คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14257/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 1 ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาค บูรพานิวส์ ฉบับเลขที่ 94 ประจำวันที่ 25 กรกฎาคม ถึงวันที่ 25 สิงหาคม 2550 แม้เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ทั้งสองและพลตำรวจเอก ว. ก็ตาม แต่โจทก์ทั้งสองและพลตำรวจเอก ว. ต่างถูกหมิ่นประมาทจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ในครั้งเดียวกัน จึงเป็นการกระทำความผิดอันเป็นกรรมเดียวและหาได้ทำให้เกิดผลเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันดังที่โจทก์ทั้งสองฎีกาไม่ โดยการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว โจทก์ทั้งสองและพลตำรวจเอก ว. ซึ่งต่างเป็นผู้เสียหายย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 มาในคดีเดียวกันหรือแยกกันฟ้องเป็นรายคดีก็ได้ ตราบใดที่ศาลยังมิได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องนั้น แต่หากคดีหนึ่งคดีใดศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องไปแล้ว ย่อมทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในอีกคดีหนึ่งระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 326, 328 พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 48 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันโฆษณาคำพิพากษาของศาลในหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาค บูรพานิวส์ และหนังสือพิมพ์รายวันอื่นๆ ที่วางจำหน่ายในกรุงเทพมหานครในหน้าแรกสุด อย่างน้อย 5 ฉบับ ติดต่อกัน 5 วัน โดยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าใช้จ่ายทั้งหมด
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 ประกอบมาตรา 83 ให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาตและให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยทั้งสองร่วมกันลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาค บูรพานิวส์ ฉบับที่ 94 ประจำวันที่ 25 กรกฎาคม ถึงวันที่ 25 สิงหาคม 2550 อันเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ทั้งสองและพลตำรวจเอกวิเชียร วันที่ 25 ตุลาคม 2550 พลตำรวจเอกวิเชียรนำการกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวไปยื่นฟ้องต่อศาลอาญา ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร แต่ถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ในระหว่างพิจารณา ตามสำเนาคำฟ้องคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3845/2550 วันที่ 22 ธันวาคม 2552 ศาลอาญามีคำพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ตามสำเนาคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4348/2552 คดีสำหรับจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ยุติไปโดยคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อแรกว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรม โดยโจทก์ทั้งสองฎีกาว่า จำเลยที่ 1 มีเจตนากระทำความผิดต่อโจทก์ทั้งสองแยกออกจากการกระทำที่ได้กระทำต่อพลตำรวจเอกวิเชียร อันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ฟ้องโจทก์ทั้งสองคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4348/2552 ของศาลอาญา เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาค บูรพานิวส์ ฉบับเลขที่ 94 ประจำวันที่ 25 กรกฎาคม ถึงวันที่ 25 สิงหาคม 2550 แม้เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ทั้งสองและพลตำรวจเอกวิเชียรก็ตาม แต่โจทก์ทั้งสองและพลตำรวจเอกวิเชียรต่างถูกหมิ่นประมาทจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ในครั้งเดียวกัน จึงเป็นการกระทำความผิดอันเป็นกรรมเดียวและหาได้ทำให้เกิดผลเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันดังที่โจทก์ทั้งสองฎีกาไม่ โดยการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว โจทก์ทั้งสองและพลตำรวจเอกวิเชียรซึ่งต่างเป็นผู้เสียหายย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 มาในคดีเดียวกันหรือแยกกันฟ้องเป็นรายคดีก็ได้ตราบใดที่ศาลยังมิได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องนั้น แต่หากคดีหนึ่งคดีใดศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องไปแล้ว ย่อมทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในอีกคดีหนึ่งระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) มิฉะนั้นจะกลายเป็นว่าจำเลยที่ 1 ถูกดำเนินคดีในการกระทำอันเดียวกันซ้ำสองอีก ส่วนที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า ในกรณีเช่นนี้หากมีผู้กระทำความผิดคบคิดกันวางแผนหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยหมิ่นประมาทพวกของตนด้วยแล้วให้พวกของตนฟ้องคดีและให้ศาลมีคำพิพากษาเสียก่อน เพื่อที่จะได้ไม่ต้องรับโทษ ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงแก่ผู้เสียหายที่แท้จริง เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) ที่บัญญัติให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปเมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง อันเป็นหลักการห้ามมิให้ดำเนินคดีซ้ำสองแก่ผู้กระทำความผิดในความผิดกรรมเดียวนั้น จะต้องปรากฏว่าในคดีก่อนผู้กระทำความผิดถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอย่างแท้จริง หากเป็นการดำเนินคดีกันอย่างสมยอมโดยมีเจตนาที่ไม่สุจริต แม้จะเป็นการกระทำกรรมเดียวกันก็ถือไม่ได้ว่าการกระทำกรรมนั้นเคยถูกฟ้องและศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง อันจะมีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดกรรมนั้นระงับไปไม่ ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าพลตำรวจเอกวิเชียรได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดซึ่งเกิดการกระทำของจำเลยที่ 1 อันเป็นกรรมเดียวกันนี้ต่อศาลอาญาและศาลอาญามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องนั้นแล้ว ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4348/2552 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยที่ 1 ของโจทก์ทั้งสองจึงระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ทั้งสองข้ออื่นอีก เพราะไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลคำพิพากษาได้
พิพากษายืน

Share