คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7452/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ฟ้องโจทก์เป็นเรื่องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินที่อ้างว่าจำเลยที่ 1กับ จ. ลูกหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาได้สมคบกันโอนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3ซึ่งเป็นบุตรโดยเสน่หา อันเป็นทางให้โจทก์เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของ จ. เสียเปรียบกรณีจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 237 แล้ว ซึ่งการฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนดังกล่าว โจทก์จะต้องฟ้องลูกหนี้คือ จ. เข้ามาในคดีด้วย ศาลจึงจะมีอำนาจพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนได้แม้เฉพาะส่วนของ จ. ก็ตาม นอกจากนี้ตามคำฟ้องของโจทก์ก็มิได้บรรยายไว้เลยว่าหนี้ที่ จ. เป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งทั้งสามคดีตามฟ้องนั้นเป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยที่ 1กับ จ. ซึ่งเป็นสามีภริยากันตามที่ได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490(1) ถึง (4) อันจำเลยที่ 1จะต้องรับผิดในหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งทั้งสามคดีร่วมกับ จ. ซึ่งจะมีผลให้จำเลยที่ 1 อยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้โจทก์ด้วย ดังนี้ เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องลูกหนี้คือ จ. เข้ามาในคดีประการหนึ่ง และจำเลยที่ 1 มิได้อยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้โจทก์ที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์อีกประการหนึ่ง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินตามฟ้องระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กับนางจวน จักรเวช เป็นสามีภริยากัน โจทก์เป็นเจ้าหนี้ของนางจวนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 4502 ตำบลจอมบึง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างและที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 503 ตำบลจอมบึง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับนางจวน เมื่อวันที่ 25 และ 26 เมษายน2537 จำเลยที่ 1 กับนางจวนได้สมคบกันโอนที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรโดยเสน่หา อันเป็นการฉ้อฉลเพื่อมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ โดยจำเลยทั้งสามรู้อยู่แล้วว่านางจวนเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาดังกล่าวและไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้ ทั้งไม่มีทรัพย์สินอื่นจะพึงยึดหรืออายัดมาชำระหนี้โจทก์ได้ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์เพิ่งรู้ว่าจำเลยทั้งสามกับนางจวนทำการฉ้อฉล เมื่อโจทก์ไปตรวจสอบทรัพย์สินของนางจวนที่สำนักงานที่ดินจังหวัดราชบุรีและสำนักงานที่ดินอำเภอจอมบึงเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2539 ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 และที่ 3โอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 503ตำบลจอมบึง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี และที่ดินตามโฉนดเลขที่ 4502ตำบลจอมบึง อำเภอจอมบึงจังหวัดราชบุรี ให้แก่จำเลยที่ 1 หากจำเลยทั้งสามไม่ไปให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา

จำเลยทั้งสามให้การว่า ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 4502 ตำบลจอมบึงอำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 503 ตำบลจอมบึง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี เป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ใช้เงินซึ่งเป็นสินส่วนตัวซื้อมาก่อนที่จะสมรสกับนางจวน จักรเวช ขณะที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้น จำเลยทั้งสามไม่ทราบว่านางจวนเป็นหนี้โจทก์เพราะโจทก์ไม่เคยแจ้งให้จำเลยทั้งสามทราบว่านางจวนไปค้ำประกันนางฉวีวรรณ อรรถศิริโพธิ์ ทั้งโจทก์ยังมิได้ฟ้องหรือแจ้งว่าจะฟ้องนางจวนและการที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็เป็นความตั้งใจของจำเลยที่ 1 นานแล้วที่จะจัดการเกี่ยวกับทรัพย์ให้เรียบร้อยก่อนที่จำเลยที่ 1 จะถึงแก่ความตาย จึงเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต ทั้งไม่ได้ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่ได้รับชำระหนี้เพราะนางจวนยังมีทรัพย์สินอื่นเพียงพอที่จะชำระหนี้โจทก์ได้ครบถ้วน ซึ่งโจทก์ก็ทราบและได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปทำการยึดที่ดินของนางจวนจำนวน 2 แปลงคือที่ดินโฉนดเลขที่ 503 และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) เลขที่ 486/155 ตำบลจอมบึง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรีมีราคารวมกันประมาณ 6,000,000 บาท ไว้ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1647/2537 ของศาลชั้นต้นจึงเพียงพอที่จะชำระหนี้โจทก์ทั้งสามคดีตามฟ้องได้ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เนื่องจากไม่บรรยายให้ทราบว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามทำให้โจทก์เสียเปรียบและเสียหายอย่างไรทำให้จำเลยทั้งสามไม่สามารถเข้าใจข้อหาและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ถูกต้อง และโจทก์ทราบถึงการที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2538 