แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การไฟฟ้านครหลวงจำเลยที่ 2 มีวัตถุประสงค์ในการจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าแก่ประชาชน จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองเสาไฟฟ้า สายไฟฟ้า และอุปกรณ์ไฟฟ้าในการส่งจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเมื่อกระแสไฟฟ้าจากสายไฟฟ้าดังกล่าว เกิดการลัดวงจรเป็นเหตุให้เพลิงลุกไหม้ทำให้ทรัพย์สินของโจทก์เสียหาย จำเลยที่ 2 ผู้ครอบครองกระแสไฟฟ้า ซึ่งเป็นทรัพย์ที่เกิดอันตรายได้โดยสภาพ จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของโจทก์ผู้ต้องเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 วรรคสอง แม้จำเลยที่ 2 นำสืบว่าได้ดูแลและบำรุงรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างดีแล้ว แต่ไม่ได้พิสูจน์ว่ากระแสไฟฟ้าลัดวงจรเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเป็นความผิดของโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงไม่พ้นความรับผิด ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว เพราะจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้ครอบครองกระแสไฟฟ้าหรือทำให้กระแสไฟฟ้าลัดวงจร
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด โจทก์ที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและเป็นผู้ครอบครองบ้านเลขที่ 101 ถนนจรัสเวียง แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 2 เป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจและเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย มีวัตถุประสงค์ดำเนินกิจการของรัฐในเรื่องการไฟฟ้าอันเป็นสาธารณูปโภคและจำหน่ายไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานคร โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้อำนวยการการไฟฟ้านครหลวง เขตคลองเตย มีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งและระเบียบของจำเลยที่ 2 เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบในพื้นที่เขตคลองเตย จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันปักเสาไฟฟ้าคอนกรีตหน้าบ้านเลขที่ 101 เพื่อรองรับสายไฟฟ้าแรงสูงกำลัง 24,000 โวลต์ จำนวน 3 เส้น ติดตั้งลูกถ้วยและสะพานไฟแบบสวิตซ์ใบมีด (ดร็อปฟิวส์) เพื่อตัดกระแสไฟฟ้าแรงสูงทั้งสามเส้นและเชื่อมต่อสายไฟฟ้าแรงสูงเพื่อลอดใต้ดินจำนวน 6 ชุด เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยที่ 1 ละเลยไม่ควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาให้ตรวจสอบและควบคุมระบบการบำรุงรักษาอุปกรณ์ในการส่งจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์และปลอดภัย เป็นเหตุให้สะพานไฟแบบสวิตซ์ใบมีดดังกล่าวเสื่อมสภาพไม่สามารถตัดกระแสไฟฟ้าได้โดยอัตโนมัติและมีความร้อนเกิดเป็นประกายไฟที่สะพานตรงจุดเชื่อมต่อของอุปกรณ์ ทำให้อุปกรณ์ดังกล่าวหลอมละลายและลุกเป็นสะเก็ดไฟร่วงลงบนรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร4 ป – 1473 ของโจทก์ที่ 2 ซึ่งจอดอยู่ติดกับเสาไฟฟ้าดังกล่าว และลุกไหม้ถังน้ำมันของรถจักรยานยนต์จนเกิดระเบิดขึ้น ทำให้เกิดเพลิงไหม้ลุกลามเข้าไปในบ้านเลขที่ 101 ตั้งแต่ชั้นที่ 1 ถึงชั้นที่ 3 เป็นเหตุให้สินค้าอะไหล่รถยนต์และทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสองที่เก็บไว้ในบ้านถูกเผาทำลาย บ้านเลขที่ 101 ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 630,542 บาทอะไหล่รถยนต์ถูกเผาทำลายเป็นเงิน 11,837,395 บาท ค่าขาดประโยชน์ทางธุรกิจการค้าที่ควรได้ผลกำไรรวม 2 เดือน คิดเป็นเงิน 1,400,000 บาท และค่าเช่าบ้านสำหรับใช้เป็นสถานที่ติดต่อธุรกิจขณะซ่อมแซมบ้านเลขที่ 101 เป็นเงิน 12,000 บาท รวมค่าเสียหายของโจทก์ที่ 1 เป็นเงินทั้งสิ้น 13,867,937 บาท (ที่ถูก 