คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4280/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยหรือสูญหาย ให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทนเป็นรายเดือนให้แก่ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตามมาตรา 20…” และมาตรา 24 บัญญัติว่า “การจ่ายค่าทดแทนตามมาตรา 18 หรือมาตรา 19 นายจ้างและลูกจ้าง หรือผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 แล้วแต่กรณี จะตกลงกันจ่ายค่าทดแทนในคราวเดียวเต็มจำนวนหรือเป็นระยะเวลาอย่างอื่นก็ได้” จากบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวมุ่งประสงค์ให้ผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 ได้รับค่าทดแทนเป็นรายเดือน เพื่อให้มีเงินช่วยเหลือในการดำรงชีวิตในระยะยาว การจ่ายค่าทดแทนในคราวเดียวเต็มจำนวนหรือเป็นระยะเวลาอย่างอื่นนั้น จะทำได้ต้องเกิดจากการตกลงกันระหว่างนายจ้างหรือสำนักงานประกันสังคมกับลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 24 เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้พิจารณาตกลงอนุมัติให้จ่ายค่าทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองคราวเดียว แต่กลับปรากฏว่าจำเลยโดยสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 11 และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนมีคำวินิจฉัยให้จ่ายค่าทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองเป็นรายเดือน ตามมาตรา 18 (4) จึงเท่ากับว่าจำเลยไม่ประสงค์จะตกลงกับโจทก์ทั้งสองในการจ่ายค่าทดแทนในคราวเดียวเต็มจำนวนแก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงไม่สามารถขอให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนในคราวเดียวเต็มจำนวนได้ตามมาตรา 24 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนคราวเดียวบางส่วนจึงเป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยที่ 10/2554 ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2554 ข้อ 4 และให้บังคับจำเลยจ่ายค่าทดแทนตามสิทธิแก่โจทก์ทั้งสองในคราวเดียวเต็มจำนวน
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้แก้ไขคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนที่ 10/2554 เป็นให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนคราวเดียวจำนวน 550,000 บาท ส่วนที่เหลือให้จ่ายเป็นรายเดือน เดือนละ 9,576 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง นอกนั้นคงไว้ตามเดิม คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 2 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ดำเนินคดีแทนและโจทก์ทั้งสองเป็นสามีภริยากันจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย นายบุญกอง เป็นบุตรของโจทก์ทั้งสองและเป็นลูกจ้างของบริษัทร่วมถาวรขนส่ง (2002) จำกัด ทำงานในตำแหน่งพนักงานขับรถเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2554 เวลาประมาณ 6 นาฬิกา ขณะนายบุญกองขับรถไปส่งสินค้าที่จังหวัดชุมพรตามคำสั่งของนายจ้าง รถเสียหลักตกถนนชนต้นไม้ข้างทางได้รับอันตรายสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมา โจทก์ทั้งสองและนางสาวจริยา บุตรของนายบุญกองยื่นขอรับเงินทดแทนต่อสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 11 สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 11 มีคำวินิจฉัยว่าการเสียชีวิตของนายบุญกองลูกจ้างเกิดเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างมีสิทธิได้รับค่าทดแทนตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 18 (4) กรณีลูกจ้างถึงแก่ความตาย ร่วมกันเดือนละ 9,576 บาท เป็นเวลา 8 ปี โดยให้รับเงินดังกล่าวเป็นรายเดือนโจทก์ทั้งสองไม่พอใจจึงอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ขอให้จ่ายค่าทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองคราวเดียวเต็มจำนวน เนื่องจากโจทก์ทั้งสองจะนำค่าทดแทนไปเป็นค่าใช้จ่ายในการปลูกบ้านซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการยังไม่แล้วเสร็จและนำไปซื้อเครื่องมือการเกษตรรถไถนา ซึ่งโจทก์ทั้งสองจำเป็นต้องใช้ในการประกอบอาชีพ คณะอนุกรรมการพิจารณาเงินทดแทน (กรณีทั่วไป) พิจารณาแล้วเห็นว่านางสาวจริยา ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนกรณีนายบุญกองเสียชีวิตไม่ได้ให้ความยินยอมในการจ่ายค่าทดแทนคราวเดียวเต็มจำนวน โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนคราวเดียวเต็มจำนวนตามมติที่ประชุมครั้งที่ 