คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7886-7887/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ราษฎรเข้าอยู่ในเขตทางหลวงแผ่นดินที่เกิดเหตุเป็นเพราะทางราชการและหน่วยงานของรัฐเป็น ฝ่ายจัดพื้นที่ให้เพื่อบรรเทาผลร้ายจากการสร้างเขื่อนบางลาง เป็นเหตุให้ราษฎรในพื้นที่เดิมประสบภัยน้ำท่วมจน ไม่อาจอยู่อาศัยในถิ่นที่อยู่เดิมได้ การเข้าอยู่ในที่ดินบริเวณพื้นที่เกิดเหตุของจำเลยที่ 1 นาย น. นาย ถ. และนาง พ. จึงเป็นการได้รับสิทธิตามที่ทางราชการและหน่วยงานของรัฐดังกล่าวจัดสรรที่ดินให้ อันเป็นการเชื่อโดยสุจริตในสิทธิที่แต่ละคนได้รับการจัดสรรที่ดิน และได้อยู่อาศัยกันตลอดมาจนกระทั่งเกิดเหตุคดีนี้ในปี 2539 ซึ่งถือไม่ได้ว่าเป็นการเข้าอยู่โดยมีเจตนาฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ. ทางหลวงฯ ดังนี้ แม้การเข้าอยู่จะต้องห้ามตาม พ.ร.บ. ทางหลวงฯ เพราะมิได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมาย แต่เมื่อมิได้เป็นการกระทำโดยเจตนาฝ่าฝืนต่อกฎหมายมาแต่ต้น ก็หามีความผิดอันจะต้องรับโทษทางอาญาตาม พ.ร.บ. ทางหลวงฯ ไม่ ฉะนั้น การที่จำเลยที่ 1 รับโอนสิทธิจากนาย น. และนาย ถ. กับจำเลยที่ 2 รับโอนสิทธิจากนาง พ. และได้เข้าทำการยึดถือก่อสร้าง อาคารพาณิชย์และบ้านพักอาศัยในที่เกิดเหตุ แม้เจ้าหน้าที่ของแขวงการทางยะลาได้ห้ามปราม แต่จำเลยทั้งสอง ไม่เชื่อฟัง ก็เป็นเรื่องที่ทางราชการกรมทางหลวงจะต้องดำเนินคดีในทางแพ่งแก่จำเลยทั้งสองให้รื้อถอนออกไปเท่านั้น จะนำเหตุที่จำเลยทั้งสองซึ่งเข้าใจโดยสุจริตว่าตนมีสิทธิมาแต่ต้นจึงไม่เชื่อฟังมาเป็นความผิดทางอาญาได้ไม่

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกจำเลยในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 2
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม พ.ร.บ. ทางหลวง พ.ศ. 2535 มาตรา 47, 71
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม พ.ร.บ. ทางหลวง พ.ศ. 2535 มาตรา 47 วรรคหนึ่ง, 71 จำคุกคนละ 1 เดือน ปรับคนละ 2,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้รับโทษจำคุกมาก่อน ให้รอการลงโทษมีกำหนดคนละ 1 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองสำนวนฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า… ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ 4 คูหา และจำเลยที่ 2 ปลูกสร้างอาคารบ้านพัก ภายในเขตทางหลวง โดยมิได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมาย แต่พื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ทางราชการจังหวัดยะลา และองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ประชุมหารือกันและกำหนดให้ราษฎรในท้องที่บ้านโตเก่า อำเภอธารโต ซึ่งประสบความเดือดร้อนเพราะน้ำท่วมเนื่องจากการสร้างเขื่อนบางลางเมื่อปี 2522 มาอยู่อาศัยในพื้นที่นี้ตลอดมา โดยจำเลยที่ 1 ได้สิทธิที่ดิน 2 คูหา ปลูกบ้าน และต่อมาปี 2535 จำเลยที่ 1 ได้ซื้อสิทธิที่ดินข้างเคียงอีก 4 คูหาจากนายเนื่องและนายถนอม