คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7290/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติโบราณสถานโบราณวัตถุศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพ.ศ.2504มาตรา7วรรคสองมีความมุ่งหมายเพียงให้อธิบดีกรมศิลปากรแจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองโบราณสถานทราบถึงการขึ้นทะเบียนโบราณสถานเท่านั้นมิใช่เป็นการขออนุญาตดังนั้นเมื่อมีการประกาศกำหนดเขตที่ดินใดเป็นเขตโบราณสถานแล้วแม้กรมศิลปากรจำเลยไม่ได้แจ้งเป็นหนังสือให้โจทก์ผู้อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวทราบเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนประกาศก็ถือได้ว่าเป็นการประกาศขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นโบราณสถานโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีอำนาจดำเนินการแทน โจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินเลขสำรวจที่ 43/2521 หมู่ที่ 6 ตำบลศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัยจังหวัดสุโขทัย และเลขสำรวจที่ 33/2524 หมู่ที่ 6 ตำบลศรีสัชนาลัยอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย รวม 3 แปลง เนื้อที่ประมาณ7 ไร่เศษ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2531 จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันออกประกาศของกรมศิลปากร เรื่อง กำหนดเขตโบราณสถาน โดยกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เป็นพื้นที่บริเวณโบราณสถานประมาณ 28,217 ไร่ โดยมิได้แจ้งเป็นหนังสือให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองที่ดินที่ตกอยู่ในเขตประกาศกำหนดเขตโบราณสถานดังกล่าวทราบเสียก่อน เพื่อโจทก์จะได้มีโอกาสโต้แย้งคัดค้าน เป็นการออกประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานที่ขัดต่อพระราชบัญญัติโบราณสถานโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504มาตรา 7 วรรคสอง จึงไม่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย ต่อมาวันที่18 พฤษภาคม 2531 โจทก์ได้รับหนังสือของจำเลยทั้งสองลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2531 แจ้งให้โจทก์ระงับการก่อสร้างอาคารบนกำแพงเมืองเชลียงซึ่งทำให้โบราณสถานเสื่อมค่าและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ในที่ดินเลขสำรวจที่ 43/2521 และเลขสำรวจที่33/2524 หมู่ที่ 6 ตำบลศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัยจังหวัดสุโขทัย ออกไปภายใน 30 วัน อ้างว่าที่ดินดังกล่าวตกอยู่ในเขตที่ดินที่ได้ประกาศกำหนดให้เป็นเขตที่ดินโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ปรากฎตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินของโจทก์ได้ ขอให้พิพากษาว่าประกาศของจำเลยทั้งสองเรื่องกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ฉบับลงวันที่24 มีนาคม 2531 เป็นประกาศที่มิชอบด้วยกฎหมาย ให้จำเลยทั้งสองเพิกถอนหรือระงับการกำหนดเขตที่ดินตามประกาศดังกล่าว หากจำเลยทั้งสองไม่ปฎิบัติ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง และให้จำเลยทั้งสองเพิกถอนคำสั่งที่ ศธ 0704/2395 ลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2531 เรื่องการก่อสร้างอาคารทำให้โบราณสถานเสื่อมค่า
จำเลยทั้งสองให้การว่า อธิบดีกรมศิลปากรจะมีหนังสือแจ้งให้เจ้าของโบราณสถานหรือผู้ครอบครองโบราณสถานทราบก่อนหรือหลังการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาแล้วก็ได้ ดังนั้นการประกาศกำหนดเขตโบราณสถานโดยกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัยจังหวัดสุโขทัย ของอธิบดีกรมศิลปากร จึงชอบและมีผลใช้บังคับตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยการกำหนดเขตที่ดินดังกล่าว และคำสั่งให้โจทก์ระงับการก่อสร้างและรื้อถอนสิ่งก่อสร้างของจำเลยเป็นประกาศ การกระทำ และคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า การประกาศกำหนดเขตโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยตามเอกสารหมาย ล.1 ไม่มีผลบังคับเพราะไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบ จึงไม่มีผลใช้บังคับตามกฎหมายได้นั้นเห็นว่า พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 7 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า”การขึ้นทะเบียนโบราณสถานตามความในวรรคก่อน ถ้าโบราณสถานนั้นมีเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ให้อธิบดีแจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทราบ ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่พอใจก็ให้มีสิทธิร้องต่อศาลภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่อธิบดีแจ้งให้ทราบขอให้ศาลมีคำสั่งให้อธิบดีระงับการขึ้นทะเบียนและหรือการกำหนดเขตที่ดินให้เป็นโบราณสถาน แล้วแต่กรณีได้ ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองมิได้ร้องขอต่อศาลหรือศาลมีคำสั่งถึงที่สุดให้ยกคำร้องขอของเจ้าของหรือผู้ครอบครองให้อธิบดีดำเนินการขึ้นทะเบียนได้” นั้น มีความมุ่งหมายเพียงให้อธิบดีกรมศิลปากรแจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองโบราณสถานทราบเท่านั้น มิใช่เป็นการขออนุญาตแต่อย่างใด แม้จะมีการประกาศกำหนดเขตที่ดินเป็นเขตโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 28,217 ไร่ ตามเอกสารหมาย ล.1โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้แจ้งเป็นหนังสือให้โจทก์ผู้อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวทราบเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนประกาศ แต่ก็ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ราษฎรในพื้นที่ดังกล่าวทราบว่าจำเลยที่ 1จะดำเนินการประกาศกำหนดเขตที่ดินบริเวณนั้นให้เป็นเขตโบราณสถานจึงถือได้ว่าเป็นการประกาศขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นโบราณสถานโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่าการประกาศขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นโบราณสถานตามเอกสารหมาย ล.1 ไม่มีผลบังคับเพราะไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบก่อน จึงฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share