คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 678/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาขายลดเช็คเป็นสัญญาต่างตอบแทนประเภทหนึ่งที่ไม่ได้มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะว่ามีลักษณะหรือรูปแบบใดเมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไว้การที่จำเลยที่1ออกเช็คให้ธนาคารและจำเลยที่1ได้รับเงินไปจากธนาคารจึงเป็นการขายลดเช็คตามที่ได้ตกลงกันไว้ได้ ธนาคารโจทก์สาขาส. และสาขาร. ต่างเป็นตัวแทนของโจทก์และตามสัญญาค้ำประกันระบุไว้อย่างชัดแจ้งว่าจำเลยที่2ทำสัญญาค้ำประกันไว้ต่อธนาคารโจทก์เท่านั้นหาได้ระบุไว้แต่อย่างใดว่าเจตนาค้ำประกันหนี้จำเลยที่1ต่อโจทก์สาขาหนึ่งสาขาใดเลยฉะนั้นไม่ว่าจำเลยที่1ผิดสัญญาขายลดเช็คต่อโจทก์สาขาใดก็ตามจำเลยที่2ผู้ค้ำประกันย่อมต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาราชวงศ์ เป็นสาขาธนาคารของโจทก์ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2525 จำเลยที่ 1นำเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาราชวงศ์ 2 ฉบับ คือเช็คเลขที่ 0675131 ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2525 จำนวนเงิน 90,000บาท และเช็คเลขที่ 0675132 ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2525 จำนวนเงิน210,000 บาท มาทำสัญญาขายลดเช็คแก่โจทก์ มีข้อตกลงว่าเมื่อเช็คทั้งสองฉบับถึงกำหนดเรียกเก็บเงินไม่ได้ จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดใช้เงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่เรียกเก็บเงินไม่ได้ โดยมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมไม่เกินวงเงิน 2,000,000 บาท ต่อมาเมื่อเช็คทั้งสองฉบับถึงกำหนดและธนาคารตามเช็คปฎิเสธการจ่ายเงินจำเลยที่ 1 ผ่อนชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 25,928.46 บาท จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในต้นเงิน 294,261.18 บาท พร้อมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง 475,590.16 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน 769,851.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีของต้นเงิน 294,261.18 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มอบเช็คทั้งสองฉบับและรับเงินจากโจทก์ มิใช่เป็นการทำสัญญาขายลดเช็ค เพราะจำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นเพียงผู้สั่งจ่าย มิใช่เป็นผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครองหรือในฐานะผู้รับเงินหรือผู้สลักหลังหรือเป็นผู้ครอบครองตั๋วผู้ถือ จึงไม่ใช่เป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายในอันที่จะนำเช็คทั้งสองฉบับมาขายแก่โจทก์ แต่เป็นเรื่องการแลกเงินสดหรือชำระหนี้ นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ไม่มีนิติสัมพันธ์ใดกับธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาราชวงศ์ ในอันที่จะต้องรับผิดร่วมกับ
จำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 769,851.34บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 294,261.18บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลย ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่าเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2520 จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันการขายลดเช็คของจำเลย ที่ 1 ไว้ต่อธนาคารกรุงเทพ จำกัดเป็นจำนวนเงินไม่เกิน 2,000,000 บาท ต่อมาวันที่ 23 กรกฎาคม2525 จำเลยที่ 1 นำเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาราชวงศ์ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงชื่อสั่งจ่าย 2 ฉบับ เลขที่ 0675131ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2525 จำนวนเงิน 90,000 บาท และเลขที่0675132 ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2525 จำนวนเงิน 210,000 บาทไปมอบให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาราชวงศ์ แล้วรับเงินมาโดยมีข้อตกลงว่า หากเช็คทั้งสองฉบับถึงกำหนดแต่เรียกเก็บเงินไม่ได้จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดใช้เงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ย เมื่อเช็คทั้งสองฉบับดังกล่าวถึงกำหนด ธนาคารตามเช็คปฎิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้น มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ในประการแรกว่า การที่จำเลยที่ 1 นำเช็คที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่ายทั้งสองฉบับโดยลงวันที่เช็คถึงกำหนดไว้ล่วงหน้ามอบแก่ธนาคารแล้วรับเงินมานั้น เป็นการขายลดเช็คหรือไม่ จำเลยที่ 2ฎีกาว่า ผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้นจึงจะขายลดเช็คให้แก่ธนาคารพาณิชย์ได้ แต่จำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่ายเช็คนั้นเอง มิได้เป็นผู้ทรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา904 จึงมิใช่เป็นการขายลดเช็คนั้น ปรากฎว่าเอกสารหมาย จ.3ระบุว่าจำเลยที่ 1 นำเช็คมาขายและได้รับเงินไปแล้ว เห็นว่าสัญญาขายลดเช็คเป็นสัญญาต่างตอบแทนประเภทหนึ่งที่ไม่ได้มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะว่ามีลักษณะหรือรูปแบบใด เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไว้การที่จำเลยที่ 1 ออกเช็คให้ธนาคารและจำเลยที่ 1 ได้รับเงินไปจากธนาคาร จึงเป็นการขายลดเช็คตามที่ได้ตกลงกันไว้ตามเอกสารหมาย จ.3 ได้ ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.6 หรือไม่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 เจตนาค้ำประกันจำเลยที่ 1ต่อโจทก์สาขาสามยอดเท่านั้น แต่จำเลยที่ 1 นำเช็คพิพาทไปขายแก่โจทก์สาขาราชวงศ์ โดยโจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้แจ้งต่อจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดนั้น เห็นว่า ธนาคารโจทก์สาขาสามยอดและสาขาราชวงศ์ ต่างเป็นตัวแทนของโจทก์และตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.6 ระบุไว้อย่างชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 2ทำสัญญาค้ำประกันไว้ต่อธนาคารกรุงเทพ จำกัด คือโจทก์เท่านั้นหาได้ระบุไว้แต่อย่างใดว่าเจตนาค้ำประกันหนี้จำเลยที่ 1ต่อโจทก์สาขาหนึ่งสาขาใดเลย ฉะนั้น ไม่ว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาขายลดเช็คต่อโจทก์สาขาใดก็ตาม จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันย่อมต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน
พิพากษายืน

Share