แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยมีบุหรี่ซิกาแรตที่ผลิตในต่างประเทศไว้ในครอบครองโดยมิได้ปิดแสตมป์ยาสูบ อันเป็นความผิดตามมาตรา 19แห่งพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 เมื่อโจทก์อ้างบทมาตราที่จำเลยกระทำผิดมาท้ายฟ้องแล้ว แม้อ้างบทมาตราที่เป็นบทลงโทษไม่ถูกต้อง คืออ้างแต่มาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติยาสูบพ.ศ.2509 และพระราชบัญญัติยาสูบ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2510ซึ่งถูกยกเลิกแก้ไขใหม่แล้ว เมื่อปรากฏว่าขณะจำเลยกระทำผิดได้มีพระราชบัญญัติยาสูบ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2512 มาตรา 17ยกเลิกแก้ไขบทลงโทษมาตรา 49 ใหม่ ดังนี้ ศาลก็ลงโทษจำเลยด้วยระวางโทษที่กำหนดในบทมาตราที่แก้ไขใหม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยไม่ได้เป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาสูบได้บังอาจมีบุหรี่ซิกาแรตที่ผลิตในต่างประเทศอันเป็นยาสูบตามพระราชบัญญัติยาสูบฯรวม ๒๐๐ ซอง หนัก ๔,๒๐๐ กรัม ไว้ในครอบครองโดยมิได้ปิดแสตมป์ยาสูบฯซึ่งบัญญัติให้ต้องเสียค่าแสตมป์ยาสูบ ปิด ๑ กรัมต่อ ๑๖ สตางค์รวมค่าแสตมป์ยาสูบที่จำเลยจะต้องปิดทั้งหมดเงิน ๖๗๒ บาท ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. ๒๕๐๙ มาตรา ๑๙, ๔๔, ๔๙ กฎกระทรวงฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๑๐) และฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๑๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. ๒๕๐๙ พระราชบัญญัติยาสูบ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๑มาตรา ๓, ๔ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๘ สั่งริบของกลาง และบวกโทษที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนเข้ากับโทษในคดีนี้ด้วย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามบทกฎหมายที่โจทก์อ้างมาท้ายฟ้อง ให้ปรับ ๔,๒๐๐ บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๗๘ คงปรับ ๒,๑๐๐ บาท ของกลางริบ โทษที่รอไว้ไม่อาจเอามาบวกให้ได้ตามขอ
โจทก์อุทธรณ์ว่า ต้องปรับ ๑๐ เท่าของค่าแสตมป์ยาสูบที่จะต้องปิดตามพระราชบัญญัติยาสูบที่ขอมาท้ายฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาต่อมาว่า ศาลอุทธรณ์ลงโทษโดยอาศัยความตามมาตรา ๔๙ซึ่งแก้ไขโดยพระราชบัญญัติยาสูบ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๑ นั้นไม่ชอบเพราะถูกยกเลิกแล้วโดยพระราชบัญญัติยาสูบ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๒
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามฟ้องของโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. ๒๕๐๙ มาตรา ๔๙ ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาสูบ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๑ มาตรา ๔ ซึ่งบัญญัติว่า”ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๙ หรือมาตรา ๒๐ ต้องระวางโทษปรับสิบเท่าของค่าแสตมป์ที่จะต้องปิดถ้าเป็นบุหรี่ซิกาแรตที่มิได้ทำโดยผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาสูบ ต้องระวางโทษปรับกรัมละหนึ่งบาท” ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จึงได้ลงโทษปรับจำเลยกรัมละ ๑ บาทเป็นเงิน ๔,๒๐๐ บาทแต่ปรากฏว่าขณะจำเลยกระทำผิดได้มีพระราชบัญญัติยาสูบ (ฉบับที่ ๓)พ.ศ. ๒๕๑๒ แก้ไขบทลงโทษในมาตรา ๔๙ เป็นว่า “ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๙หรือมาตรา ๒๐ ต้องระวางโทษปรับสิบเท่าของค่าแสตมป์ยาสูบที่จะต้องปิดหรือที่ขาดอยู่ แต่ต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยบาท ถ้าเป็นบุหรี่ซิกาแรตซึ่งผลิตในประเทศและมิได้มีประกาศกำหนดราคาขายปลีกไว้ต้องระวางโทษปรับกรัมละสองบาท แต่ต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยบาท” ดังนี้ เนื่องจากโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามบทกฎหมายที่ถูกแก้ไขยกเลิกแล้ว ศาลฎีกาจะปรับบทลงโทษจำเลยตามบทกฎหมายที่ใช้อยู่ขณะจำเลยกระทำผิดได้หรือไม่ พิเคราะห์แล้วคดีนี้จำเลยกระทำผิดฐานมีบุหรี่ซิกาแรตที่ผลิตในต่างประเทศไว้ในครอบครองโดยมิได้ปิดแสตมป์ยาสูบ อันเป็นความผิดตามมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. ๒๕๐๙ ซึ่งโจทก์ได้อ้างบทมาตราที่จำเลยกระทำผิดมาท้ายฟ้องแล้วเพียงแต่โจทก์อ้างมาตราอันเป็นบทลงโทษจำเลยไม่ถูกต้อง คือแทนที่จะอ้างมาตรา ๔๙ ซึ่งแก้ไขใหม่โดยพระราชบัญญัติยาสูบ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๒โจทก์กลับอ้างมาตรา ๔๙ ของพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. ๒๕๐๙ และพระราชบัญญัติยาสูบ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๑ ซึ่งถูกยกเลิกและแก้ไขใหม่แล้วมาเป็นบทลงโทษจำเลยเท่านั้น กรณีดังนี้ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อฟังว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. ๒๕๐๙ แล้วก็ย่อมต้องลงโทษจำเลยตามมาตรา ๔๙ แม้โจทก์จะอ้างแต่มาตรา ๔๙ แห่งพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. ๒๕๐๙ มาเฉย ๆ ศาลก็ลงโทษจำเลยตามมาตรา ๔๙ซึ่งแก้ไขใหม่แล้วได้ เพราะแม้จะแก้ไขใน พ.ศ. ใด ก็คงเป็นมาตรา ๔๙ นั้นเองทั้งนี้ ตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ ๓๔๖/๒๔๘๒ ระหว่างพนักงานอัยการลพบุรีโจทก์ นายขุนทอง สุภาพ จำเลย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยตามบทกฎหมายที่ไม่ใช่แล้ว ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. ๒๕๐๙ มาตรา ๑๙ และมาตรา ๔๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาสูบ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๒ มาตรา ๑๗ให้ปรับจำเลย ๑๐ เท่าของค่าแสตมป์ยาสูบที่จะต้องปิด ๖๗๒ บาทเป็นเงิน ๖,๗๒๐ บาท จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงปรับ ๓,๓๖๐ บาท ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ นอกจากที่แก้นี้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์