แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่โจทก์ทั้งสามลงลายมือชื่อในคำขอประกันชีวิตมอบให้จำเลยที่ 1 ตัวแทนประกันชีวิตของจำเลยที่ 2 ไปยื่นต่อจำเลยที่ 2 เพราะถูกจำเลยที่ 1 หลอกลวงว่าเป็นการขอต่ออายุกรมธรรม์ประกันชีวิตฉบับเดิม เป็นการแสดงเจตนาทำนิติกรรมโดยสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม จึงเป็นความสำคัญผิดในสาระสำคัญนิติกรรมย่อมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156
โจทก์ทั้งสามรู้จักกับจำเลยที่ 1 มาเป็นเวลานาน และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ชักชวนให้โจทก์ทั้งสามทำสัญญาประกันชีวิตฉบับเดิม โจทก์ทั้งสามย่อมให้ความเชื่อถือไว้วางใจ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสามประมาทเลินเล่อในการลงลายมือชื่อในคำขอทำสัญญาประกันชีวิต ดังนั้น สัญญาประกันชีวิตตามกรมธรรม์จึงไม่มีผลสมบูรณ์ที่ใช้บังคับได้
จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนประกันชีวิตของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 มีอำนาจรับเบี้ยประกันชีวิตในนามจำเลยที่ 2 ดังนี้ คนทั่วไปที่ถูกจำเลยที่ 1 ชักชวนให้ทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 2 ย่อมต้องเข้าใจว่าจำเลยที่ 2 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนในการติดต่อรับประกันชีวิตและรับเบี้ยประกันชีวิตล่วงหน้าด้วย ดังนั้น พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ยอมให้จำเลยที่ 1 ติดต่อกับโจทก์ทั้งสามเพื่อต่ออายุกรมธรรม์และรับเบี้ยประกันชีวิตล่วงหน้าในนามของจำเลยที่ 2 โดยเปิดเผย จึงเท่ากับจำเลยที่ 2 เชิดให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการติดต่อรับประกันชีวิตและรับเบี้ยประกันชีวิตล่วงหน้า การที่จำเลยที่ 1 ฉ้อฉลโจทก์ทั้งสามให้ลงลายมือชื่อในคำขอประกันชีวิตเป็นการจงใจให้โจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหายอันเป็นละเมิดต่อโจทก์ทั้งสาม จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 821 และต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ทั้งสามตาม ป.พ.พ. มาตรา 427 ประกอบมาตรา 425 ด้วย
ค่าเสียหายอันเป็นค่าใช้จ่ายของโจทก์ทั้งสามในการติดตามทวงถามให้จำเลยทั้งสองคืนเบี้ยประกันชีวิต เป็นค่าเสียหายอันเกิดจากการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 มิใช่ค่าเสียหายอันเกิดจากสัญญาเป็นโมฆะ หากโจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหายย่อมเรียกค่าเสียหายดังกล่าวได้
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 504,645.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทประจำของธนาคารออมสินของต้นเงิน 343,433 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 190,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 180,000 บาท นับแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2540 จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ (ที่ถูกโจทก์ทั้งสาม) และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 270,000 บาท นับแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2541 ถึงวันที่ 17 สิงหาคม 2541 ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 163,433 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2541 จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ (ที่ถูกโจทก์ทั้งสาม) เฉพาะดอกเบี้ยทั้งหมดคำนวณรวมกันถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 10 กันยายน 2541) ต้องไม่เกิน 68,212.50 บาท ตามที่โจทก์ขอ (ที่ถูกโจทก์ทั้งสาม) ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ (ที่ถูกโจทก์ทั้งสาม) โดยกำหนด ค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 3,000 บาท แทนโจทก์ทั้งสาม
