แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
มูลหนี้ที่โจทก์แต่ละคนฟ้องเรียกเงินจากจำเลยตามสัญญาเล่นแชร์ที่โจทก์แต่ละคนและจำเลยต่างร่วมเล่นแชร์ด้วยกันโดย มีฉ. เป็นนายวงแชร์ เป็นมูลหนี้ที่แยกต่างหากจากกันได้คือจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์แต่ละคนคนละ 9,510 บาท โจทก์ทั้งเก้ามิได้ฟ้องในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้รวมของจำเลย ทุนทรัพย์ในคดีของโจทก์แต่ละคนจึงแยกต่างหากจากกันคนละ 9,510 บาท จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224
ย่อยาว
โจทก์ทั้งเก้าฟ้องว่า โจทก์ทั้งเก้าและจำเลยต่างร่วมเล่นแชร์ด้วยกัน มีนางฉวีวรรณ ศรีสังข์ เป็นนายวงแชร์ เริ่มเล่นเมื่อประมาณเดือนมกราคม 2527 เป็นแชร์รายเดือน มีผู้เช่น 42 หุ้นหุ้นละ 1,000 บาท กำหนดประมูลกันทุกวันสิ้นเดือน เริ่มงวดแรกวันที่ 31 มกราคม 2527 ครบงวดสุดท้ายเดือนมิถุนายน 2530 จำเลยเข้าร่วมเล่นแชร์ดังกล่าวจำนวน 8 หุ้น จำเลยได้ใช้สิทธิประมูลและให้ดอกเบี้ยสูงสุดไปแล้ว 6 หุ้น ครั้งที่ 1 เมื่องวดที่ 3ประจำเดือนมีนาคม 2527 ให้ดอกเบี้ย 416 บาท ครั้งที่ 2เมื่องวดที่ 6 ประจำเดือนมิถุนายน 2527 ให้ดอกเบี้ย 866 บาทครั้งที่ 3 เมื่องวดที่ 12 ประจำเดือนธันวาคม 2527 ให้ดอกเบี้ย575 บาท ครั้งที่ 4 เมื่องวดที่ 13 ประจำเดือนมกราคม 2528 ให้ดอกเบี้ย 427 บาท ครั้งที่ 5 เมื่องวดที่ 19 ประจำเดือนกรกฎาคม2528 ให้ดอกเบี้ย 526 บาท ครั้งที่ 6 เมื่องวดที่ 26ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2529 ให้ดอกเบี้ย 700 บาท โดย จำเลยได้รับเงินหุ้นแชร์ไปจากโจทก์ทั้งเก้าและผู้ร่วมเล่นอื่นครบแล้วทั้ง 6 งวด ต่อมาประมาณเดือนสิงหาคม 2529 นางฉวีวรรณ ศรีสังข์ได้หลบหนีคดีอาญาไป เป็นเหตุให้วงแชร์ล้มและเลิกสัญญาแชร์โจทก์ทั้งเก้าซึ่งยังประมูลแชร์ไม่ได้ จึงทวงถามจำเลยและผู้ร่วมเล่นที่ประมูลได้รับเงินหุ้นแชร์ไปแล้ว ให้ชำระเงินหุ้นแชร์กับดอกเบี้ยดังกล่าวตามสัญญา ซึ่งผู้ร่วมเล่นอื่นยินยอมชำระคืนให้แต่จำเลยปฏิเสธ เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งเก้าได้รับความเสียหายคือ สำหรับงวดที่ 3 เงินต้น 9,000 บาท ดอกเบี้ย 3,744 บาทงวดที่ 6 เงินต้น 9,000 บาท ดอกเบี้ย 7,794 บาท งวดที่ 12เงินต้น 9,000 บาท ดอกเบี้ย 5,175 บาท งวดที่ 13 เงินต้น9,000 บาท ดอกเบี้ย 3,843 บาท งวดที่ 19 เงินต้น 9,000 บาทดอกเบี้ย 4,734 บาท งวดที่ 26 เงินต้น 9,000 บาท ดอกเบี้ย6,300 บาท รวม 6 งวด เป็นเงินต้นแชร์ 54,000 บาท ดอกเบี้ย31,590 บาท รวมเป็นหนี้ที่จำเลยจะต้องชำระให้แก่โจทก์ทั้งเก้าทั้งสิ้น 85,590 บาท จึงขอให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ส่งชำระค่าหุ้นแชร์ให้แก่นางฉวีวรรณ ศรีสังข์ มาโดย ตลอด ไม่มีติดค้าง และยังประมูลไม่ได้อีก 2 หุ้น ซึ่งโจทก์เองมีหน้าที่รับผิดต่อจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 85,590 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง โจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 7ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ทั้งเก้าฟ้องว่าโจทก์ทั้งเก้าและจำเลยต่างร่วมเล่นแชร์ด้วยกัน มีนางฉวีวรรณศรีสังข์ เป็นนายวงแชร์ มีจำนวนผู้ร่วมเล่น 42 หุ้น หุ้นละ1,000 บาท จำเลยเล่นแชร์ดังกล่าว จำนวน 8 หุ้น และได้ใช้สิทธิประมูลไปแล้ว 6 หุ้น โดย ได้รับเงินจากผู้ร่วมเล่นครบแล้วต่อมานางฉวีวรรณหลบหนีไปเป็นเหตุให้วงแชร์ล้ม โจทก์ทั้งเก้ายังประมูลแชร์ไม่ได้ จำเลยจะต้องชำระเงินและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งเก้าทั้งสิ้น 85,590 บาท ดังนั้น มูลหนี้ที่โจทก์แต่ละคนฟ้องเรียกจากจำเลยนั้นแยกต่างหากจากกันคือจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ แต่ละคน คนละ 9,510 บาท โจทก์ทั้งเก้ามิได้ฟ้องในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้ร่วมของจำเลย ทุนทรัพย์ในคดีของโจทก์แต่ละคนจึงแยกต่างหากจากกันคนละ 9,510 บาท คดีจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224ที่จำเลยอุทธรณ์ข้อหนึ่งว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบมาไม่น่าเชื่อถือข้อเท็จจริงจึงน่ารับฟังดังที่จำเลยต่อสู้ ซึ่งศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยว่า พยานโจทก์ที่นำสืบมายังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยต้องรับผิดเงินค่าแชร์ที่ประมูลไปแล้วให้แก่โจทก์ทั้งเก้าตามฟ้อง แล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งเก้า เป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 242(1) เมื่อศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจรับพิจารณาอุทธรณ์ข้อดังกล่าวของจำเลยแล้ว ศาลฎีกาก็พิจารณาข้อฎีกาของโจทก์ต่อไปไม่ได้”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนที่วินิจฉัยข้อเท็จจริงและที่พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งเก้า และให้ยกฎีกาของโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 7 คงให้บังคับไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดให้แก่โจทก์ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