แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นพนักงานของจำเลย ตำแหน่งผู้อำนวยการ สำนักงานภาคกลาง เขต 6 มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบการดำเนินงานของสำนักงาน บริหารจัดการในสำนักงานให้เกิดความเรียบร้อย เกิดประสิทธิภาพประสิทธิผลสูงสุดตามคำสั่งจำเลยที่ 176/2542 การที่โจทก์ไม่ตรวจสอบลายมือชื่อโจทก์ในใบสั่งจ่าย บันทึกอนุมัติค่าใช้จ่าย เอกสารประกอบการเบิกจ่ายต่าง ๆ โดยเฉพาะในส่วนที่โจทก์มาทำงานในวันหยุดว่าโจทก์มาทำงานในวันหยุดด้วยหรือไม่ และโจทก์ไม่ตรวจสอบเอกสารการเบิกจ่ายให้รอบคอบ ทำให้เกิดความเสียหายจากการจ่ายเงินโดยไม่มีหลักฐานการเบิกจ่ายและปลอมแปลงหลักฐานประกอบการเบิกจ่ายเงินและเบิกซ้ำ จนทำให้ ล. ผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ซึ่งทำหน้าที่รับผิดชอบการเงินและบัญชีภายใน สำนักงานภาคกลาง เขต 6 ทำการทุจริตปลอมลายมือชื่อโจทก์ พนักงานจำเลยและบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้อง ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ย่อมเป็นการกระทำที่ปราศจากความระมัดระวังอย่างร้ายแรงซึ่งโจทก์จักต้องมีในฐานะผู้อำนวยการ หากโจทก์ใช้ความระมัดระวังตรวจสอบลายมือชื่อของตน และตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารประกอบการเบิกจ่ายเงินอย่างละเอียดรอบคอบ โจทก์ต้องพบการกระทำที่มิชอบของ ล. ผู้ใต้บังคับบัญชา อันจะส่งผลให้ ล. ไม่สามารถทุจริตยักยอกเงินของจำเลยเป็นจำนวนมากถึง 921,464.50 บาทได้ พฤติการณ์ของโจทก์เช่นนี้จึงเป็นการกระทำด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง การที่จำเลยมีคำสั่งที่ 339/2546 ให้โจทก์รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่จำเลยในอัตราร้อยละ 40 ของค่าเสียหายเป็นเงิน 368,585.58 บาท ตามความเห็นของกระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางอันเป็นไปตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 8 ประกอบมาตรา 10 จึงชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งจำเลยที่ 339/2546 ที่ให้โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 368,585.58 บาท หากไม่สามารถเพิกถอนคำสั่งให้ใช้เงินได้ทั้งหมด ขอให้กำหนดจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ต้องชำระให้แก่จำเลยตามที่ต้องรับผิดชอบจริง
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งจำเลยที่ 339/2546
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นพนักงานของจำเลย ตำแหน่งผู้อำนวยการ สำนักงานภาคกลางเขต 6 (สภก.6) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบการดำเนินงานของสำนักงาน บริหารจัดการในสำนักงานให้เกิดความเรียบร้อย เกิดประสิทธิภาพประสิทธิผลสูงสุด ตามคำสั่งจำเลยที่ 176/2542 มีนางสมพิศ เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ รับผิดชอบงานด้านบัญชีและการเงินโดยตรง และนางสาวลัขษณา พนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยว 5 ทำหน้าที่รับผิดชอบการเงินและบัญชีภายในสำนักงาน ต่อมานางสาวลัขษณาทุจริตปลอมลายมือชื่อโจทก์ พนักงานจำเลยและบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้อง ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย