คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2675/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๓๗ วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย…”แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่าขณะที่ทำนิติกรรมจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทนั้น จำเลยที่ ๓รู้ว่ามีข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ที่ให้สิทธิโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทคืน ดังนี้ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมาในคำฟ้อง ยังไม่อาจเพิกถอนนิติกรรมตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ ๒ กับที่ ๓ ฉบับลงวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ตามคำขอบังคับของโจทก์ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ ๒ กับที่ ๓ ได้ ทั้งนี้ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ ๓ มิได้ให้การต่อสู้ในเหตุนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๔๖ ประกอบมาตรา ๑๔๒ (๕)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 122179 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี โดยปลอดจำนองให้โจทก์ พร้อมกับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับเงินค่าที่ดินในราคาที่บริษัทประเมินราคาทรัพย์สินกำหนด โดยให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินแปลงดังกล่าวกับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ผู้รับจำนอง) หากจำเลยที่ 2 ไม่ไถ่ถอนจำนองให้โจทก์หักเงินค่าที่ดินที่จะต้องชำระให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำชำระให้แก่ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยเอง หากมีเงินค่าที่ดินเหลือจากหักชำระหนี้จำนองอยู่เท่าใด ให้โจทก์ชำระให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในวันโอนกรรมสิทธิ์ หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่โอน ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา กับให้เพิกถอนสิทธิจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ฉบับลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2555
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 3 ให้การว่าขอให้ยกฟ้อง
วันนัดชี้สองสถาน จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายในประเด็นว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่
ศาลชั้นต้นพิจารณาคำฟ้องแล้ว เห็นว่า โจทก์มิได้เป็นคู่สัญญาในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ให้เพิกถอนคำสั่งเดิมที่รับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 และมีคำสั่งใหม่ไม่รับฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3 ให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 3 ออกจากสารบบความ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 3 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 หรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์กล่าวในคำฟ้องว่า โจทก์ทำบันทึกข้อตกลงกับจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 จัดตั้งคณะกรรมการดำเนินการแก้ไขหนี้และบริหารทรัพย์สินที่โจทก์มีภาระหนี้อยู่ โดยให้สิทธิโจทก์ซื้อทรัพย์สินคืนในราคาที่บริษัทประเมินราคาทรัพย์สินกำหนด แล้วจำเลยที่ 1 จัดตั้งจำเลยที่ 2 บริหารทรัพย์สินดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำที่ดินพิพาทไปขายให้จำเลยที่ 3 โดยให้จำเลยที่ 2 ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับจำเลยที่ 3 จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนสิทธิของจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ฉบับลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2555 นั้น เป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมตามสัญญาดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 2 ผู้ซึ่งโจทก์อ้างว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้โอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ได้ กับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้น จึงเป็นการฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย…”แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่าขณะที่ทำนิติกรรมจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทนั้น จำเลยที่ 3รู้ว่ามีข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ให้สิทธิโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทคืน ดังนี้ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมาในคำฟ้อง ยังไม่อาจเพิกถอนนิติกรรมตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ฉบับลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2555 ตามคำขอบังคับของโจทก์ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ได้ ทั้งนี้ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 3 มิได้ให้การต่อสู้ในเหตุนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 มานั้นชอบแล้ว ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์ฟ้องขอให้ศาลแสดงบุคคลสิทธิตามคำมั่นและสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่าโจทก์อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิได้อยู่ก่อน เห็นว่า ปรากฏตามคำฟ้องโจทก์ว่าในวันที่ 2 พฤษภาคม 2556 โจทก์เพียงแต่มอบหมายให้ทนายโจทก์มีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 และที่ 2 แจ้งความประสงค์ว่า โจทก์จะขอซื้อที่ดินแปลงที่พิพาทคืนจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2555 ไว้แล้ว โดยที่โจทก์ก็ยังมิได้เข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือมีการชำระราคากันไว้แล้วแต่อย่างใด ดังนั้น ตามคำฟ้องของโจทก์ โจทก์จึงยังไม่ได้เป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิได้อยู่ก่อน การทำสัญญาจะซื้อจะขายของจำเลยที่ 3 จึงยังไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share