แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
แม้คดีก่อนศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งว่าที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์และคำสั่งดังกล่าวถึงที่สุด จึงไม่อาจเพิกถอนได้แต่เมื่อโจทก์เป็นบุคคลภายนอกคดีซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ คำสั่งดังกล่าวย่อมไม่ผูกพันโจทก์
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยครอบครองที่พิพาทจนได้กรรมสิทธิ์แล้วโจทก์เรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยไม่ได้ พิพากษายกฟ้องศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า ที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ให้เพิกถอนคำสั่งศาลจังหวัดสมุทรปราการในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 576/2523 ที่สั่งว่าที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย ให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่พิพาทห้ามเกี่ยวข้องอีกให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 500 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากที่พิพาทเสร็จสิ้น จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ปัญหามีว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ ที่พิพาทเป็นที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1261 ตำบลบางพึ่ง (ทรงคนอง)อำเภอเมืองนครเขื่อนขันธ์ (พระประแดง) จังหวัดสมุทรปราการเอกสารหมาย จ.1 เป็นกรรมสิทธิ์ของนายฝอเสงและนายไจ่อี่ บิดาจำเลยนายฝอเสงและบิดาจำเลยได้จดทะเบียนจำนำหลุดเป็นกรรมสิทธิ์ของขุนอุปการราชกิจ (ทัด ฮะสุนเจริญ) เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2466ขุนอุปการราชกิจ ได้จดทะเบียนแบ่งขายให้นางสาวกลิ่น พันธุชาต่อมาวันที่ 20 พฤษภาคม 2468 ขุนอุปการราชกิจ ได้จดทะเบียนขายที่ดินส่วนที่เหลือคือที่พิพาทให้สมิงรามศรี (บุญขัน ศรีเพริศ)บิดาโจทก์ และเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2507 โจทก์ได้โอนรับมรดกของบิดาโจทก์ การที่บิดาจำเลยอยู่ในที่พิพาทมาก็เพราะที่พิพาทเคยเป็นของบิดาจำเลย เมื่อที่พิพาทตกมาเป็นของขุนอุปการราชกิจและบิดาโจทก์บิดาจำเลยก็อยู่ในที่พิพาทโดยอาศัยสิทธิของขุนอุปการราชกิจและบิดาโจทก์ บิดาจำเลยจึงไม่ได้ครอบครองที่พิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ โจทก์เบิกความว่าบิดาโจทก์ให้บิดาจำเลยเช่าที่พิพาททำสวน ซึ่งเป็นเรื่องราวก่อนโจทก์เกิดส่วนจำเลยเบิกความว่า มารดาจำเลยไม่ทราบตอนบิดาจำเลยนำที่พิพาทไปจำนองไว้กับขุนอุปการราชกิจ เมื่อทราบได้ไปขอไถ่แต่ขุนอุปการราชกิจได้ขายให้บิดาโจทก์ไปแล้ว จึงไปขอไถ่จากบิดาโจทก์ บิดาโจทก์ไม่ยอมให้ไถ่และด่าว่ามารดาจำเลย มารดาจำเลยโกรธหาว่าบิดาโจทก์โกงที่พิพาทไป เรื่องราวตามที่โจทก์จำเลยเบิกความมาดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนโจทก์ จำเลยเกิดทั้งสิ้นพิเคราะห์แล้ว เห็นว่านายฝอเสงและบิดาจำเลยซื้อที่พิพาทมาตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2459 และได้จดทะเบียนจำนำไว้กับนายทัด ฮะสุนเจริญ (ขุนอุปการราชกิจ) ในวันเดียวกันต่อมาวันที่ 7 มกราคม 2463 ก็ได้จดทะเบียนขึ้นเงินไว้อีกจนถึงวันที่ 12 สิงหาคม 2464 จึงได้จดทะเบียนที่ดินหลุดเป็นกรรมสิทธิ์ของขุนอุปการราชกิจ วันที่ 1 มิถุนายน 2466ขุนอุปการราชกิจ ก็ได้จดทะเบียนแบ่งขายให้นางสาวกลิ่น พันธุชาและถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2468 ขุนอุปการราชกิจได้จดทะเบียนขายให้บิดาโจทก์เป็นเวลาประมาณ 9 ปี น่าเชื่อว่า มารดาจำเลยต้องได้ทราบเรื่องที่บิดาจำเลยนำที่พิพาทไปจดทะเบียนดังกล่าวจนหลุดเป็นกรรมสิทธิ์ของขุนอุปการราชกิจ การซื้อขายที่พิพาทระหว่างขุนอุปการราชกิจกับบิดาโจทก์เป็นสิทธิที่จะทำได้เมื่อบิดาโจทก์ไม่ยอมให้ไถ่ที่พิพาท ไม่ใช่ความผิดของบิดาโจทก์และไม่มีเหตุผลที่บิดาโจทก์จะต้องไปด่าว่ามารดาจำเลยมารดาจำเลยก็ไม่มีเหตุผลที่จะไปว่าบิดาโจทก์โกงที่ดินคำเบิกความของจำเลย จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง เมื่อที่พิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบิดาโจทก์ บิดาจำเลยยังคงอยู่ในที่พิพาทต่อไปได้ จึงเชื่อได้ว่า ต้องเช่าจากบิดาโจทก์ต่อมาวันที่ 10 ตุลาคม 2486 บิดาโจทก์ยังได้ทำพินัยกรรมยกที่พิพาทให้โจทก์ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.4 และได้ถึงแก่กรรมในปีเดียวกัน โจทก์ได้ขอโอนรับมรดกที่พิพาท เมื่อวันที่ 11พฤษภาคม 2507 และปรากฏว่าในปี พ.