ไม่ใช่เพิ่งทราบเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2539 ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้จึงเกินกว่า1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ทราบถึงการที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2และที่ 3 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกามีใจความสำคัญว่า การฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ที่จะต้องฟ้องลูกหนี้คือนางจวน จักรเวช เข้ามาในคดีด้วยนั้น จะต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้คือนางจวนได้โอนทรัพย์สินของตนเองให้แก่บุคคลอื่น เพื่อผลของคำพิพากษาจะได้โอนทรัพย์สินคืนแก่ลูกหนี้คือนางจวน แต่ในคดีนี้ลูกหนี้คือนางจวนมิได้โอนทรัพย์สินของตนเองให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 หากแต่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีนางจวนได้โอนทรัพย์สินคือที่ดินทั้งสองแปลงตามฟ้องให้แก่จำเลยที่ 2และที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 1 กับนางจวนโจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้โอนกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้รับโอนได้ เมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอนก็สามารถโอนที่ดินทั้งสองแปลงตามฟ้องคืนแก่จำเลยที่ 1 ได้เพราะมิได้คืนแก่นางจวนโจทก์จึงไม่ต้องฟ้องนางจวนเข้ามาในคดีด้วย เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องความว่า จำเลยที่ 1 กับนางจวน จักรเวช เป็นสามีภริยากัน โจทก์เป็นเจ้าหนี้ของนางจวนตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1582/2537, 1647/2537 และ1648/2537 ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 4502 ตำบลจอมบึง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างและที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 503 ตำบลจอมบึง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับนางจวน เมื่อวันที่ 25 และ 26 เมษายน2537 จำเลยที่ 1 กับนางจวนได้สมคบกันโอนที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรโดยเสน่หา อันเป็นการฉ้อฉลเพื่อมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ โดยจำเลยทั้งสามรู้อยู่แล้วว่านางจวนเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาดังกล่าวและไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้ ทั้งไม่มีทรัพย์สินอื่นจะพึงยึดหรืออายัดมาชำระหนี้โจทก์ได้ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโจทก์เพิ่งรู้ว่าจำเลยทั้งสามกับนางจวนทำการฉ้อฉล เมื่อโจทก์ไปตรวจสอบทรัพย์สินของนางจวนที่สำนักงานที่ดินจังหวัดราชบุรีและสำนักงานที่ดินอำเภอจอมบึงเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2539 ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 และที่ 3 โอนที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 เมื่อพิจารณาคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวแล้วกรณีเป็นที่เห็นได้ว่า ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินทั้งสองแปลงตามฟ้องที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 กับนางจวนลูกหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาได้สมคบกันโอนให้แก่จำเลยที่ 2และที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรโดยเสน่หา อันเป็นทางให้โจทก์เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของนางจวนเสียเปรียบ กรณีจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 237 แล้วซึ่งการฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนตามมาตรา 237ดังกล่าว โจทก์จะต้องฟ้องลูกหนี้คือนางจวนเข้ามาในคดีด้วย ศาลจึงจะมีอำนาจพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนได้แม้เฉพาะส่วนของนางจวนก็ตาม นอกจากนี้ตามคำฟ้องของโจทก์ก็มิได้บรรยายไว้เลยว่าหนี้ที่นางจวนเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งทั้งสามคดีตามฟ้องนั้นเป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยที่ 1 กับนางจวนซึ่งเป็นสามีภริยากันตามที่ได้บัญญัติไว้ในลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1490(1) ถึง (4) อันจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดในหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งทั้งสามคดีร่วมกับนางจวน ซึ่งจะมีผลให้จำเลยที่ 1 อยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้โจทก์ด้วย ดังนี้ เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องลูกหนี้คือนางจวนเข้ามาในคดีประการหนึ่ง และจำเลยที่ 1 มิได้อยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้โจทก์ที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์อีกประการหนึ่ง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินทั้งสองแปลงตามฟ้องระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2และที่ 3 ได้ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้าง ศาลก็มีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5) กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยข้ออ้างประการอื่น ๆ ในฎีกาของโจทก์เพราะไม่ทำให้ผลของคำวินิจฉัยเปลี่ยนแปลง คำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างมาในฎีกาข้อเท็จจริงแห่งคดีไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share