คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 576/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ร่วมกันมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำนวน 1 ถุง และจำเลยที่ 2 ผลิตกัญชาโดยการแบ่งจากถุงใหญ่จำนวน 1 ถุง ดังกล่าว บรรจุถุงพลาสติกถุงเล็ก จำนวน 56 ถุง ซึ่งเป็นกัญชาส่วนหนึ่งที่จำเลยที่ 2 ร่วมกันมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย อันเป็นกัญชาจำนวนเดียวกัน เพียงแต่จำเลยที่ 2 แบ่งบรรจุเท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท
ขณะกระทำความผิด ความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและความผิดฐานผลิตกัญชามีอัตราโทษเท่ากัน แต่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาในส่วนความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยมีจำนวนกัญชาไม่ถึงสิบกิโลกรัมนั้นมีการแก้ไขกฎหมาย ทำให้โทษจำคุกขั้นสูงตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่เบากว่าโทษจำคุกขั้นสูงตามกฎหมายเดิม ถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณมากกว่ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด สำหรับความผิดฐานผลิตกัญชานั้น กฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษปรับสูงกว่าโทษปรับตามกฎหมายเดิมถือว่ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างจากกฎหมายที่แก้ไขใหม่ และกฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายเดิมบังคับแก่จำเลยที่ 2 ในความผิดฐานผลิตกัญชา ดังนั้น คงใช้กฎหมายใหม่บังคับแก่จำเลยเฉพาะความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันมีกัญชาแห้ง อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 จำนวน 1 ถุง ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยทั้งสามร่วมกันผลิตกัญชาซึ่งจำเลยทั้งสามร่วมกันมีไว้ในครอบครองดังกล่าวโดยนำมาแบ่งบรรจุถุงพลาสติกจำนวน 56 ถุง เพื่อความสะดวกในการจำหน่ายโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 75, 76, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 32, 33 และริบกัญชาของกลางที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์ กับเครื่องชั่ง 1 เครื่อง ของกลาง

จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง, 76 วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และจำเลยที่ 2 ยังมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 26 วรรคสอง, 75 วรรคหนึ่ง อีกกระทงหนึ่ง จำเลยที่ 2 กระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษจำเลยที่ 1 (ฐานร่วมกันมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย) จำคุก 2 ปี และปรับ 45,000 บาท ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 2 ปี และปรับ 45,000 บาท ฐานผลิตกัญชา จำคุก 2 ปี และปรับ 45,000บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 ปี และปรับ 90,000 บาท คำให้การของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี 4 เดือน และปรับ30,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี 8 เดือน และปรับ 60,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก2 เดือน ต่อครั้ง ภายในเวลา 1 ปี และให้ทำงานบริการสังคมตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 และพนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรเป็นเวลา 12 ชั่วโมง ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 และไม่ปรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า สมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำเลยที่ 2 ยังผลิตกัญชาอีกด้วยนั้น นับเป็นต้นเหตุในการทำให้ยาเสพติดให้โทษชนิดดังกล่าวแพร่ระบาดสู่ประชาชนอันเป็นการทำให้มีผู้ตกเป็นทาสของยาเสพติดให้โทษเพิ่มมากขึ้น การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงถือว่าเป็นภัยต่อสังคมและประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองเรียงกระทงลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและผลิตกัญชานั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกันมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำนวน 1 ถุง น้ำหนัก 1,495.35 กรัม และจำเลยที่ 2 ผลิตกัญชาโดยการแบ่งจากถุงใหญ่จำนวน 1 ถุง ดังกล่าว บรรจุถุงพลาสติกถุงเล็กจำนวน 56 ถุง น้ำหนักรวม 295.35 กรัม ซึ่งเป็นกัญชาส่วนหนึ่งที่จำเลยที่ 2 ร่วมกันมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย อันเป็นกัญชาจำนวนเดียวกันเพียงแต่จำเลยที่ 2 แบ่งบรรจุเท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งในขณะกระทำความผิด ความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและความผิดฐานผลิตกัญชามีอัตราโทษเท่ากัน แต่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาในส่วนความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยมีจำนวนกัญชาไม่ถึงสิบกิโลกรัมนั้นได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 มาตรา 23 ให้เพิ่มความเป็นมาตรา 76/1 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่ง มาตรา 76/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ผู้ใดจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 26 วรรคหนึ่ง โดยมีจำนวนยาเสพติดให้โทษไม่ถึงสิบกิโลกรัม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แตกต่างจากกฎหมายเดิมในมาตรา 76 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า การมียาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบห้าปีและปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนห้าหมื่นบาทจะเห็นได้ว่า แม้ตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่จะมีระวางโทษจำคุกขั้นต่ำเท่ากัน แต่โทษจำคุกขั้นสูงตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่เบากว่าโทษจำคุกขั้นสูงตามกฎหมายเดิม จึงต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณมากกว่ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด และสำหรับความผิดฐานผลิตกัญชาได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 มาตรา 22 ให้ยกเลิกความในมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน โดยตามกฎหมายเดิมมาตรา 75 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนห้าหมื่นบาท ส่วนกฎหมายที่แก้ไขใหม่ มาตรา 75 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านห้าแสนบาท แม้ตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่ มาตรา 75 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกเท่ากันแต่ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษปรับสูงกว่าโทษปรับตามกฎหมายเดิม จึงต้องถือว่ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างจากกฎหมายที่แก้ไขใหม่และกฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายเดิมบังคับแก่จำเลยที่ 2 ในความผิดฐานผลิตกัญชา ดังนั้น คงใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่บังคับแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เฉพาะความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเท่านั้น ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง, 76/1 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง, 75 วรรคหนึ่ง(เดิม), 76/1 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานผลิตกัญชาตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 75 วรรคหนึ่ง เดิม ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 4 เดือน ส่วนโทษของจำเลยที่ 1 และนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

Share