คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4970/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยจ้างโจทก์ทำงานเป็นวิศวกรซึ่งเป็นงานตามวัตถุประสงค์หลักของจำเลย คือ ประกอบกิจการออกแบบและเป็นที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างท่อก๊าซ โดยจำเลยรับจ้างเป็นวิศวกรที่ปรึกษาออกแบบในโครงการท่อส่งก๊าซมาบตาพุดให้แก่บริษัท ว. และจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ไปทำงานที่บริษัท ว. ในโครงการดังกล่าว โดยจำเลยเป็นผู้จ่ายค่าตอบแทนการทำงานให้ เมื่องานออกแบบเสร็จสิ้นบริษัท ว. แจ้งส่งตัวโจทก์คืนให้จำเลย ดังนั้น แม้ในระหว่างที่โจทก์ทำงานให้บริษัท ว. โจทก์ต้องปฏิบัติตามคำสั่งและการบังคับบัญชาของบริษัท ว. แต่เป็นกรณีที่จำเลยมอบอำนาจบังคับบัญชาบางส่วนของตนให้บริษัท ว. ใช้แทนจำเลยในระหว่างที่โจทก์ไปปฏิบัติงานตามคำสั่งของจำเลย เพื่อให้งานลุล่วงไปตามสัญญาจ้างระหว่างจำเลยกับบริษัท ว. หาได้ทำให้จำเลยไม่มีอำนาจบังคับบัญชาโจทก์แต่อย่างใดไม่ และแม้จำเลยยื่นแบบรายการหักภาษี ณ ที่จ่ายของโจทก์ในฐานะผู้มีรายได้อิสระก็ไม่ทำให้นิติสัมพันธ์ความเป็นลูกจ้างนายจ้างระหว่างโจทก์จำเลยเปลี่ยนแปลงไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งวิศวกรออกแบบ โดยให้โจทก์ไปทำงานกับบริษัทวอร์เลย์พาร์สันส์ จำกัด (Worley Parsons (Thailand) Limited) ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 70,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือนต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าล่วงเวลา 1,748 บาท ค่าทำงานในวันหยุด 18,664 บาท และค่าชดเชย 210,000 บาท และจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 70,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยมิใช่นายจ้างโจทก์ โจทก์จำเลยไม่เคยทำสัญญาจ้างแรงงานต่อกัน โจทก์เป็นวิศวกรอิสระรับจ้างจำเลยเป็นวิศวกรที่ปรึกษาในการคำนวณและออกแบบโครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซให้แก่ บริษัทวอร์เลย์พาร์สันส์ จำกัด (Worley Parsons (Thailand) Limited) ระหว่างอำเภอมาบตาพุดถึงอำเภอบางปะกงเท่านั้น โจทก์มีอิสระในการทำงาน ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของจำเลย ค่าจ้างรับบริการก็เป็นการหักภาษีตามแบบ ภ.ง.ด.3 สำหรับผู้มีวิชาชีพอิสระจ้างทำของ ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นการจ้างทำของ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และจำเลยไม่เคยสั่งให้โจทก์ทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์เพราะเป็นการทำงานอย่างอิสระของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุดจำเลยไม่เคยสั่งให้โจทก์ทำงานล่วงเวลา โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาหรือดอกเบี้ยตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยมีวัตถุประสงค์หลักในการประกอบกิจการออกแบบและเป็นที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างท่อก๊าซ โจทก์เป็นวิศวกรได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งวิศวกร (ไม่ได้ทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือ) โดยส่งให้โจทก์ไปทำงานกับบริษัทวอร์เลย์พาร์สันส์ จำกัด (Worley Parsons (Thailand) Limited) ในโครงการท่อส่งก๊าซมาบตาพุด จังหวัดระยอง จำเลยรับจ้างบริษัทวอร์เลย์พาร์สันส์ จำกัด ในส่วนการออกแบบโดยเป็นวิศวกรที่ปรึกษาในลักษณะการจ้างงานเป็นคราว