ศ. 2517, 2518 และ 2519นายสิงห์โต เมี้ยนทอง นางสารภี กลิ่นจุ้ย และนางฉวีวรรณ กลิ่นจุ้ยเจ้าของที่ดินที่อยู่ติดกับที่พิพาทได้ขอรังวัดที่ดินของตนโจทก์ได้รับแจ้งและไประวังชี้แนวเขตที่พิพาททุกครั้งปรากฏตามเอกสารหมาย จ.5 ถึง จ.10 จ.26 ถึง จ.28 และ จ.35ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้โต้แย้งคัดค้านแต่อย่างใด จำเลยอยู่ในที่พิพาทเบิกความว่าไม่ได้ทราบเรื่องการรังวัดที่ดินดังกล่าวย่อมฟังไม่ขึ้นนอกจากนี้ปรากฏว่าโจทก์ได้แจ้งตามแบบสำรวจเนื้อที่ดินเพื่อเสียภาษีที่พิพาท และเสียภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่พิพาทตลอดมา ปรากฏตามใบเสร็จรับเงินและแบบสำรวจเอกสารหมาย จ.2, จ.3, จ.11, จ.12 ถึง จ.21 และ จ.33และตัวโจทก์ นางบุญยืน ประไพรัตน์ และนายสุกรี เกตุอมรวัฒนาพยานโจทก์เบิกความว่า จำเลยได้เช่าที่พิพาทจากโจทก์แสดงว่าโจทก์ได้ดูแลครอบครองที่พิพาทตลอดมา เมื่อปี พ.ศ. 2523จำเลยได้ยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่พิพาทว่า เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์ และศาลได้มีคำสั่งว่าที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 576/2523 ของศาลชั้นต้นจำเลยได้อ้างแต่เพียงว่า บิดามารดาจำเลยได้ครอบครองที่พิพาทอย่างเป็นเจ้าของ ปี พ.ศ. 2496 บิดาจำเลยถึงแก่กรรมมารดาจำเลยและจำเลยได้ครอบครองต่อมา ต้นปี พ.ศ. 2518มารดาจำเลยถึงแก่กรรม จำเลยก็ได้ครอบครองต่อมาเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่ตรงต่อความเป็นจริง เพราะขณะที่บิดาจำเลยครอบครองที่พิพาทอยู่ ก็ได้จดทะเบียนให้ที่พิพาทหลุดเป็นกรรมสิทธิ์ของขุนอุปการราชกิจ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2464ไม่มีเหตุผลที่แสดงว่าต่อมาบิดาจำเลยได้ครอบครองที่พิพาทอย่างเป็นเจ้าของ และเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2466 ขุนอุปการราชกิจได้แบ่งขายที่พิพาทให้นางสาวกลิ่น พันธุชา ไม่ปรากฏว่าบิดาจำเลยได้โต้แย้งคัดค้านอย่างใด บิดาจำเลยจึงไม่ได้ครอบครองที่พิพาทอย่างเป็นเจ้าของ เมื่อบิดาจำเลยถึงแก่กรรม มารดาจำเลยจะได้ครอบครองที่พิพาทตลอดมา ก็เป็นการครอบครองต่อจากบิดาจำเลยจึงไม่ได้ครอบครองปรปักษ์อย่างเป็นเจ้าของ และไม่ปรากฏว่าบิดามารดาจำเลยและจำเลยได้แสดงเจตนาไปยังเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่พิพาทคนก่อน ๆ ตลอดมาจนถึงโจทก์ว่าได้ครอบครองเพื่อตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381ที่พิพาทจึงไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์จำเลยได้ปกปิดความจริงทำให้ศาลชั้นต้นหลงเชื่อและมีคำสั่งว่าที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตที่พิพาทยังเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งศาลจังหวัดสมุทรปราการในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 576/2523 นั้นเห็นว่า คำสั่งศาลดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ไม่อาจถูกเพิกถอนได้และโจทก์เป็นบุคคลภายนอกคดีซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ คำสั่งดังกล่าวย่อมไม่ผูกพันโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145(2)”
พิพากษายืน แต่ไม่เพิกถอนคำสั่งศาลจังหวัดสมุทรปราการในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 576/2523 ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์ 1,200 บาท