีผู้เช่านาทำประโยชน์ และผู้เช่านาประสงค์จะซื้อที่ดินดังกล่าว แต่เมื่อศาลชั้นต้นนัดพร้อมเพื่อสอบถามเกี่ยวกับการขอรับเงินที่จำเลยนำมาวางศาลดังกล่าวโจทก์ทั้งสองและจำเลย กับทนายความจำเลยมาศาล ศาลชั้นต้นสอบถามจำเลยแล้วจำเลยแถลงไม่คัดค้านที่โจทก์ทั้งสองจะขอรับเงินที่จำเลยนำมาวางศาลเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา ศาลชั้นต้นจึงสั่งอนุญาตให้โจทก์ทั้งสองรับเงินจำนวนดังกล่าวไป แม้ในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยไม่ได้ลงลายมือชื่อไว้ก็ตาม แต่ต่อมาวันที่ 26 ธันวาคม 2540 เจ้าหน้าที่ศาลรายงานว่า ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2540ซึ่งเป็นวันนัดพร้อม ศาลชั้นต้นออกนั่งพิจารณาคดี จำเลยมาศาลเจ้าหน้าที่ศาลไม่ได้ให้จำเลยลงลายมือชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาเพราะหลงลืมซึ่งศาลชั้นต้นสั่งในรายงานเจ้าหน้าที่นั้นว่า ในวันนั้นจำเลยมาศาลข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าในวันนัดพร้อมดังกล่าว จำเลยมาศาล ดังนั้นเมื่อโจทก์ทั้งสองขอรับเงินที่จำเลยนำมาวางศาลเพื่อชำระหนี้ที่ค้างชำระตามคำพิพากษาโดยจำเลยไม่คัดค้าน การที่ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้โจทก์ทั้งสองรับเงินที่จำเลยนำมาวางศาลเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาจึงเป็นการสั่งโดยชอบ กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ที่จำเลยจะขอให้ศาลสั่งเพิกถอนฎีกาของจำเลยข้ออื่นไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอีกต่อไป ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องและศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share