คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 267/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

วัตถุประสงค์ของสหภาพแรงงานนอกจากเพื่อการแสวงหาและคุ้มครองผลประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้างแก่สมาชิกแล้ว ยังต้องส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง และระหว่างลูกจ้างด้วยกันด้วย การที่สหภาพแรงงานธนาคาร ก. และสหภาพแรงงานผู้บังคับบัญชาธนาคาร ก. ทำบันทึกข้อตกลงกับธนาคารจำเลยที่ 1 ก็เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างกับพนักงานลูกจ้าง เนื่องจากจำเลยที่ 1 ประสบภาวะขาดทุน การผ่อนปรน การจ่ายเงินโบนัสเป็นการชั่วคราวอาจจะช่วยพยุงฐานะทางการเงินและอาจเป็นผลให้จำเลยที่ 1สามารถแก้ไขสถานการณ์ในการประกอบกิจการของตนได้ ซึ่งหากผลประกอบกิจการของจำเลยที่ 1 มีกำไร จำเลยที่ 1 ก็สามารถจ่ายเงินโบนัสตามปกติได้ และการที่มีข้อตกลงให้จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายเงินช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษนั้นถือได้ว่าเป็นการคุ้มครองผลประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้างแก่สมาชิกด้วยอันเป็นข้อตกลงที่มีลักษณะยกเลิกสิทธิการได้เงินโบนัสเพียงชั่วคราวเท่านั้น ฉะนั้น เมื่อได้รับมติของที่ประชุมใหญ่สหภาพแรงงานทั้งสองจึงสามารถทำข้อตกลงกับจำเลยที่ 1 ได้โดยชอบด้วยกฎหมายข้อตกลงดังกล่าวจึงมีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานผู้บังคับบัญชาธนาคาร ก. จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องจ่ายโบนัสในช่วงเวลาที่ระบุไว้ในข้อตกลงให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าเงินโบนัสเป็นค่าจ้าง ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเรื่องเงินโบนัสประจำปี 2541 และปี 2542 ตกเป็นโมฆะและให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินโบนัส254,980 บาท แก่โจทก์ ให้ยกเลิกคำสั่งที่ วน. 005/2543 เรื่อง เลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และให้จำเลยที่ 1จ่ายค่าชดเชย 231,800 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 23,180 บาท ค่าเสียหาย 10,237,880.40 บาท แก่โจทก์ และพิพากษาว่าข้อกำหนดเงื่อนไขการไม่จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบเป็นโมฆะ หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบแก่โจทก์เป็นเงิน 67,697.99 บาท

จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ถูกเลิกจ้างเพราะเหตุกระทำความผิดอันถือเป็นการถูกไล่ออกหรือให้ออกตามความในข้อ 10.6 (2) ของข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานบริษัทมหาชนจำกัด ธนาคารกสิกรไทย ซึ่งได้จดทะเบียนแล้ว พ.ศ. 2537 โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบจากจำเลยที่ 2 แต่อย่างใด นอกจากนี้ที่โจทก์ขอให้ศาลพิพากษาว่าเงินโบนัสเป็นค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ ข้อตกลงเรื่องเงินโบนัสประจำปี 2541 และปี 2542 เป็นโมฆะ ให้จำเลยที่ 1 ยกเลิกคำสั่งที่ วน. 005/2543 ซึ่งจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ตลอดจนให้พิพากษาว่าเงื่อนไขการจ่ายเงินสมทบตามข้อบังคับของจำเลยที่ 2 ตกเป็นโมฆะ คำขอของโจทก์ดังกล่าวไม่มีกฎหมายใดสนับสนุนหรือให้อำนาจฟ้องในลักษณะดังกล่าวได้ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ระหว่างที่โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารของจำเลยที่ 1 สาขาสกลนคร ทำหน้าที่อนุมัติและตรวจสอบบัญชีของสาขาควบคุมและอนุมัติค่าใช้จ่ายภายในสาขา