คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2884/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเลื่อนการขายทอดตลาดออกไปเพื่อที่จำเลยจะได้หาเงินมาชำระให้แก่โจทก์นั้น มิใช่กรณีที่จำเลยอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ที่ถูกยึดโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายอย่างใด จึงนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสองมาใช้บังคับไม่ได้ เพราะมาตราดังกล่าวเป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ดังนั้น เมื่อจำเลยขอเลื่อนการขายทอดตลาด ภายหลังศาลชั้นต้นได้สั่งอนุญาตให้ขายทรัพย์ที่ยึดไว้นั้นแล้วจึงไม่มีเหตุที่ศาลชั้นต้นจะอนุญาต ปัญหาว่า มีผู้ประมูลซื้อเพียงรายเดียวและซื้อในราคาที่ต่ำกว่าราคาจริง ขอให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนนั้น เมื่อมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้น เพิ่งยกขึ้นมาว่ากล่าวในชั้นฎีกา ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยให้ไม่ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจาก เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการขายทอดตลาดบ้านเลขที่ 22/1 หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านชี อำเภอบ้านหมี่จังหวัดลพบุรีของจำเลยที่ 1 เพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขายในราคา 10,000 บาท จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องในวันเดียวกันนั้น ขอให้เลื่อนการขายทอดตลาดทรัพย์ไปศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเลื่อนการขายทอดตลาดออกไป เพื่อที่จำเลยที่ 1 จะได้หาเงินมาชำระให้แก่โจทก์นั้น จำเลยที่ 1 ไม่ได้อ้างว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ที่ถูกยึดโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายอย่างใดจึงไม่มีปัญหาที่ศาลชั้นต้นจะวินิจฉัยให้ คดีคงมีปัญหาเพียงประการเดียวว่า จะให้เลื่อนการขายทอดตลาดออกไปตามคำร้องของจำเลยที่ 1 หรือไม่เท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1ขอเลื่อนการขายทอดตลาด ภายหลังศาลชั้นต้นได้สั่งอนุญาตให้ขายทรัพย์ที่ยึดไว้นั้นแล้ว จึงไม่มีเหตุที่ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้เลื่อน เพราะการขายทอดตลาดเสร็จสิ้นไปแล้ว ที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่อนุญาตและให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 1 จึงชอบแล้ว ที่จำเลยที่ 1ฎีกาอ้างมาตรา 296 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับในเรื่องนี้นั้น เห็นว่า มาตราดังกล่าวเป็นบทบัญญัติในเรื่องที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดี โดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติกฎหมายเมื่อคำร้องของจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติกฎหมายอย่างใดจึงนำมาตรา 296 วรรคสอง มาใช้บังคับในคดีนี้ไม่ได้ และไม่มีเหตุที่ศาลชั้นต้นจะต้องทำการไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 1 ด้วย การที่ศาลชั้นต้นไม่ทำการไต่สวนจึงชอบแล้วที่จำเลยที่ 1 ฎีกาอ้างว่ามีผู้ประมูลซื้อเพียงรายเดียวและซื้อในราคาที่ต่ำกว่าราคาจริง จึงขอให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนนั้น เห็นว่าปัญหาดังกล่าวจำเลยที่ 1มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในคำร้องฉบับลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2529ซึ่งยื่นต่อศาลชั้นต้น เพิ่งยกขึ้นมาว่ากล่าวในชั้นฎีกา ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยให้ไม่ได้ ฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share