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์ คดีสำหรับจำเลยที่ 1 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีคงพิจารณาในชั้นฎีกาเฉพาะในส่วนของจำเลยที่ 2 พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 2 ไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีกาว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนประกันชีวิตของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีอำนาจรับเบี้ยประกันชีวิตตั้งแต่ปี 2538 ถึง 2541 จำเลยที่ 1 ได้ชักชวนโจทก์ทั้งสามทำสัญญาประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ 21 ปี วงเงินประกันภัยคนละ 500,000 บาท โจทก์ทั้งสามตกลงและส่งเบี้ยประกันภัยได้ 4 ถึง 5 ปี ก็ขาดส่งเบี้ยประกันภัย ต่อมาปี 2540 จำเลยที่ 1 ชักชวนให้โจทก์ทั้งสามทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 2 โจทก์ทั้งสามได้ลงลายมือชื่อในคำขอทำสัญญาประกันชีวิตซึ่งรวมอยู่ในกรมธรรม์ประกันภัย และโจทก์ที่ 1 ได้สั่งจ่ายเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาย่อยสถานีขนส่งฉะเชิงเทรา 2 ฉบับ ฉบับแรก จำนวนเงิน 180,000 บาท และฉบับที่ 2 จำนวนเงิน 270,000 บาท มอบให้แก่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ได้ทำใบรับเงินชั่วคราวให้ เช็คฉบับแรกจำเลยที่ 1 ได้นำไปเรียกเก็บเงินเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 เช็คฉบับที่ 2 จำเลยที่ 2 ได้นำไปเรียกเก็บเงินเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2540 แพทย์ของจำเลยที่ 2 ได้ตรวจร่างกายของโจทก์ทั้งสามก่อนรับประกันภัยและจำเลยที่ 2 ส่งสัญญาประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ 18 ปี ให้แก่โจทก์ทั้งสาม กับสั่งจ่ายเช็ค 2 ฉบับ จำนวนเงิน 1,517 บาท และ 500 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 1 จากนั้นโจทก์ทั้งสามมีหนังสือร้องเรียนจำเลยที่ 2 และแจ้งความประสงค์ไม่ต่ออายุสัญญาประกันชีวิตฉบับเดิมและไม่ทำสัญญาประกันชีวิตฉบับใหม่ ให้จำเลยที่ 2 คืนเงินจำนวน 450,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย โจทก์ทั้งสามมีหนังสือร้องเรียนไปยังกรมการประกันภัย เจ้าหน้าที่ฝ่ายสอบสวน กองนิติการ กรมการประกันภัย ได้สอบข้อเท็จจริงโจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสอง จากนั้นจำเลยที่ 2 ได้สั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาสุรวงศ์ จำนวนเงิน 104,550 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 1
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการแรกว่า สัญญาประกันชีวิตตามกรมธรรม์ประกันภัย มีผลสมบูรณ์ใช้บังคับได้หรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่าสัญญาประกันชีวิตมิได้เกิดขึ้นเพราะกลฉ้อฉลของจำเลยที่ 1 และโจทก์ทั้งสามทราบดีอยู่แล้วว่าเป็นการสมัครขอทำสัญญาประกันชีวิตฉบับใหม่กับจำเลยที่ 2 หรือหากใช้ความระมัดระวังเช่นวิญญูชนจะพึงกระทำ ก็จะทราบได้ว่าการกระทำของตนเป็นการขอสมัครทำสัญญาประกันชีวิตใหม่กับจำเลยที่ 2 นั้น เห็นว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 3 เบิกความได้สอดคล้องต้องกัน กับใบรับเงินชั่วคราวที่มีข้อความระบุจำนวนเงิน 450,000 บาท และมีข้อความเขียนด้วยลายมือของจำเลยที่ 1 ที่ด้านบนใบรับเงินชั่วคราวด้วยว่า “ต่ออายุ 3 ฉบับ” เช่นนี้การที่โจทก์ที่ 1 สั่งจ่ายเช็ค 2 ฉบับ รวมเป็นเงิน 450,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 ก็เพื่อต่ออายุสัญญาประกันชีวิตทั้งสามฉบับที่ขาดส่งเบี้ยประกันภัยตามที่จำเลยที่ 1 มาชักชวนนั่นเอง ประกอบกับนายโอภาส พยานจำเลยที่ 2 เบิกความว่า กรมธรรม์ประกันภัยเดิมขาดต่ออายุตั้งแต่ปี 2539 ถึงวันทำกรมธรรม์ใหม่ยังไม่เกิน 5 ปี สามารถต่ออายุได้โดยจะต้องชำระเบี้ยประกันภัยที่ขาดต่ออายุแต่ละปีบวกด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8 ต่อปี และตามหนังสือของจำเลยที่ 1 ที่ชี้แจงแก่จำเลยที่ 2 มีข้อความทำนองว่า