โดยโจทก์ไม่ตรวจสอบลายมือชื่อโจทก์ในใบสั่งจ่าย บันทึกอนุมัติค่าใช้จ่าย เอกสารประกอบการเบิกจ่ายต่าง ๆ โดยเฉพาะในส่วนที่โจทก์มาทำงานในวันหยุดว่าโจทก์มาทำงานในวันหยุดด้วยหรือไม่ และโจทก์ไม่ตรวจสอบเอกสารการเบิกจ่ายให้รอบคอบทำให้เกิดความเสียหายจากการจ่ายเงินโดยไม่มีหลักฐานการเบิกจ่ายและปลอมแปลงหลักฐานประกอบการเบิกจ่ายเงินและเบิกซ้ำ ในแต่ละเดือนโจทก์มีหน้าที่ส่งรายงานเกี่ยวกับบัญชีให้สำนักงานใหญ่ของจำเลยตรวจสอบ แต่การตรวจไม่พบข้อพิรุธ โจทก์เป็นผู้พบการทุจริตของนางสาวลัขษณาและรายงานให้จำเลยทราบโดยทันที ต่อมาจำเลยตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยนางสาวลัขษณาแล้วมีคำสั่งที่ 185/2544 ไล่นางสาวลัขษณาออกจากการเป็นพนักงาน จำเลยมีคำสั่งที่ 219/2544 และที่ 241/2544 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดแล้วพบว่า นางสาวลัขษณาทุจริตต้องรับผิดต่อจำเลยเป็นเงิน 1,158,406.50 บาท จำเลยจึงส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังพิจารณาโดยกรมบัญชีกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ในฐานะผู้อำนวยการมีหน้าที่โดยตรงในการควบคุมดูแลพิจารณาต่าง ๆ รวมถึงเรื่องการเบิกจ่ายเงินของสำนักงาน แต่โจทก์ไม่ตรวจสอบเอกสารหลักฐานประกอบการเบิกจ่ายเงินและโจทก์ออกเช็คสั่งจ่ายเงินโดยไม่มีเอกสารประกอบการเบิกจ่าย ไม่ติดตามตรวจสอบเอกสารหลังการเบิกจ่าย การกระทำของโจทก์เป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จึงให้โจทก์รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในอัตราร้อยละ 40 ของค่าเสียหายเป็นเงิน 368,585.58 บาท แล้ววินิจฉัยว่า แม้โจทก์จะไม่แสดงให้เห็นว่าการพิจารณาคดีที่ศาลแรงงานกลางจะเป็นการสะดวก แต่โจทก์น่าจะมีความประสงค์ที่ยื่นคำฟ้องต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่เพราะโจทก์แสดงความประสงค์โดยชัดแจ้งที่จะยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานกลาง การพิจารณาคดีที่ศาลแรงงานกลางเป็นการสะดวกแก่ทุกฝ่าย พฤติการณ์ที่ศาลแรงงานกลางใช้ดุลพินิจรับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณา ตลอดจนมีการสืบพยานโจทก์จำเลยจนครบถ้วน ทั้งคู่ความก็เดินทางมาศาลได้โดยสะดวก ถือได้ว่าศาลแรงงานกลางอนุญาตให้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ต่อศาลแรงงานกลาง คำสั่งจำเลยที่ 339/2546 ระบุรายละเอียดเพียงว่าโจทก์มีหน้าที่โดยตรงในการควบคุมดูแลเรื่องการเบิกจ่ายเงิน แต่โจทก์ไม่ตรวจสอบหลักฐานเอกสารประกอบการเบิกจ่ายเงิน รวมทั้งมีพฤติการณ์ลงลายมือชื่อในเช็คสั่งจ่ายเงินโดยไม่มีเอกสารประกอบ ไม่ติดตามตรวจสอบเอกสารหลังจากการเบิกจ่ายเงินเท่านั้น การทุจริตของนางสาวลัขษณามิใช่เกิดจากความบกพร่องของโจทก์ฝ่ายเดียว แต่เกิดจากระบบการดำเนินงานของจำเลยโดยผู้รับผิดชอบด้านบัญชีหรือการเงินมักไม่ได้เรียนมาโดยตรง การอบรมตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานมีระยะเวลาสั้นจึงไม่สามารถเข้าใจงานด้านบัญชีและการเงิน เมื่อพิเคราะห์ประกอบพฤติการณ์ของโจทก์และจำเลยจากข้อเท็จจริงข้างต้น การกระทำของโจทก์เป็นเพียงความประมาทเลินเล่อธรรมดาเท่านั้น ยังไม่ถึงกับเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การกระทำของโจทก์เป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์สรุปได้ว่า