คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2675/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

นายจ้างขออนุญาตศาลแรงงานให้เลิกจ้างกรรมการลูกจ้างศาลแรงงานมีคำสั่งอนุญาต คดีถึงที่สุด แล้วต่อมาลูกจ้างร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ว่าการเลิกจ้างดังกล่าวเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ดังนี้ แม้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จะมีคำสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานก็ไม่มีผลบังคับเพราะไม่มีอำนาจวินิจฉัยได้ทั้งนี้เนื่องจากมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ ได้ให้อำนาจศาลแรงงานที่จะอนุญาตให้นายจ้างเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างไม่ว่าจะเป็นกรณีใดๆ ฉะนั้น เมื่อนายจ้างเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างตามที่ศาลแรงงานอนุญาตแล้ว จึงหาเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมแต่อย่างใดไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานกลางขออนุญาตเลิกจ้างลูกจ้างของโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้าง โดยอ้างว่า คนงานของโจทก์มีจำนวนมากกว่าปริมาณของงานโจทก์มีความจำเป็นต้องลดจำนวนลูกจ้างเพื่อลดต้นทุนการผลิต ศาลได้ทำการไต่สวนพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายแล้ว ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เลิกจ้างโดยให้จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายคดีถึงที่สุดโดยไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์ โจทก์ได้บอกเลิกจ้างและลูกจ้างมิได้โต้แย้งและได้รับเงินค่าชดเชยจากโจทก์ไปแล้ว ต่อมาลูกจ้างได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์กล่าวหาว่าโจทก์กระทำการอันไม่เป็นธรรมโดยเลิกจ้างเพราะเหตุที่ (1) ลูกจ้างเป็นสมาชิกและเป็นกรรมการสหภาพฯ (2) เป็นการเลิกจ้างในขณะที่ข้อตกลงและคำชี้ขาดของคณะกรรมการยังมีผลใช้บังคับอยู่(3) ฝ่าฝืนข้อตกลงร่วมกัน ขอให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์วินิจฉัยชี้ขาดสั่งให้โจทก์รับกลับเข้าทำงานและจ่ายค่าเสียหาย จำเลยทั้งหมดในฐานะที่เป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งให้โจทก์รับลูกจ้างกลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างที่ไม่ต่ำกว่าเดิมหรือมิฉะนั้นให้โจทก์จ่ายเงินค่าเสียหาย ให้โจทก์ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ภายใน 10 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง โจทก์เห็นว่าการพิจารณาวินิจฉัยและคำสั่งของจำเลยนั้นกระทำไปโดยไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้มีคำสั่งว่าคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอให้เพิกถอนคำสั่งนั้นเสีย

จำเลยให้การว่าคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชอบแล้วเพราะโจทก์เลิกจ้างลูกจ้างในระหว่างที่คำชี้ขาดของคณะผู้ชี้ขาดมีผลใช้บังคับอยู่ทั้งลูกจ้างมีตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารของสหภาพ เป็นกรรมการลูกจ้าง ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ การที่โจทก์อ้างเหตุในการเลิกจ้างว่าเป็นการปรับปรุงระบบงานเพื่อลดต้นทุนการผลิต มิได้เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของลูกจ้างประการใด ส่วนการที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้โจทก์เลิกจ้างลูกจ้างนั้น เป็นแต่เพียงขั้นตอนที่พระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติไว้เพื่อมุ่งประสงค์ในการคุ้มครองการทำงานของคณะกรรมการลูกจ้างมิให้ถูกนายจ้างกลั่นแกล้งเพราะเหตุที่ปฏิบัติงานในฐานะลูกจ้างเท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ลูกจ้างของโจทก์ได้รับความคุ้มครองของกฎหมายในฐานะกรรมการสหภาพแรงงาน จึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯมาตรา 52 บัญญัติอยู่ในหมวด 5 ว่าด้วยคณะกรรมการลูกจ้าง เป็นบทบัญญัติคุ้มครองสิทธิของกรรมการลูกจ้าง เพื่อมิให้นายจ้างกระทำการใด ๆ ที่บัญญัติไว้เป็นผลเสียหายแก่กรรมการลูกจ้าง แต่ก็มิใช่จะห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างหรือกระทำการใด ๆ ตามที่บัญญัตินั้นเสียทีเดียว หากนายจ้างจะกระทำแก่ลูกจ้างตามมาตรา 52จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงาน การที่นายจ้างจะขอให้ศาลแรงงานอนุญาตให้นายจ้างเลิกจ้างหรือกระทำการใดตามมาตรา 52 นั้น นายจ้างจะอ้างเหตุใด ๆจะอยู่ในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง หรือคำชี้ขาดมีผลใช้บังคับหรือไม่ก็ตาม ศาลแรงงานก็มีอำนาจที่จะอนุญาตให้นายจ้างเลิกจ้างหรือกระทำการใด ๆ ได้ตามมาตรา 52 โดยคำนึงถึงเหตุผลโดยทั่วไปว่ามีเหตุสมควรที่จะให้นายจ้างเลิกจ้างหรือกระทำการใดตามมาตรา 52 นั้น หรือไม่ ส่วนมาตรา 123 บัญญัติไว้ในหมวด 9ว่าด้วยการกระทำอันไม่เป็นธรรม เป็นบทบัญญัติไว้เฉพาะ ในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือคำชี้ขาดมีผลใช้บังคับห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้าง ลูกจ้างผู้แทนลูกจ้าง กรรมการ อนุกรรมการ หรือสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือกรรมการหรืออนุกรรมการสหพันธ์แรงงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง เว้นแต่บุคคลดังกล่าวจะกระทำการตามข้อยกเว้น ถ้านายจ้างเห็นว่าบุคคลนั้นกระทำการตามข้อยกเว้นนายจ้างก็มีสิทธิเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องขออนุญาตต่อศาลแรงงาน หากบุคคลดังกล่าวเห็นว่าการที่นายจ้างเลิกจ้างเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมก็มีสิทธิร้องให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชี้ขาดได้ แต่กรณีที่ศาลแรงงานอนุญาตให้นายจ้างเลิกจ้างหรือกระทำการใด ๆ ตามมาตรา 52 เป็นบทบัญญัติให้อำนาจศาลแรงงานที่จะอนุญาตให้นายจ้างเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างไม่ว่ากรณีใด ๆ เมื่อนายจ้างเลิกจ้างหรือกระทำการใด ๆ แก่กรรมการลูกจ้างตามที่ศาลแรงงานอนุญาตในมาตรา 52 แล้วจึงไม่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 9 และมิใช่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 121, 122 หรือ 123 ลูกจ้างที่ถูกนายจ้างเลิกจ้างตามที่ศาลแรงงานอนุญาตในมาตรา 52 ไม่อาจยื่นคำร้องกล่าวหานายจ้างต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 124 ได้ คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จึงไม่มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดการที่โจทก์เลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างโดยได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานตามมาตรา 52

พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์

Share