12 ลงวันที่ 29 กันยายน 2554 ต่อมาคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองแล้วเห็นว่า นางสาวจริยามีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์และไม่ได้ศึกษาอยู่ในระดับที่ไม่สูงกว่าปริญญาตรีก่อนที่จะมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ จึงพ้นจากการเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนตามมาตรา 20 (3) ไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนที่เหลือต่อไปและเห็นว่าการจ่ายค่าทดแทนคราวเดียวเต็มจำนวนไม่ปรากฏเหตุผลความจำเป็นที่จะจ่ายได้ แล้ววินิจฉัยว่า ปัจจุบันโจทก์ที่ 1 อายุ 69 ปี และโจทก์ที่ 2 อายุ 68 ปี ถือว่าทั้งสองคนมีอายุมากแล้วและยังต้องประกอบอาชีพทำนาเพื่อหาเลี้ยงชีพย่อมเป็นการยากที่จะใช้แรงงานเพื่อการดังกล่าวได้โดยตรง จำเป็นต้องใช้เครื่องมือในการเกษตรหรือรถไถนาเพื่อช่วยทุ่นแรงในการทำนา ถือได้ว่ารถไถนาเป็นความจำเป็นแก่การประกอบอาชีพของโจทก์ทั้งสอง และโจทก์ทั้งสองยืนยันว่าบ้านที่มีอยู่เดิมทรุดโทรมไม่เหมาะแก่การอยู่อาศัยจำเป็นต้องสร้างขึ้นมาใหม่ ซึ่งพิจารณาตามรูปถ่าย ซึ่งเป็นฉบับเดียวกับรูปถ่ายจะเห็นได้ว่าบ้านอยู่ระหว่างการก่อสร้างมีลักษณะชั้นเดียว เมื่อโจทก์แถลงยืนยันว่าเงินค่าก่อสร้างบ้านประมาณ 150,000 บาท และเครื่องมือทำกินซึ่งเป็นรถไถนา ราคาประมาณ 400,000 บาท โจทก์ทั้งสองจึงมีความจำเป็นในการขอรับค่าทดแทนเพื่อใช้ในการปลูกบ้านซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการยังไม่แล้วเสร็จและนำไปซื้อรถไถนาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการทำนาต่อไปรวมจำนวน 550,000 บาท จึงเห็นสมควรให้โจทก์ทั้งสองได้รับเงินจำนวนดังกล่าวคราวเดียวเต็มจำนวนได้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนคราวเดียวจำนวน 550,000 บาท ส่วนที่เหลือให้จ่ายเป็นรายเดือน เดือนละ 9,576 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์ทั้งสองชอบหรือไม่ นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยหรือสูญหาย ให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทนเป็นรายเดือนให้แก่ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 แล้วแต่กรณี ดังต่อไปนี้ …(4) ร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน สำหรับกรณีที่ลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหายมีกำหนดแปดปี” มาตรา 20 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตายหรือสูญหายให้บุคคลดังต่อไปนี้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากนายจ้าง (1) บิดา มารดา …” และมาตรา 24 บัญญัติว่า “การจ่ายค่าทดแทนตามมาตรา 18 หรือมาตรา 19 นายจ้างและลูกจ้าง หรือผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 แล้วแต่กรณี จะตกลงกันจ่ายค่าทดแทนในคราวเดียวเต็มจำนวนหรือเป็นระยะเวลาอย่างอื่นก็ได้” จากบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวมุ่งประสงค์ให้ผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 ได้รับค่าทดแทนเป็นรายเดือน เพื่อให้มีเงินช่วยเหลือในการดำรงชีวิตในระยะยาวการจ่ายค่าทดแทนในคราวเดียวเต็มจำนวนหรือเป็นระยะเวลาอย่างอื่นนั้น จะทำได้ต้องเกิดจากการตกลงกันระหว่างนายจ้างหรือสำนักงานประกันสังคม กับลูกจ้าง หรือผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 24 เมื่อคดีของโจทก์ทั้งสองไม่ปรากฏว่าจำเลยได้พิจารณาตกลงอนุมัติให้จ่ายค่าทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองคราวเดียว แต่กลับปรากฏว่าจำเลยโดยสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 11 และคณะกรรมการกองทุนค่าทดแทนมีคำวินิจฉัยให้จ่ายค่าทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองเป็นรายเดือนตามมาตรา 18 (4) จึงเท่ากับว่า จำเลยไม่ประสงค์จะตกลงกับโจทก์ทั้งสองในการจ่ายค่าทดแทนในคราวเดียวเต็มจำนวนแก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์จึงไม่สามารถขอให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนในคราวเดียวเต็มจำนวนได้ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 24 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนคราวเดียวบางส่วนจึงเป็นการไม่ชอบ อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น คดีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ประการอื่นของจำเลยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง

Share