จำเลยที่ 1 บอกโจทก์ที่ 1 ว่าถ้าต่ออายุสัญญาประกันชีวิตเดิมจะต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยทั้งหมดประมาณ 450,000 บาท ถ้าทำสัญญาประกันชีวิตใหม่ต้องจ่ายทั้งหมดประมาณ 170,000 บาท เมื่อโจทก์ที่ 1 ออกเช็คมอบให้จำเลยที่ 1 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 450,000 บาท ทำให้เชื่อว่า จำเลยที่ 1 ติดต่อให้โจทก์ทั้งสามต่ออายุสัญญาประกันชีวิตเดิมโดยต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยค้างชำระพร้อมดอกเบี้ยย้อนหลังจริง ส่วนที่จำเลยที่ 2 ได้รับใบสมัครใหม่เป็นคำขอทำสัญญาประกันชีวิตของโจทก์ทั้งสาม พร้อมกับมีการตรวจสุขภาพ และจำเลยที่ 1 ได้บันทึกไว้ด้านหลังเช็คว่าเป็นการชำระให้แก่ผู้เอาประกันภัยคนอื่นนั้น เห็นว่า การส่งใบคำขอทำสัญญาประกันชีวิตเป็นใบสมัครใหม่ ไม่ใช่คำขอต่ออายุสัญญา และมีบันทึกไว้ที่ด้านหลังเช็ค นั้นเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 เขียนข้อความเหล่านั้นด้วยตนเอง โจทก์ทั้งสามมิได้รู้เห็นด้วย ส่วนการตรวจสุขภาพก่อน ก็ไม่ใช่ข้อพิสูจน์ว่าการตรวจสุขภาพใหม่มีเฉพาะกรณีสมัครขอทำสัญญาประกันชีวิตครั้งแรกเท่านั้น การขอต่ออายุสัญญาประกันชีวิตก็อาจมีการตรวจสุขภาพก่อนพิจารณาอนุมัติให้ต่ออายุได้ สำหรับหนังสือชี้แจงของจำเลยที่ 1 ที่มีข้อความสรุปว่า โจทก์ทั้งสามขอทำสัญญาประกันชีวิตใหม่ มิได้ต่อสัญญา และได้คืนเงินที่รับเงินตามเช็คจำนวน 180,000 บาท ให้โจทก์ทั้งสามไปแล้วนั้น ก็เป็นบันทึกที่จำเลยที่ 1 ทำถึงจำเลยที่ 2 เพื่อแก้ตัวโดยโจทก์ทั้งสามมิได้รู้เห็นด้วย ฉะนั้น พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสามมีน้ำหนักในการรับฟังมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 ทำให้คดีฟังได้ว่า การที่โจทก์ทั้งสามลงลายมือชื่อในคำขอประกันชีวิตมอบให้จำเลยที่ 1 ไปยื่นต่อจำเลยที่ 2 นั้น เป็นการแสดงเจตนาทำนิติกรรมโดยสำคัญผิดเพราะถูกจำเลยที่ 1 หลอกลวงว่าเป็นการขอต่ออายุกรมธรรม์ประกันชีวิตเดิม อันเป็นการสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม จึงเป็นความสำคัญผิดในสาระสำคัญของนิติกรรม ย่อมเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง เมื่อครอบครัวของโจทก์ทั้งสามรู้จักจำเลยที่ 1 มาเป็นเวลานาน และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ชักชวนให้โจทก์ทั้งสามทำสัญญาประกันชีวิตฉบับเดิม โจทก์ทั้งสามย่อมให้ความเชื่อถือไว้วางใจ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสามประมาทเลินเล่อในการลงลายมือชื่อในคำขอทำสัญญาประกันชีวิต ดังนั้น สัญญาประกันชีวิตตามกรมธรรม์จึงไม่มีผลสมบูรณ์ที่ใช้บังคับได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการต่อไปว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดคืนเงินค่าเบี้ยประกันภัยให้แก่โจทก์ทั้งสามหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 เป็นเพียงนายหน้าขายประกันชีวิตหรือตัวแทนประกันชีวิตเท่านั้น จำเลยที่ 2 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 มีอำนาจรับเงินเบี้ยประกันชีวิตตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2535 มิได้ให้เป็นตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย จำเลยที่ 2 กระทำโดยสุจริตไม่รู้หรือควรจะได้รู้ถึงการกระทำของจำเลยที่ 1 แต่ประการใด เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนประกันชีวิตของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 มีอำนาจรับเบี้ยประกันชีวิตในนามจำเลยที่ 2 ดังนี้ คนทั่วไปที่ถูกจำเลยที่ 1 ชักชวนให้ทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 2 ย่อมต้องเข้าใจว่าจำเลยที่ 2 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนในการติดต่อรับประกันชีวิตและรับเบี้ยประกันชีวิตล่วงหน้าด้วย ดังนั้น พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ยอมให้จำเลยที่ 1 