ส่วนจำเลยที่ 2 ได้รับโอนสิทธิที่ดิน 2 คูหา จากนางเพิ่ม ตั้งแต่ปี 2533 โดยที่ดินดังกล่าวได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนบางลาง จึงได้สิทธิในที่ดินในพื้นที่เกิดเหตุนี้ ครั้นปี 2539 จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงรื้อสิ่งปลูกสร้างเดิมของนายเนื่อง นายถนอมและนางเพิ่มเพื่อทำการปลูกสร้างอาคารและปลูกบ้านใหม่ ระหว่างดำเนินการก่อสร้างก็ได้ถูกเจ้าหน้าที่แขวงการทางยะลาสั่งห้ามก่อสร้างและให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในที่ดิน 4 คูหา ดังกล่าวออกไป โดยอ้างเหตุเป็นพื้นที่เขตทางหลวง คดีมีปัญหาข้อเท็จจริงต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองกระทำการดังกล่าวโดยมีเจตนาฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ. ทางหลวง พ.ศ. 2535 มาตรา 47 และ 71 ซึ่งเป็นความผิดและต้องรับโทษทางอาญาหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงในการที่ราษฎรเข้าอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวเป็นเพราะทางราชการและหน่วยงานของรัฐเป็นฝ่ายจัดพื้นที่ให้เพื่อบรรเทาผลร้ายจากการสร้างเขื่อนบางลาง เป็นเหตุให้ราษฎรในพื้นที่เดิมประสบภัยน้ำท่วมจนไม่อาจอยู่อาศัยในถิ่นที่อยู่เดิมได้ การเข้าอยู่ในที่ดินบริเวณพื้นที่เกิดเหตุคดีนี้ของจำเลยที่ 1 นายเนื่อง นายถนอมและนางเพิ่มจึงเป็นการได้รับสิทธิตามที่ทางราชการและหน่วยงานของรัฐดังกล่าวจัดสรรที่ดินให้ อันเป็นการเชื่อโดยสุจริตในสิทธิที่แต่ละคนได้รับการจัดสรรที่ดิน และได้อยู่อาศัยกันตลอดมาจนกระทั่งเกิดเหตุคดีนี้ในปี 2539 ดังนี้ แม้การเข้าอยู่จะต้องห้ามตาม พ.ร.บ. ทางหลวง พ.ศ. 2535 เพราะมิได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมาย แต่เมื่อมิได้เป็นการกระทำโดยเจตนาฝ่าฝืนต่อกฎหมายมาแต่ต้น ก็หามีความผิดอันจะต้องรับโทษทางอาญาตาม พ.ร.บ. ทางหลวง พ.ศ. 2535 ไม่ ฉะนั้น การที่จำเลยที่ 1 รับโอนสิทธิจากนายเนื่องและนายถนอม กับจำเลยที่ 2 รับโอนสิทธิจากนางเพิ่ม และได้เข้าทำการยึดถือก่อสร้างอาคารพาณิชย์และบ้านพักอาศัย เจ้าหน้าที่ของแขวงการทางยะลาได้ห้ามปราม แต่จำเลยทั้งสองไม่เชื่อฟังก็เป็นเรื่องที่ทางราชการกรมทางหลวงจะต้องดำเนินคดีในทางแพ่งแก่จำเลยทั้งสองให้รื้อถอนออกไปเท่านั้น จะนำเหตุที่จำเลยทั้งสองซึ่งเข้าใจโดยสุจริตว่าตนมีสิทธิมาแต่ต้นจึงไม่เชื่อฟังมาเป็นความผิดทางอาญาหาได้ไม่ กรณีเป็นเรื่องการขาดการประสานงานระหว่างส่วนราชการต่าง ๆ ของรัฐที่เกี่ยวข้องในการก่อสร้างเขื่อนบางลาง ในการดำเนินการจัดที่ดินให้แก่ราษฎรที่เดือดร้อนจากการสร้างเขื่อน และความบกพร่องในการกำหนดพื้นที่เขตทางหลวงและประกาศให้ราษฎรทั่วไปได้ทราบ ดังจะเห็นได้จากเมื่อเกิดเหตุคดีนี้แล้ว เจ้าหน้าที่แขวงการทางยะลาจึงเพิ่งนำหลักเขตทางหลวงไปปักขึ้นใหม่ กรณีจึงเป็นเรื่องในทางแพ่งเท่านั้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดต้องรับโทษทางอาญาอีกด้วย ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน

Share