แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การร้องขอให้บังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ของการบังคับคดีให้ครบถ้วนภายใน 10 ปี คือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี แจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดีแล้ว จากนั้นต้องแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ยึดทรัพย์ของลูกหนี้ ซึ่งโจทก์ได้ปฏิบัติครบถ้วนตามขั้นตอนในการร้องขอให้บังคับคดีตามบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว แม้ในวันที่ 19 ธันวาคม 2536 โจทก์ได้ยื่นคำแถลงขอถอนการยึดที่ดินพิพาท และขอถอนการบังคับคดีไปแล้วก็ตาม แต่เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2537 โจทก์ได้ยื่นคำแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้เพิกถอนคำสั่งให้ถอนการบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสี่โดยให้โจทก์มีอำนาจบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสี่ต่อไปและระงับการแจ้งถอนการยึดที่ดินพิพาทไปยังเจ้าพนักงานที่ดินโดยอ้างว่าโจทก์ยังไม่ได้รับเงินตามแคชเชียร์เช็คที่จำเลยทั้งสี่นำมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ แม้เจ้าพนักงานบังคับคดีจะยกคำแถลงของโจทก์แต่โจทก์ไม่ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวต่อศาลจนศาลฎีกาพิพากษาถึงที่สุดให้โจทก์บังคับคดีต่อไปได้ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงมีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการบังคับคดีไปตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้โจทก์บังคับคดีต่อไปได้ตามคำแถลงของโจทก์ที่ยื่นไว้ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2537 ซึ่งยังไม่พ้น 10 ปี นับถัดจากวันครบกำหนดที่จำเลยทั้งสี่จะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมคือวันที่ 1 มิถุนายน 2530 โจทก์จึงมีสิทธิที่จะบังคับคดีแก่ที่ดินพิพาทได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271
ผู้ร้องเป็นบริษัทจำกัดที่จดทะเบียนเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ตาม พ.ร.ก. บริษัทบริหารสินทรัพย์ฯ และได้รับโอนสินทรัพย์อันเป็นสิทธิเรียกร้องอันมีต่อจำเลยทั้งสี่มาจากโจทก์ซึ่งเป็นสถาบันการเงินแล้ว ซึ่งการโอนสินทรัพย์ในกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาแล้วนั้น พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ฯ มาตรา 7 กำหนดให้บริษัทบริหารสินทรัพย์เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ดังนั้น การเข้าสวมสิทธิในการบังคับคดีตามคำพิพากษาตามสิทธิเรียกร้องแทนโจทก์ที่มีอยู่แก่จำเลยทั้งสี่ของผู้ร้องจึงเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ทั้งผู้ร้องก็ได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามคำร้องให้เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์การเข้าสวมสิทธิของผู้ร้องจึงชอบด้วยกฎหมาย
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 5,795,250.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมเท่าที่ศาลไม่สั่งคืนกับค่าทนายความแก่โจทก์ โดยจำเลยทั้งสี่สัญญาว่าจะชำระให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดวันที่ 31 พฤษภาคม 2530 แต่จำเลยทั้งสี่ไม่ชำระ ต่อมาวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2531 โจทก์ยื่นคำขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีแก่ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 11608 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 และที่ดินโฉนดเลขที่ 16690, 2108, 10174 พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ดินตาม น.ส.3 เลขที่ 25 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 3 กับที่ดินโฉนดเลขที่ 12833 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 4 เมื่อศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีแล้วโจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินดังกล่าว วันที่ 20 มิถุนายน 2533 โจทก์แถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการยึดที่ดินโฉนเลขที่ 12833 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง วันที่ 29 ธันวาคม 2536 โจทก์แถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการยึดที่ดินที่ได้ยึดไว้ที่เหลือ เนื่องจากจำเลยทั้งสี่ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์เสร็จสิ้นแล้ว วันที่ 4 มกราคม 2537 โจทก์แถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเพิกถอนคำสั่งที่ถอนการบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสี่โดยให้โจทก์บังคับคดีแด่จำเลยทั้งสี่ตามคำพิพากษาต่อไปและให้ระงับการแจ้งถอนการยึดที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 11608 และที่ดินโฉนดเลขที่ 16690, 2108, 10174 กับที่ดินตาม น.ส.3 เลขที่ 25 และให้คืนเงินค่าธรรมเนียมแก่โจทก์เนื่องจากโจทก์ยังมิได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมจากจำเลยทั้งสี่ครบถ้วน เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งว่า ไม่อาจคืนเงินค่าธรรมเนียมแก่โจทก์ ทั้งโจทก์ไม่มีสิทธิบังคับคดีนี้ต่อไปได้อีก ให้ยกคำแถลง ต่อมาวันที่ 6 มกราคม 2537 โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า ที่โจทก์แถลงขอถอนการยึดที่ดินที่เหลือที่โจทก์ได้ยึดไว้ทั้งหมดต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2536 เป็นไปโดยหลงผิดเพราะจำเลยทั้งสี่ยังมิได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมแก่โจทก์ ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ยึดทรัพย์ของจำเลยทั้งสี่และดำเนินการบังคับคดีนี้ต่อไป ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้องศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับให้โจทก์บังคับคดีต่อไปได้ คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 วันที่ 12 ธันวาคม 2540 โจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 16690, 2108, 10174 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และที่ดินตาม น.ส.3 เลขที่ 25 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 3 และวันที่ 2 มิถุนายน 2541 โจทก์ยื่นคำแถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 11608 ของจำเลยที่ 2 และต่อมาวันที่ 10 พฤษภาคม 2542 เจ้าพนักงานบังคับคดีอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์ตามคำร้องของผู้ร้องลงวันที่ 19 เมษายน 2542 ต่อมาวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2544 ผู้ร้องยื่นคำแถลงขอนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 11608 แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งยกคำขอของผู้ร้องที่ขอให้ยึดที่ดินพิพาทโดยเห็นว่าผู้ร้องมิได้ดำเนินการบังคับคดีแก่ที่ดินพิพาทดังกล่าวภายในกำหนด 10 ปี จึงหมดสิทธิบังคับคดีแล้ว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า คำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ให้ยกคำขอบังคับคดีของผู้ร้องไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 11608 ตำบลท่าศาลา อำเภอเมือเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ต่อไป
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิในการบังคับคดีแทนโจทก์ตามคำร้องที่ยื่นมาพร้อมกับคำร้องคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7
จำเลยทั้งสี่ยื่นคำคัดค้านว่า เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับให้โจทก์มีสิทธิบังคับคดีต่อไปได้ โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะบังคับคดีได้ภายใน 10 ปี นับแต่มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง เพราะการที่จำเลยทั้งสี่ยื่นฎีกาไม่เป็นการทุเลาการบังคับ เมื่อโจทก์มิได้บังคับคดีแก่จำเลยทั้งสี่จนพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว คำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ยกคำแถลงขอบังคับคดีแก่ที่ดินพิพาทของผู้ร้องจึงชอบแล้ว ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีต่อไป
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2529 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสี่ชำระเงินแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมกับค่าทนายความแทนโจทก์โดยต้องชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2530 แต่จำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอม โจทก์ขอหมายบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสี่และได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินพิพาท ต่อมาวันที่ 29 ธันวาคม 2536 โจทก์ยื่นคำแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าจำเลยทั้งสี่ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์เสร็จสิ้นแล้วขอถอนการยึดที่ดินพิพาทตามคำแถลงเอกสารหมาย ร.4 และเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2537 โจทก์ได้ยื่นคำแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าโจทก์ไม่ได้รับเงินตามแคชเชียร์เช็คที่จำเลยทั้งสี่ได้นำมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเพิกถอนคำสั่งที่ให้ถอนการบังคับคดีโดยให้โจทก์มีอำนาจบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสี่ต่อไปและระงับการแจ้งถอนการยึดที่พินพิพาทไปยังเจ้าพนักงานที่ดิน ตามคำแถลงเอกสารหมาย ร.5 เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งยกคำแถลงของโจทก์ ต่อมาวันที่ 6 มกราคม 2537 โจทก์ได้ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีต่อศาลชั้นต้นขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ยึดทรัพย์ของจำเลยทั้งสี่และบังคับคดีต่อไปจนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้จากจำเลยทั้งสี่ครบถ้วน คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่พิพากษากลับคำสั่งของศาลชั้นต้นให้โจทก์บังคับคดีได้ต่อไปได้ตามเอกสารหมาย ร.8
