แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องเพียงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการที่เจ้าพนักงานผู้จับได้จับจำเลยเท่านั้น ไม่ได้บรรยายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้นำจับด้วยว่ามีหรือไม่ แม้โจทก์จะมีคำขอท้ายฟ้องให้จ่ายสินบนแก่ผู้นำจับ ศาลก็ไม่อาจสั่งให้จ่ายสินบนนำจับตามคำขอท้ายฟ้องได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 4, 6, 7, 42, 68, 108, 110, และ 115 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8 และ 9 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 และ 91 ริบของกลาง และจ่ายสินบนแก่ผู้นำจับและรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2434 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 7 และ 8 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนในราชอาณาจักรของผู้อื่น ให้ลงโทษปรับ 12,000 บาท ฐานนำพาของที่ยังไม่เสียภาษี ของต้องจำกัดหรือของต้องห้ามหรือของที่ยังไม่ได้ผ่านพิธีการทางศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักร ให้ลงโทษปรับ 5,764 บาท รวมโทษทุกกระทงเป็นปรับ 17,764 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 8,882 บาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 ริบของกลาง จ่ายรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับจากเงินค่าปรับในความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ โดยให้จ่ายตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 5 (2), 6, 7 และ 8 วรรคสอง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ได้มีคำสั่งให้จ่ายสินบนแก่ผู้นำจับตามที่โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องเป็นคำพิพากษาที่ชอบด้วยพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 5 (2), 6, 7, 8 และ 9 หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 4 คำว่า “ผู้นำจับ” หมายความว่า บุคคลผู้มิใช่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งนำความมาแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ทำการจับกุมผู้กระทำความผิด และมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า ผู้นำจับมีสิทธิรับสินบน… ซึ่งเมื่อพิจารณาคำฟ้องของโจทก์แล้วปรากฏว่าโจทก์คงบรรยายเพียงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการที่เจ้าพนักงานผู้จับได้จับจำเลยเท่านั้น แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้นำจับด้วยว่ามีหรือไม่ ซึ่งการจ่ายสินบนตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้จ่ายแก่ผู้นำจับเท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของโจทก์ว่าก่อนการจับจำเลยมีผู้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ทำการจับกุมผู้กระทำความผิด แม้โจทก์จะมีคำขอท้ายฟ้องให้จ่ายสินบนแก่ผู้นำจับตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ศาลก็ไม่อาจสั่งให้จ่ายสินบนนำจับตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ได้ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ได้มีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับคำขอให้จ่ายสินบนแก่ผู้นำจับนั้นยังไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอให้จ่ายสินบนแก่ผู้นำจับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง