คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2678/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลภาษีอากรกลางได้กำหนดวันนัดชี้สองสถานและแจ้งให้ ทนายโจทก์ทราบโดยทนายโจทก์ได้รับหมายนัดไว้แล้วด้วยตนเอง แต่ ลงวันนัดในสมุดนัดความผิดพลาดไป ทนายโจทก์จึงมิได้ยื่นบัญชี ระบุพยานตาม ข้อกำหนดคดีภาษีอากร ข้อ 8 วรรคสี่ ดังนี้ เป็นข้อ ผิดพลาดบกพร่องของทนายโจทก์ เองมิใช่เป็นกรณีมีเหตุอันสมควร ที่ไม่สามารถยื่นบัญชีระบุพยานตาม กำหนดเวลาตามกฎหมายได้ ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งยกคำร้องขออนุญาต ยื่นบัญชีระบุพยานโจทก์ชอบแล้ว โจทก์อุทธรณ์ขอให้ยกคำสั่งและคำพิพากษาของศาลล่าง ให้สืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี เป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ จึงต้องเสียค่าขึ้นศาล 200 บาท ตามตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ข้อ (2)(ก).

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า การประเมินภาษีโรงเรือนปี พ.ศ. 2532ของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 และคำชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินค่าภาษีโรงเรือนของคณะเทศมนตรีจำเลยที่ 1 สำหรับอาคารเลขที่ 1369-1375 และอาคารเลขที่ 1363/1-3 ตำบลคลัง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช เฉพาะในส่วนของห้องพักโรงแรมสำนักงาน และล๊อบบี้ ไม่ถูกต้อง กับพิพากษาว่าโจทก์คงต้องเสียภาษีสำหรับอาคารหลังแรกจำนวน 54,202.50 บาท กับอาคารหลังที่ 2 เฉพาะในส่วนของห้องพักโรงแรมเป็นเงิน 73,273.75 บาท และโจทก์ไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนในส่วนของสำนักงานและล๊อบบี้ เป็นเงิน 4,500 บาท กับให้จำเลยคืนเงินค่าภาษี 87,688.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเงินเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ให้เช่าอาคารโรงแรมพิพาทในราคาต่ำกว่าความเป็นจริงการที่จำเลยกำหนดค่ารายปีสูงกว่าค่าเช่าจึงเหมาะสมแล้วโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากเงินภาษีที่ขอคืน ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามข้อกำหนดคดีภาษีอากรข้อ 8 วรรคสี่กำหนดกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการขออนุญาตยื่นบัญชีระบุพยานไว้ว่าคู่ความซึ่งขออนุญาตยื่นบัญชีระบุพยานจะต้องแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลได้ว่า มีเหตุอันสมควรที่ไม่สามารถยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาลก่อนวันชี้สองสถานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าโจทก์มีเหตุอันสมควรหรือไม่ที่ไม่สามารถยื่นบัญชีระบุพยานตามกำหนดเวลาดังกล่าว โจทก์อ้างในคำร้องฉบับลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2533 ว่าเหตุที่โจทก์มิได้ยื่นบัญชีระบุพยานก่อนวันชี้สองสถานไม่น้อยกว่า7 วันนั้น เกิดจากทนายโจทก์ลงวันนัดชี้สองสถานในสมุดนัดความของทนายโจทก์ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไป กล่าวคือ แทนที่จะลงวันนัดวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2533 กลับไปลงวันนัดเป็นวันที่ 23เดือนเดียวกัน ซึ่งทนายโจทก์ยอมรับว่าตามหมายนัดได้นัดชี้สองสถานวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2533 จริง ทั้งตามคำแถลงของทนายโจทก์ที่แถลงต่อศาลในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 10 เมษายน 2533 ประกอบใบรับหมายนัดเอกสารในสำนวน อันดับที่ 16 ว่า ทนายโจทก์ได้ลงชื่อเป็นผู้รับหมายนัดชี้สองสถานไว้ด้วยตนเอง และตามสำนวนหมายนัด(เอกสารในสำนวนอันดับที่ 15) ก็มีข้อความถูกต้องตรงกันกับใบรับหมายนัดดังกล่าวว่าศาลนัดชี้สองสถานในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2533ฉะนั้น การที่ทนายโจทก์ลงวันนัดในสมุดนัดความของทนายโจทก์ผิดพลาดแม้เป็นความจริง ก็เป็นข้อผิดพลาดบกพร่องของทนายโจทก์เอง มิใช่เป็นกรณีมีเหตุอันสมควรที่ไม่สามารถยื่นบัญชีระบุพยานตามกำหนดเวลาตามกฎหมายได้ ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งยกคำร้องขออนุญาตยื่นบัญชีระบุพยานของโจทก์ชอบแล้ว
อนึ่ง คดีนี้โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกาเพียงขอให้ยกคำสั่งและคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ให้ศาลภาษีอากรกลางสืบพยานโจทก์พยานจำเลย แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ซึ่งเป็นอุทธรณ์ที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ โจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เพียง 200 บาท ตามตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ข้อ (2)(ก) แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์อย่างคดีมีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันคำนวณเป็นราคาเงินได้ตามตาราง 1 ข้อ (1)(ก) เป็นเงิน 2,192.50 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกินแก่โจทก์
พิพากษายืน.

Share