แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ได้ยื่นคำร้องกล่าวหาจำเลยต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เมื่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้วินิจฉัยชี้ขาด และออกคำสั่งตามมาตรา 125 ประกอบด้วยมาตรา 41(4) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 แล้ว กฎหมายมิได้บัญญัติว่าให้คำวินิจฉัยนั้นเป็นที่สุดหรือให้อุทธรณ์ ต่อผู้ใดอีก ดังนั้น แม้โจทก์จะมิได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการ แรงงานสัมพันธ์ ตาม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 8(4) แต่กลับมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ จะถือว่าโจทก์ ดำเนินคดีโดยไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาไม่ได้ เพราะแปลได้ว่าโจทก์ฟ้องตาม มาตรา 8(2) โดยได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในวรรคท้ายแล้ว
ย่อยาว
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณา โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “สำหรับข้อ 1 นั้น ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้โจทก์ต้องร้องเรียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการอย่างใดก่อนที่จะดำเนินการในศาลแรงงาน โจทก์จึงฟ้องจำเลยเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวได้โดยไม่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 8 วรรคท้าย ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 137/2524 ระหว่าง นางพรทิพย์ พราหมะนันท์ กับพวกโจทก์ บริษัทอัมรินทร์บางกอก จำกัด จำเลย
ส่วนข้ออ้างข้อ 2 นั้นเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ดังที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 8(2) ซึ่งโจทก์ได้ปฏิบัติตามวรรคท้ายแห่งมาตราดังกล่าวแล้วโดยได้ยื่นคำร้องกล่าวหาจำเลยต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ เมื่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดและออกคำสั่งตามมาตรา 125 ประกอบด้วยมาตรา 81(4) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 แล้ว กฎหมายก็มิได้บัญญัติว่าให้คำวินิจฉัยนั้นเป็นที่สุดหรือให้อุทธรณ์ต่อผู้ใดอีก ดังนั้น แม้โจทก์จะมิได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 8(4) ดังที่ศาลแรงงานกลางกล่าวในคำสั่งไม่รับฟ้อง แต่กลับมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ก็ยังถือว่าโจทก์ดำเนินคดีโดยไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาไม่ได้ เพราะแปลได้ว่าโจทก์ฟ้องตามมาตรา 8(2) โดยได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในวรรคท้ายแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่เห็นพ้องด้วยคำสั่งของศาลแรงงานกลาง อุทธรณ์โจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้รับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาต่อไป”