13,879,937 บาท) ส่วนโจทก์ที่ 2 ได้ความเสียหาย คือ เครื่องเรือน ของใช้ ของตกแต่งและเครื่องใช้สำนักงานที่ถูกเผาทำลายจำนวน 1,212,261 บาท และรถจักรยานยนต์จำนวน 15,000บาท รวมเป็นเงิน 1,227,671 บาท ส่วนดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2540 ซึ่งเป็นวันผิดนัดจนถึงวันฟ้องของโจทก์ที่ 1 คิดเป็นเงิน 231,132 บาทและของโจทก์ที่ 2 คิดเป็นเงิน 20,459 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 คิดเป็นเงิน 14,099,069 บาท (ที่ถูก 14,111,069 บาท) พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 13,867,937 บาท (ที่ถูก 13,879,937) และชำระเงินให้แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 1,248,130 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,227,671 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่า เหตุเพลิงไหม้มิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 หรือเกิดจากการปฏิบัติงานโดยประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ปักเสาพาดสายไฟฟ้าและติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าห่างจากอาคารที่ถูกไฟไหม้ 1.7 เมตร และสะพานไฟเป็นแบบสวิตซ์ใบมีด ไม่ใช่แบบดร็อปฟิวส์อุปกรณ์ดังกล่าวทำหน้าที่ตัดกระแสไฟฟ้าโดยใช้คนเป็นผู้ชักสวิตซ์ใบมีดแยกจากกัน มิใช่เป็นการตัดกระแสไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ กระแสไฟฟ้าจากสายไฟฟ้าที่พาดผ่านเสาไฟฟ้าหน้าบ้านที่เกิดเหตุมีกำลังไฟเพียง 12,000 โวลต์ มิใช่ 24,000 โวลต์ สวิตซ์ใบมีดและอุปกรณ์ไฟฟ้าของจำเลยที่ 2 ไม่ได้เกิดการลัดวงจรและหลอมละลายจนเกิดเป็นสะเก็ดไฟตกลงบนรถจักรยานยนต์ แล้วเกิดเพลิงลุกไหม้แต่ต้นเพลิงเกิดจากภายในบ้าน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ส่วนปัญหาว่า จำเลยทั้งสองต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองหรือไม่เพียงใดนั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวน ข้อเท็จจริงได้ความตามคำให้การของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองเสาไฟฟ้า สายไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าบริเวณริมถนนจรัสเวียงหน้าบ้านเลขที่ 101 ตามฟ้อง โดยจำเลยที่ 2 มีวัตถุประสงค์ในการจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าให้แก่ประชาชน ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เมื่อกระแสไฟฟ้าที่จำเลยที่ 2 จัดให้มีขึ้นเพื่อจำหน่ายให้แก่ประชาชนเกิดการลัดวงจรเป็นเหตุให้เพลิงลุกไหม้ ทำให้ทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสองเสียหาย จำเลยที่ 2 ผู้ครอบครองกระแสไฟฟ้าซึ่งเป็นทรัพย์ที่เกิดอันตรายได้โดยสภาพ จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสอง เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของโจทก์ทั้งสองผู้ต้องเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 วรรคสอง การที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่า จำเลยที่ 2 ได้ดูแลและบำรุงรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างดีแล้วแต่ไม่ได้พิสูจน์ว่ากระแสไฟฟ้าลัดวงจรเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเป็นความผิดของโจทก์ทั้งสองจำเลยที่ 2 จึงไม่พ้นความรับผิด ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวเพราะจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้ครอบครองกระแสไฟฟ้าหรือทำให้กระแสไฟฟ้าลัดวงจร”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 8,306,300บาท และชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 660,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนนับตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2540 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1