คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2666/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์อ้างเหตุว่าโจทก์ทุจริตค่าน้ำมันรถ โจทก์อุทธรณ์คำสั่งเลิกจ้างต่อผู้บังคับบัญชาระดับบริหารตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ระหว่างพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทำหนังสือขอลาออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยด้วยความสมัครใจและรับเงินช่วยเหลือ 100,000 บาท จากจำเลย
แม้หนังสือลาออกของโจทก์ (ที่กระทำขึ้นภายหลังจากจำเลยมีหนังสือเลิกจ้าง) ไม่เป็นเหตุให้สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยสิ้นสุดลง แต่ตามพฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับพฤติกรรมของโจทก์ที่ตกลงยินยอมรับเงินช่วยเหลือจากจำเลย 100,000 บาท ไปแล้วในภายหลังโดยปราศจากข้อโต้แย้งคัดค้านอื่นใดทั้งสิ้น เป็นกรณีที่โจทก์ยินยอมกับจำเลยเพื่อยุติเรื่องการเลิกจ้างที่อ้างเหตุว่าโจทก์ทุจริตค่าน้ำมันรถ เท่ากับโจทก์ไม่ประสงค์จะเรียกร้องเกี่ยวกับการเลิกจ้างอีกต่อไป โจทก์จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 199,600 บาท สินจ้างแทนการบอกล่าวล่วงหน้า 33,266 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 300,000 บาท
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 8 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 8 รับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่ปี 2533 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นหัวหน้างานธุรการ อัตราเงินเดือนเดือนละ 19,960 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 30 ของเดือน ต่อมาจำเลยแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเนื่องจากมีข้อสงสัยว่าโจทก์ทุจริตค่าน้ำมันรถ คณะกรรมการสอบสวนสรุปผลว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ จำเลยจึงมีหนังสือเลิกจ้าง โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2549 โจทก์ได้รับค่าจ้างเพียงถึงวันที่ 15 กันยายน 2549 จากนั้นโจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งว่าโจทก์ไม่ได้ทุจริต ขอให้จำเลยทบทวนการลงโทษหรือขอให้จ่ายค่าชดเชย ระหว่างพิจารณาอุทธรณ์ โจทก์ยื่นหนังสือลาออกพร้อมรับเงินช่วยเหลือจากจำเลยเป็นเงิน 100,000 บาท แล้ววินิจฉัยในประเด็นที่ว่า โจทก์ลาออกด้วยความสมัครใจหรือไม่ว่า แม้จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์แล้ว แต่โจทก์ยื่นอุทธรณ์ตามระเบียบข้อบังคับการทำงานที่ระบุว่า ผลการวินิจฉัยของผู้บังคับบัญชาระดับบริหารถึงที่สุด กรณียังถือไม่ได้ว่าการลงโทษและการเลิกจ้างโจทก์เป็นที่สุด แต่ในระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์ การเป็นนายจ้างและลูกจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยยังไม่สิ้นสุด โจทก์ทำหนังสือขอลาออกจากการเป็นพนักงานจำเลยด้วยความสมัครใจและรับเงินช่วยเหลือจากจำเลยจำนวน 100,000 บาท ย่อมทำให้สัญญาจ้างสิ้นสุดลงด้วยเหตุโจทก์ลาออก มิใช่ถูกเลิกจ้าง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าการที่ศาลแรงงานภาค 8 กำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์ลาออกด้วยความสมัครใจหรือไม่ เป็นการกำหนดประเด็นขึ้นเพิ่มเติม จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์มิได้กระทำผิด ไม่มีเหตุสมควรในการเลิกจ้างถือว่าจำเลยเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม จำเลยให้การว่าจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุทุจริตต่อหน้าที่ ระหว่างที่โจทก์ขออุทธรณ์การเลิกจ้างโจทก์ทำหนังสือลาออกพร้อมกับขอเงินช่วยเหลือจากจำเลยจำนวน 100,000 บาท โจทก์จึงลาออกด้วยความสมัครใจ ดังนั้นการที่จะพิจารณาวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิรับค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามฟ้องหรือไม่ จำต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามคำฟ้องประกอบกับคำให้การในส่วนที่ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์หรือโจทก์ลาออกเอง การที่ศาลแรงงานภาค 8 กำหนดประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการลาออกของโจทก์ไว้ด้วยก็เพื่อความสะดวกในการวินิจฉัยประเด็นแห่งคดี หาใช่เป็นการกำหนดประเด็นข้อพิพาทขึ้นเพิ่มเติมจนถึงกับเป็นเรื่องนอกเหนือประเด็นแห่งคดีอันจะเป็นเหตุให้ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามหนังสือเลิกจ้างอ้างเหตุว่า โจทก์ทุจริตค่าน้ำมันรถโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2549 โจทก์รับทราบคำสั่งเลิกจ้างในวันดังกล่าว เมื่อจำเลยบอกเลิกจ้างโดยยื่นหนังสือเลิกจ้างให้โจทก์ ทำให้สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยสิ้นสุดลงทันทีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 168 และมาตรา 386 สัญญาจ้างแรงงานของโจทก์จำเลยจึงสิ้นสุดลงด้วยการเลิกจ้าง มิใช่การลาออก ส่วนการยื่นอุทธรณ์คำสั่งเลิกจ้างไม่ทำให้สัญญาจ้างแรงงานที่สิ้นสุดแล้วกลับสมบูรณ์ขึ้นมาอีก เห็นว่า แม้สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์จำเลยสิ้นสุดลงทันทีด้วยการเลิกจ้างตามที่โจทก์อุทธรณ์มาก็ตาม แต่เมื่อศาลแรงงานภาค 8 รับฟังข้อเท็จจริงแล้ววินิจฉัยว่า ในระหว่างพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งเลิกจ้าง โจทก์ได้ทำหนังสือขอลาออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยด้วยความสมัครใจและรับเงินช่วยเหลือจากจำเลย จำนวน 100,000 บาท ซึ่งเมื่อใบลาออกของโจทก์เป็นการกระทำขึ้นภายหลังที่โจทก์ถูกเลิกจ้าง ทั้งอยู่ในระหว่างพิจารณาอุทธรณ์หนังสือเลิกจ้างที่อ้างเหตุว่าโจทก์ทุจริตค่าน้ำมันรถ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการลาออกด้วยความสมัครใจ แม้ใบลาออกของโจทก์หาเป็นเหตุให้สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์จำเลยสิ้นสุดลงไปก็ตาม แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับพฤติกรรมของโจทก์ที่โจทก์ตกลงยินยอมรับเงินช่วยเหลือจากจำเลย จำนวน 100,000 บาท ไปแล้วในภายหลังโดยปราศจากข้อโต้แย้งคัดค้านอื่นใดทั้งสิ้น จึงเป็นกรณีที่โจทก์ตกลงยินยอมกับจำเลยเพื่อยุติเรื่องการเลิกจ้างที่อ้างเหตุว่าโจทก์ทุจริตค่าน้ำมันรถ เท่ากับว่าโจทก์ไม่ประสงค์ที่จะเรียกร้องเกี่ยวกับการเลิกจ้างต่อไปอีก โจทก์จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้อง ไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ทุจริตค่าน้ำมันรถตามหนังสือเลิกจ้างหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลแรงงานภาค 8 พิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share