โจทก์ได้เบิกเงินค่าเช่าเครื่องถ่ายเอกสารและค่าเครื่องเขียนแบบพิมพ์แล้วนำเงินไปเป็นประโยชน์ส่วนตนโดยทุจริต ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1 ในกรณีร้ายแรง จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ทั้งการเลิกจ้างดังกล่าวไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ส่วนเงินโบนัสประจำปี2541 และปี 2542 นั้น แม้ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างปี 2536 จำเลยที่ 1จะต้องจ่ายเงินโบนัสให้แก่พนักงานทุกคนเป็นเงิน 5.5 เท่าของเงินเดือนก็ตาม แต่ในปี2541 และปี 2542 จำเลยที่ 1 กับสหภาพแรงงานธนาคารกสิกรไทยและสหภาพแรงงานผู้บังคับบัญชาธนาคารกสิกรไทย ได้ทำบันทึกตกลงกันว่าจำเลยที่ 1 ไม่ต้องจ่ายเงินโบนัสตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างปี 2536 ให้แก่พนักงานเนื่องจากจำเลยที่ 1 ประสบภาวะการขาดทุน บันทึกข้อตกลงดังกล่าวมีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ค้างจ่ายเงินโบนัสแก่โจทก์ สำหรับเงินสมทบและผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสมทบนั้นเนื่องจากโจทก์พ้นสภาพจากการเป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 เพราะเหตุถูกไล่ออกหรือให้ออก จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบให้แก่โจทก์ พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ ข้อ 4ของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ค้างจ่ายเงินโบนัสประจำปี 2541 และปี 2542 แก่โจทก์หรือไม่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2541 จำเลยที่ 1 กับสหภาพแรงงานธนาคารกสิกรไทยและสหภาพแรงงานผู้บังคับบัญชาธนาคารกสิกรไทยได้ทำบันทึกข้อตกลงความว่า เนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่มีผลกำไรจากการประกอบกิจการจึงไม่อาจจ่ายเงินโบนัสให้แก่พนักงานได้ ทั้งสองฝ่ายจึงตกลงกันว่าเฉพาะปี 2541 จำเลยที่ 1 ไม่ต้องจ่ายเงินโบนัสประจำปีให้แก่พนักงานทุกคน แต่จำเลยที่ 1 จะจ่ายเงินช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ(เฉพาะคราว) เป็นเงิน 2 เท่าของเงินเดือนโดยแบ่งจ่ายเป็น 2 งวด งวดละ 1 เท่าของเงินเดือนในเดือนมิถุนายน และเดือนธันวาคม 2541 และจำเลยที่ 1 ตกลงจ่ายเงินเพิ่มเติมให้แก่พนักงานทุกคนคนละ 4,000 บาท ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2541 แต่ถ้าหากในงวดบัญชีหลังของปี 2541 ผลประกอบการของจำเลยที่ 1 มีกำไร จำเลยที่ 1 จะจ่ายเงินโบนัสสำหรับงวดบัญชีดังกล่าวให้แก่พนักงานในอัตรา 2.75 เท่าของเงินเดือนและยกเลิกการจ่ายเงินช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ (เฉพาะคราว) รายละเอียดตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.6 (จล.6) ต่อมาเมื่อวันที่ 24 และ 27 มิถุนายน 2542 จำเลยที่ 1 กับสหภาพแรงงานธนาคารกสิกรไทยและสหภาพแรงงานผู้บังคับบัญชาธนาคารกสิกรไทยได้ทำบันทึกข้อตกลงอีก 2 ฉบับ ความว่า เฉพาะปี 2542 จำเลยที่ 1 ไม่ต้องจ่ายเงินโบนัสประจำปีให้แก่พนักงานทุกคน แต่จำเลยที่ 1 ตกลงจะจ่ายเงินช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษแทน ตามบันทึกข้อตกลงซึ่งโจทก์และจำเลยที่ 1 อ้างร่วมกันเอกสารหมาย จล.8 และจล.9 เห็นว่า วัตถุประสงค์ของสหภาพแรงงานนั้นนอกจากเพื่อการแสวงหาผลประโยชน์และคุ้มครองผลประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้างแก่สมาชิกแล้ว สหภาพแรงงานยังมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง และระหว่างลูกจ้างด้วยกันอีกด้วย การที่สหภาพแรงงานธนาคารกสิกรไทยและสหภาพแรงงานผู้บังคับบัญชาธนาคารกสิกรไทยได้ทำบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.6 (จล.5)และ จล.8 กับ จล.9 กับจำเลยที่ 1 ดังกล่าวข้างต้นนั้นก็เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างกับพนักงานลูกจ้างเนื่องจากในขณะนั้นจำเลยที่ 1กำลังประสบภาวะการขาดทุน การผ่อนปรนการจ่ายเงินโบนัสประจำปีเป็นการชั่วคราวอาจจะช่วยพยุงฐานะทางการเงินของจำเลยที่ 1 และอาจเป็นผลให้จำเลยที่ 1 สามารถแก้ไขสถานการณ์ในการประกอบกิจการของตนได้ ซึ่งหากผลประกอบกิจการของจำเลยที่ 1 มีกำไร จำเลยที่ 1 ก็สามารถที่จะจ่ายเงินโบนัสประจำปีตามปกติได้ และการที่มีข้อตกลงบังคับให้จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายเงินช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษนั้นถือได้ว่าเป็นการคุ้มครองผลประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้างแก่สมาชิกด้วย ทั้งข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นการตกลงยกเลิกสิทธิการได้รับเงินโบนัสประจำปีตามข้อตกลงร่วมประจำปี 2536เพียงชั่วคราวเท่านั้น ฉะนั้น เมื่อได้รับมติของที่ประชุมใหญ่สหภาพแรงงานทั้งสองจึงสามารถทำข้อตกลงกับจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.6 (จล.5) และ จล.8 กับ จล.9ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานผู้บังคับบัญชาธนาคารกสิกรไทย จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องจ่ายเงินโบนัสประจำปี2541 และปี 2542 ให้แก่โจทก์

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อ 5 ของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 จะต้องจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสมทบให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า แม้ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 2 (เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 12) ข้อ 4.3 (3) จะระบุไว้ว่า สมาชิกกองทุนมีสิทธิได้รับเงินสะสม เงินสมทบ ผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสะสมและเงินสมทบตามที่ได้กำหนดไว้ตามข้อบังคับก็ตาม แต่ข้อบังคับดังกล่าวในหมวด 10 ได้กำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินกองทุนไว้ในข้อ 10.6 ความว่า สมาชิกของจำเลยที่ 2 จะมีสิทธิได้รับเงินสะสมเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสะสมกับผลประโยชน์ของเงินสมทบเมื่อพ้นจากสภาพการเป็นสมาชิก เว้นแต่การพ้นสภาพการเป็นสมาชิกเพราะถูกไล่ออกหรือให้ออกก็จะไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสมทบ การที่จำเลยที่ 2ออกข้อบังคับดังกล่าวย่อมมีอำนาจทำได้มิใช่เป็นการออกข้อบังคับซึ่งขัดแย้งหรือเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 อีกทั้งข้อบังคับดังกล่าวก็มิได้ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 แต่อย่างใดจึงเป็นข้อบังคับที่ชอบด้วยกฎหมายและมีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2การที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุทุจริตต่อหน้าที่โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยนั้นเป็นการเลิกจ้างในกรณีที่ถือได้ว่าโจทก์ฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ในกรณีร้ายแรง การเลิกจ้างดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่ถือได้ว่าโจทก์พ้นสภาพการเป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 เพราะถูกไล่ออกจากงานตามระเบียบว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ. 2520 ข้อ 31จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบให้แก่โจทก์ ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share