ๆ ไป โจทก์ไม่ได้เข้าทำงานที่บริษัทของจำเลย เมื่อถึงรอบการจ่ายเงินค่าตอบแทนโจทก์นำหลักฐานระบุชั่วโมงทำงานที่โจทก์ทำงานให้บริษัทวอร์เลย์พาร์สันส์ จำกัด มาคำนวณเงินค่าตอบแทนกับกรรมการผู้จัดการของจำเลยแล้วรับเงินค่าตอบแทนไปตามรอบการจ่ายเงินการบังคับบัญชาในการทำงานขึ้นอยู่กับบริษัทวอร์เลย์พาร์สันส์ จำกัด วันที่ 31 สิงหาคม 2548 ผู้จัดการฝ่ายบุคคลของบริษัทวอร์เลย์พาร์สันส์ จำกัด มีหนังสือถึงจำเลยอ้างถึงจดหมายของบริษัทวอร์เลย์พาร์สันส์ จำกัด ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 มีผลให้การปฏิบัติงานของโจทก์สิ้นสุดลงในวันที่ 31 สิงหาคม 2548 แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยเป็นผู้จัดหาวิศวกรอิสระเช่นโจทก์ไปทำงานกับบริษัทวอร์เลย์พาร์สันส์ จำกัด เป็นคราว ๆ จำเลยได้รับค่าตอบแทนจากบริษัทวอร์เลย์พาร์สันส์ จำกัด เป็นจำนวนเงินมากกว่าที่จำเลยคำนวณจ่ายให้โจทก์ตามที่ตกลงกับโจทก์ แล้วจำเลยได้รับเงินค่าตอบแทนจากส่วนต่างนั้น โจทก์ทำงานโดยอิสระไม่อยู่ใต้บังคับบัญชาของจำเลย โจทก์จึงไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งวิศวกร ซึ่งเป็นงานที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์หลักของจำเลยคือประกอบกิจการออกแบบและเป็นที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างท่อก๊าซ โดยจำเลยรับจ้างเป็นวิศวกรที่ปรึกษาออกแบบในโครงการท่อส่งก๊าซมาบตาพุด จังหวัดระยอง ให้บริษัทวอร์เลย์พาร์สันส์ จำกัด จำเลยส่งโจทก์ไปทำงานในโครงการดังกล่าวของบริษัทวอร์เลย์พาร์สันส์ จำกัด โจทก์ไปทำงานที่บริษัทวอร์เลย์พาร์สันส์ จำกัด ก็ด้วยคำสั่งของจำเลยและทำงานในโครงการที่จำเลยรับจ้างจากบริษัทวอร์เลย์พาร์สันส์ จำกัด นั่นเอง เมื่องานออกแบบเสร็จสิ้นลงบริษัทวอร์เลย์พาร์สันส์ จำกัด จึงมีหนังสือถึงจำเลยแจ้งว่าการปฏิบัติงานของโจทก์สิ้นสุดลงในวันที่ 31 สิงหาคม 2548 เป็นกรณีที่บริษัทวอร์เลย์พาร์สันส์ จำกัด แจ้งส่งตัวโจทก์คืนให้จำเลยเมื่อการปฏิบัติงานสิ้นสุดลง ไม่ใช่บริษัทวอร์เลย์พาร์สันส์ จำกัด บอกเลิกจ้างโจทก์แสดงว่า อำนาจในการเลิกจ้างโจทก์ยังคงอยู่ที่จำเลย อีกทั้งจำเลยเป็นผู้จ่ายค่าตอบแทนในการที่โจทก์ไปทำงานที่บริษัทวอร์เลย์พาร์สันส์ จำกัด ตามคำสั่งของจำเลยให้โจทก์ตลอดมาไม่ว่าจะคำนวณค่าตอบแทนเป็นรายชั่วโมงหรือเป็นรายเดือนก็ตาม ค่าตอบแทนนั้นเป็นการจ่ายตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติของโจทก์ จึงเป็นค่าจ้าง การที่โจทก์ต้องปฏิบัติตามคำสั่งและการบังคับบัญชาของบริษัทวอร์เลย์พาร์สันส์ จำกัด นั้นเป็นกรณีที่จำเลยมอบอำนาจบังคับบัญชาบางส่วนของตนไปให้บริษัทวอร์เลย์พาร์สันส์ จำกัด ใช้แทนจำเลยในระหว่างที่โจทก์ไปปฏิบัติงานตามคำสั่งของจำเลยเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงไปตามสัญญาจ้างระหว่างจำเลยกับบริษัทวอร์เลย์พาร์สันส์ จำกัด หาได้ทำให้จำเลยไม่มีอำนาจบังคับบัญชาโจทก์แต่อย่างใดไม่ โจทก์จึงเป็นลูกจ้างของจำเลย แม้จำเลยยื่นแบบรายการหักภาษี ณ ที่จ่ายของโจทก์ในฐานะผู้มีรายได้อิสระ ก็ไม่ทำให้นิติสัมพันธ์ความเป็นลูกจ้างนายจ้างระหว่างโจทก์จำเลยเปลี่ยนแปลงไป อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาในประเด็นค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุด แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (3) (ข) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน มาตรา 31

Share