การที่โจทก์อนุมัติทางการเงินหรือสั่งจ่ายเช็คโดยไม่ได้ตรวจสอบลายมือชื่อโจทก์ในใบสั่งจ่าย บันทึกอนุมัติค่าใช้จ่ายและเอกสารประกอบการเบิกจ่ายให้รอบคอบ เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ยึดถือระเบียบแบบแผนของทางราชการ ระเบียบคำสั่งของจำเลย และกระทรวงการคลัง เป็นเหตุให้นางสาวลัขษณาทุจริตยักยอกเงินของสำนักงานภาคกลางเขต 6 (สภก.6) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปเป็นจำนวนมากถึง 1,158,406.50 บาท จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เห็นว่า โจทก์เป็นพนักงานของจำเลย ตำแหน่งผู้อำนวยการ สภก.6 มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบการดำเนินงานของสำนักงาน บริหารจัดการในสำนักงานให้เกิดความเรียบร้อย เกิดประสิทธิภาพประสิทธิผลสูงสุดตามคำสั่งจำเลยที่ 176/2542 การที่โจทก์ไม่ตรวจสอบลายมือชื่อโจทก์ในใบสั่งจ่าย บันทึกอนุมัติค่าใช้จ่าย เอกสารประกอบการเบิกจ่ายต่าง ๆ โดยเฉพาะในส่วนที่โจทก์มาทำงานในวันหยุดว่าโจทก์มาทำงานในวันหยุดด้วยหรือไม่ และโจทก์ไม่ตรวจสอบเอกสารการเบิกจ่ายให้รอบคอบ ทำให้เกิดความเสียหายจากการจ่ายเงินโดยไม่มีหลักฐานการเบิกจ่ายและปลอมแปลงหลักฐานประกอบการเบิกจ่ายเงินและเบิกซ้ำ จนทำให้นางสาวลัขษณาผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ซึ่งทำหน้าที่รับผิดชอบการเงินและบัญชีภายใน สภก.6 ทำการทุจริตปลอมลายมือชื่อโจทก์ พนักงานจำเลยและบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้อง ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ย่อมเป็นการกระทำที่ปราศจากความระมัดระวังอย่างร้ายแรงซึ่งโจทก์จักต้องมีในฐานะผู้อำนวยการ สภก.6 ที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบการดำเนินงานของสำนักงาน บริหารจัดการในสำนักงานให้เกิดความเรียบร้อย เกิดประสิทธิภาพประสิทธิผลสูงสุด เนื่องจากหากโจทก์ใช้ความระมัดระวังตรวจสอบลายมือชื่อของตน และตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารประกอบการเบิกจ่ายเงินอย่างละเอียดรอบคอบ โจทก์ต้องพบการกระทำที่มิชอบของนางสาวลัขษณา ผู้ใต้บังคับบัญชา อันจะส่งผลให้นางสาวลัขษณาไม่สามารถทุจริตยักยอกเงินของจำเลยในระหว่างที่โจทก์ดำรงตำแหน่งดังกล่าวเป็นเงินจำนวนมากถึง 921,464.50 บาท พฤติการณ์ของโจทก์เช่นนี้จึงเป็นการกระทำด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงแล้ว การที่จำเลยมีคำสั่งที่ 339/2546 ให้โจทก์รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่จำเลยในอัตราร้อยละ 40 ของค่าเสียหายจากการกระทำประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ดังกล่าว เป็นเงิน 368,585.58 บาท ตามความเห็นของกระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางอันเป็นไปตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 8 ประกอบมาตรา 10 จึงชอบแล้ว ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าการกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นความประมาทเลินเล่อธรรมดาซึ่งไม่ร้ายแรงนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยข้ออื่นอีก เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์