คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8292/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ. อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 35 กำหนดให้ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดมีอำนาจหน้าที่เป็นตัวแทนของนิติบุคคล ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดจึงมีอำนาจดำเนินการใด ๆ แทนนิติบุคคลอาคารชุดได้ แม้ว่าในข้อบังคับของโจทก์จะกำหนดให้คณะกรรมการนิติบุคคลของโจทก์มีอำนาจดำเนินคดีแก่บุคคลภายนอก หากมีการละเมิดจากการกระทำของบุคคภายนอกในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลาง การเรียกร้องค่าเสียหาย และการเรียกเอาทรัพย์คืนนั้น ข้อบังคับของโจทก์ดังกล่าวก็หาลบล้างอำนาจของผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นผู้แทนของนิติบุคคลอาคารชุดไม่
ข้อตกลงในการประนีประนอมยอมความระบุว่าโจทก์และจำเลยตกลงจะขอถอนฟ้องคดีอาญาในศาลชั้นต้นทุกคดี ซึ่งโจทก์และจำเลยต้องปฏิบัติตามสัญญาโดยการถอนฟ้องคดีอาญา เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นอกจากโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้แล้ว โจทก์ยังฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาต่อศาลแขวงเชียงใหม่ในข้อหาทำให้เสียทรัพย์ด้วย ส่วนจำเลยก็ฟ้องโจทก์ต่อศาลชั้นต้นในข้อหาหมิ่นประมาท ต่อมาคดีที่ฟ้องศาลแขวงเชียงใหม่ได้มีการประนีประนอมยอมความกันตามข้อตกลงดังกล่าว โดยจำเลยจะต้องถอนฟ้องคดีหมิ่นประมาทในวันรุ่งขึ้นหลังจากที่โจทก์ถอนฟ้องคดีทำให้เสียทรัพย์ต่อศาลแขวงเชียงใหม่ ปรากฏว่าจำเลยไม่ยอมถอนฟ้องคดีที่ศาลชั้นต้นในข้อหาหมิ่นประมาท แต่ศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้องของจำเลย ฉะนั้นการที่โจทก์ถอนฟ้องจำเลยในคดีอาญาที่ศาลแขวงเชียงใหม่แล้ว แต่จำเลยไม่ยอมถอนฟ้องคดีหมิ่นประมาทเป็นการไม่ยอมปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวข้างต้น กรณียังถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความตามกฎหมาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงยังไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 352, 353, 354 และมาตรา 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 354 จำคุก 1 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกมีว่า โจทก์โดยนางสุชาดา เวียรศิลป์ ผู้จัดการมอบอำนาจให้นายนิรันดรดำเนินคดีนี้แทนโจทก์ได้หรือไม่ เห็นว่า ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 35 บัญญัติไว้ว่า ให้นิติบุคคลอาคารชุดมีผู้จัดการคนหนึ่ง และตามมาตรา 36 บัญญัติว่า ผู้จัดการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ ฯลฯ… (3) เป็นผู้แทนของนิติบุคคลอาคารชุด ตามบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดมีอำนาจหน้าที่เป็นตัวแทนของนิติบุคคลย่อมจะมีอำนาจดำเนินการใด ๆ แทนนิติบุคคลอาคารชุดได้ แม้ข้อบังคับของโจทก์จะกำหนดให้คณะกรรมการนิติบุคคลของโจทก์มีอำนาจดำเนินคดีแก่บุคคลภายนอก หากมีการละเมิดจากการกระทำของบุคคลภายนอกในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางเพื่อให้บุคคลภายนอกระงับการทำละเมิด การเรียกร้องค่าเสียหายและการเรียกเอาทรัพย์คืนนั้น ข้อบังคับของโจทก์ดังกล่าวก็หาลบล้างอำนาจของผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นผู้แทนของนิติบุคคลอาคารชุดไม่ ดังนั้นเมื่อนางสุชาดาเป็นผู้จัดการนิติบุคคลจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยคดีนี้ได้ และชอบที่จะมอบอำนาจให้นายนิรันดรดำเนินคดีแทนโจทก์ได้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปมีว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปเพราะเหตุที่ได้มีการยอมความกันแล้วหรือไม่ เห็นว่า ตามข้อตกลงในการประนีประนอมยอมความตามเอกสารหมาย ล. 2 ระบุว่าโจทก์และจำเลยตกลงจะขอถอนฟ้องคดีอาญาในศาลชั้นต้นทุกคดี และจะทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งซึ่งฟ้องร้องกันอยู่ ณ ศาลชั้นต้นโดยนำหลักการและเงื่อนไขนี้ไปเป็นหลักในการทำสัญญาดังกล่าว ซึ่งทั้งโจทก์และจำเลยจะต้องปฏิบัติตามสัญญาโดยการถอนฟ้องคดีอาญา แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า นอกจากโจทก์จะฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้แล้ว โจทก์ยังฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาต่อศาลแขวงเชียงใหม่ในข้อหาทำให้เสียทรัพย์ด้วย ส่วนจำเลยก็ฟ้องโจทก์ต่อศาลชั้นต้นในข้อหาหมิ่นประมาท ต่อมาคดีที่ฟ้องต่อศาลแขวงเชียงใหม่ได้มีการประนีประนอมยอมความกันตามเอกสารหมาย ล. 2 โดยจำเลยจะต้องถอนฟ้องคดีหมิ่นประมาทในวันรุ่งขึ้น หลังจากที่โจทก์ถอนฟ้องคดีทำให้เสียทรัพย์ต่อศาลแขวงเชียงใหม่แล้ว แต่ปรากฏว่าจำเลยไม่ยอมถอนฟ้องคดีที่ศาลชั้นต้นในข้อหาหมิ่นประมาท แต่ศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้องของจำเลย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การที่โจทก์ถอนฟ้องจำเลยในคดีอาญาที่ศาลแขวงเชียงใหม่ แต่จำเลยไม่ยอมถอนฟ้องคดีหมิ่นประมาทเป็นการไม่ยอมปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวข้างต้น กรณียังถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความตามกฎหมาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลย 10,000 บาท อีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5.

Share