ติดต่อกับโจทก์ทั้งสามเพื่อต่ออายุกรมธรรม์และรับเบี้ยประกันชีวิตล่วงหน้าในนามของจำเลยที่ 2 โดยเปิดเผย จึงเท่ากับจำเลยที่ 2 เชิดให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการติดต่อรับประกันชีวิตและรับเบี้ยประกันชีวิตล่วงหน้า การที่จำเลยที่ 1 ฉ้อฉลโจทก์ทั้งสามให้ลงลายมือชื่อในคำขอทำประกันชีวิตเป็นการจงใจให้โจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหายอันเป็นละเมิดต่อโจทก์ทั้งสาม จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 และต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ทั้งสามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427 ประกอบมาตรา 425 ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการต่อไปว่า ค่าเสียหายอันเป็นค่าใช้จ่ายของโจทก์ทั้งสามในการทวงถามไม่ควรเกินกว่า 1,500 บาท หรือไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำนวน 10,000 บาท นั้น เป็นค่าเสียหายอันเกิดจากการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 และเป็นค่าติดตามทวงถามให้จำเลยทั้งสองคืนเบี้ยประกันชีวิต มิใช่ค่าเสียหายอันเกิดจากสัญญาเป็นโมฆะ หากโจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหายย่อมสามารถเรียกค่าเสียหายได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสามต้องเสียค่าใช้จ่ายในการติดตามทวงถามเบี้ยประกันชีวิตด้วย ฉะนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายทั้งหมดให้เป็นเงิน 10,000 บาท เหมาะสมแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
ที่ฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ว่า ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยในประเด็นว่า โจทก์ทั้งสามมีสิทธิบอกล้างสัญญาประกันชีวิตหรือไม่เป็นการไม่ชอบ ข้ออ้างตามอุทธรณ์ดังกล่าว จำเลยที่ 2 ไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้ชอบแล้ว และที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ทั้งสาม จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ตกลงที่กองนิติการ กรมการประกันภัย กระทรวงพาณิชย์ ว่า จำเลยที่ 2 ต้องคืนเงิน 92,958 บาท แก่โจทก์ทั้งสาม แต่ที่ถูกต้องคือ 104,550 บาท ซึ่งจำเลยที่ 2 คืนให้โจทก์ทั้งสามแล้ว ส่วนเงิน 180,000 บาท โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 1 จะไปว่ากันเอง จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดคืนเงิน 180,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสามนั้น จำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การต่อสู้คดี จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ทั้งไม่ใช่ปัญหาที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงต้องห้ามมิให้ฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
อนึ่ง คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาในส่วนของจำเลยที่ 2 ให้ชำระเงินจำนวน 353,433 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 180,000 บาท นับแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ของต้นเงิน 270,000 บาท นับแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2541 ถึงวันที่ 17 สิงหาคม 2541 และของต้นเงิน 163,433 บาท นับแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จ ทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์และฎีกาจึงเป็นจำนวน 371,743.75 บาท แต่จำเลยที่ 2 เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และฎีกาในทุนทรัพย์ 421,645.50 บาท จึงเกินมา ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และฎีกาส่วนที่เสียมาเกินศาลละ 1,247.50 บาท แก่จำเลยที่ 2
พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกา ศาลละ 1,247.50 บาท แก่จำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 3,000 บาท แทนโจทก์ทั้งสาม