คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2679/2529

แหล่งที่มา : ADMIN

ย่อสั้น

จำเลยฟ้องแย้งและมีคำขอบังคับโจทก์รวมมาในคำให้การแม้ไม่ได้พิมพ์คำว่า’และฟ้องแย้ง’ต่อจากคำว่า’คำให้การ’ในแบบพิมพ์ก็ตามก็เป็นฟ้องแย้งตรงกับบทบัญญัติของมาตรา177วรรคสามแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแล้วศาลแรงงานกลางมีหน้าที่ต้องตรวจฟ้องแย้งของจำเลยและมีคำสั่งตามที่พิจารณาเห็นสมควรว่าจะรับไว้พิจารณาต่อไปหรือไม่การที่ศาลแรงงานกลางมิได้มีคำสั่งเสียในชั้นแรกที่จำเลยยื่นคำให้การและฟ้องแย้งดังกล่าวและมาวินิจฉัยในคำพิพากษาว่าจะรับพิจารณาฟ้องแย้งไม่ได้เพราะมิได้ใช้แบบพิมพ์ให้ถูกต้องจึงไม่ชอบ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำตำแหน่งพนักงานรักษาความปลอดภัย จำเลยให้โจทก์ทำงานในวันหยุดตามประเพณีที่จำเลยได้ประกาศกำหนดไว้ เป็นเหตุให้โจทก์ขาดรายได้ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่โจทก์ จำเลยให้การว่าตำแหน่งพนักงานรักษาความปลอดภัยทำงานตลอด 24 ชั่วโมงแบ่งการทำงานในแต่ละวันเป็น 3 กะ แต่ละกะมีเวลาพัก 24 ชั่วโมง จำเลยจึงจัดวันหยุดซึ่งรวมกันหยุดตามประเพณีให้ปีละ 91 วัน มากกว่าที่กฎหมายกำหนด โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าทำงานในวันหยุด ทั้งเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2522 โจทก์ได้ตกลงจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้ ถ้าหากพนักงานรักษาความปลอดภัยปฏิบัติงานตรงกับวันหยุดตามประเพณีซึ่งในขณะนั้นไม่มีสิทธิได้รับ ต่อมาจำเลยได้ออกข้อบังคับว่าด้วยเงินเพิ่มสำหรับผู้ปฏิบัติงานกะ พ.ศ. 2527 โดยให้มีผลบังคับย้อนหลังถึงวันที่1 มกราคม 2527 ซึ่งจำเลยได้เหมาจ่ายเงินค่ากะให้เป็นจำนวนมากกว่าเงินค่าทำงานในวันหยุด โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินค่าทำงานในวันหยุดอีก นอกจากนั้น การจ่ายเงินค่าทำงานในวันหยุดตามข้อบังคับและคำสั่งต่าง ๆ นั้นจำเลยคิดว่าลูกจ้างปฏิบัติงานเพียง 7 ชั่วโมง โดยหักเวลาพักออกทำให้จำเลยจ่ายค่าทำงานในวันหยุดสูงกว่าที่จำเลยต้องจ่ายตามกฎหมายเงินที่โจทก์รับไว้จึงเกินมูลหนี้ หากศาลจะให้จำเลยจ่ายค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณี จำเลยก็ขอหักกลบลบหนี้ในปี พ.ศ. 2527 คิดถึงวันที่ 31 สิงหาคม โจทก์ทำงานตรงกับวันหยุดตามประเพณี 10 วันซึ่งเป็นเวลาก่อนที่ข้อบังคับฉบับใหม่ออกใช้บังคับ และโจทก์ได้รับเงินค่าทำงานในวันหยุดตามข้อบังคับเดิมไปแล้วต่อจากนั้นโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินค่าทำงานในวันหยุดจากจำเลยตามข้อบังคับใหม่ ขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งว่าในปี พ.ศ. 2527 โจทก์ได้เงินค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณีจำนวน 10 วัน ต่อมาจำเลยได้ออกข้อบังคับว่าด้วยเงินเพิ่มสำหรับผู้ปฏิบัติงานกะ พ.ศ. 2527 โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ 1 มกราคม 2527 ทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทำงานซึ่งตรงกับวันหยุดตามประเพณี โดยมีสิทธิได้รับเงินค่ากะ ซึ่งเหมาจ่ายรวมค่าทำงานในวันหยุดไปในตัวและได้เบิกไปแล้ว แต่โจทก์ยังไม่ได้คืนเงินค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณีให้จำเลย และการหาค่าจ้างรายชั่วโมงต้องนำจำนวน 8 ชั่วโมงเป็นตัวคำนวณ จำเลยเพิ่งทราบว่าจำเลยคิดผิดมาตลอด จึงขอให้บังคับจำเลยคืนเงินค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณีค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาที่จำเลยจ่ายให้โจทก์เกินไป ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งรับคำให้การ โดยมิได้มีคำสั่งเรื่องฟ้องแย้งและโจทก์มิได้ให้การแก้ฟ้องแย้ง วันนัดพิจารณาศาลแรงงานกลางฟังคำแถลงของโจทก์จำเลยแล้วเห็นว่าคดีวินิจฉัยได้โดยไม่จำต้องสืบพยาน จึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่าทำงานในวันหยุดสำหรับฟ้องแย้งของจำเลยปรากฏว่าจำเลยมิได้พิมพ์หัวกระดาษคำให้การว่า “และฟ้องแย้ง” ไว้ด้วย เป็นการใช้แบบพิมพ์ไม่ถูก จึงไม่ถือว่าเป็นฟ้องแย้ง คงถือได้เป็นส่วนหนึ่งของคำให้การจึงไม่วินิจฉัยให้ พิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มาตรา 177 วรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ได้บัญญัติว่า จำเลยจะฟ้องแย้งมาในคำให้การก็ได้ แต่ถ้าฟ้องแย้งนั้นเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมแล้วให้ศาลสั่งให้จำเลยฟ้องเป็นคดีต่างหาก ปรากฏว่าจำเลยในคดีนี้ได้ฟ้องแย้งและมีคำขอบังคับโจทก์รวมมาในคำให้การตรงกับบทบัญญัติของกฎหมาย โดยไม่มีบทกฎหมายใดบังคับไว้ว่าต้องพิมพ์คำว่า “และฟ้องแย้ง” ต่อจากคำว่า”คำให้การ” ดังคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลาง เมื่อเป็นเช่นนี้ศาลแรงงานกลางจึงมีหน้าที่ต้องตรวจฟ้องแย้งของจำเลยและมีคำสั่งตามที่พิจารณาเห็นสมควรว่าจะรับไว้พิจารณาต่อไปหรือไม่ การที่ศาลแรงงานกลางมิได้มีคำสั่งเสียในชั้นแรกและมาวินิจฉัยในคำพิพากษาว่าจะรับพิจารณาไม่ได้ เพราะมิได้ใช้แบบพิมพ์ให้ถูกต้องจึงไม่ชอบ และเมื่อคดียังมีปัญหาเกี่ยวกับฟ้องแย้งอยู่เช่นนี้ กรณีจึงยังไม่สมควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในชั้นนี้ พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาสั่งฟ้องแย้งของจำเลยก่อนแล้วพิจารณาพิพากษาใหม่ต่อไป

Share