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ข้อแรกที่ว่า ผู้ร้องมีสิทธิบังคับคดีแก่ที่ดินพิพาท หรือไม่ เห็นว่า การร้องขอให้บังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ของการบังคับคดีให้ครบถ้วนภายใน 10 ปี คือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี ขั้นต่อไปต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดีแล้ว จากนั้นเจ้าหนี้ต้องแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ยึดทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำแถลง คดีนี้โจทก์ได้ปฏิบัติครบถ้วนตามขั้นตอนในการร้องขอให้บังคับคดีตามบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว แม้ในวันที่ 19 ธันวาคม 2536 โจทก์ได้ยื่นคำแถลงขอถอนการยึดที่ดินพิพาท และขอถอนการบังคับคดีไปแล้วก็ตาม แต่เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2537 โจทก์ได้ยื่นคำแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเพิกถอนคำสั่งที่ให้ถอนการบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสี่โดยให้โจทก์มีอำนาจบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสี่ต่อไปและระงับการแจ้งถอนการยึดที่ดินพิพาทไปยังเจ้าพนักงานที่ดินโอยอ้างว่าโจทก์ไม่ได้รับเงินตามแคชเชียร์เช็คที่จำเลยทั้งสี่นำมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ตามเอกสารหมาย ร.5 แม้เจ้าพนักงานบังคับคดียกคำแถลงของโจทก์แต่โจทก์ได้ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวต่อศาลชั้นต้น เมื่อคดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้โจทก์บังคับคดีต่อไปได้ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงมีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการบังคับคดีไปตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาลที่ให้โจทก์บังคับคดีต่อไปได้ตามคำแถลงของโจทก์ที่ได้ยื่นไว้ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2537 ตามเอกสารหมาย ร.5 ซึ่งยังไม่พ้นกำหนดเวลา 10 ปี นับถัดจากวันครบกำหนดที่จำเลยทั้งสี่จะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมคือวันที่ 1 มิถุนายน 2530 โจทก์จึงมีสิทธิที่จะบังคับคดีแก่ที่ดินพิพาทได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ผู้ร้องซึ่งเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ย่อมมีสิทธิดำเนินการบังคับคดีแก่ที่ดินพิพาทต่อไปได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น
ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ข้อหลังที่ว่า การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอเข้าสวมสิทธิในการบังคับคดีแทนโจทก์เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2542 และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้มีคำสั่งอนุญาตโดยผู้ร้องมิได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อให้จำเลยทั้งสี่ได้มีโอกาสคัดค้านและทำการไต่สวนเสียก่อนเป็นการชอบด้วยโดยกฎหมายหรือไม่ ปัญหาข้อนี้แม้จำเลยทั้งสี่เพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นนี้ แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับอำนาจในการบังคับคดีของผู้ร้องซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยทั้งสี่มีสิทธิยกปัญหาเช่นว่านี้ในชั้นนี้ได้แม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลล่างทั้งสอง เห็นว่า ผู้ร้องเป็นบริษัทจำกัดที่จดทะเบียนเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 และได้รับโอนสินทรัพย์อันเป็นสิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีต่อจำเลยทั้งสี่คดีนี้มาจากโจทก์ซึ่งเป็นสถาบันการเงินแล้ว พระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 บัญญัติว่า “ในการโอนสินทรัพย์จากสถาบันการเงินไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ถ้ามีการฟ้องบังคับสิทธิเรียกร้องเป็นคดีอยู่ในศาล ให้บริษัทบริหารสินทรัพย์เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนในคดีดังกล่าว… และในกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้นแล้ว ก็ให้เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้น” ดังนั้น การเข้าสวมสิทธิในการบังคับคดีตามคำพิพากษาตามสิทธิเรียกร้องแทนโจทก์ที่มีอยู่แก่จำเลยทั้งสี่ของผู้ร้องจึงเป็นไปโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ทั้งผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต การเข้าสวมสิทธิของผู้ร้องจึงชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน