คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1087/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในอนุญาตร่อนแร่นั้น กฎหมายห้ามมิให้ผู้ถือเอาให้ผู้อื่นนำไปใช้ อาชญาบัตรตรวจแร่ผู้ถือให้ผู้อื่นใช้ก็ได้ โดยจำกัดให้คุ้มถึงเฉพาะลูกจ้างของผู้ถืออาชญาบัตร แต่ประทานบัตรนั้นหาได้มีข้อจำกัดดังใบอนุญาตร่อนแร่หรืออาชญาบัตรตรวจแร่ไม่
การที่จำเลยผู้ถือประทานบัตรมอบอำนาจให้โจทก์ทำเหมืองแร่ตามประทานบัตร มิได้โอนประทานบัตรให้โจทก์ แม้โจทก์จะเป็นผู้รับมอบอำนาจจากจำเลย จำเลยก็ยังคงเป็นผู้ถือประทานบัตร หากจะมีความรับผิดเกิดขึ้นตามประทานบัตรอย่างใด จำเลยก็ยังคงรับผิดอยู่อย่างนั้น การมอบอำนาจและชักเอาประโยชน์ในกรณีเช่นนี้ หาทำให้มีผลให้ผู้ใดต้องขายผลิตผลของตนแก่ผู้รับมอบอำนาจถูกลงไม่ และก็ไม่มีผลทำให้ผู้ใดต้องซื้อแร่จากผู้รับมอบอำนาจแพงขึ้นกว่าราคาตลาดแต่ประการใด สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยมิได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่เป็นโมฆะ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7 – 8/2509)
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 827 ตัวการจะถอนตัวแทนเสียเวลาใดก็ได้ทุกเมื่อ เหตุนี้ แม้การถอนอำนาจจะเป็นการผิดสัญญา โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจก็ไม่มีสิทธิจะบังคับให้จำเลยมอบอำนาจให้ตนได้ทำเหมืองแร่ต่อไปจนครบกำหนดเวลาตามสัญญา เป็นกรณีที่โจทก์ย่อมต้องรับรู้ถึงผลที่จะเกิดขึ้นเช่นนี้แล้ว ดังนี้ ศาลย่อมคำนวณค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงินจำนวนหนึ่งโดยกะประมาณจากรายได้ของโจทก์ชั่วระยะเวลาที่โจทก์ควรจะระงับความเสียหายของโจทก์ที่จะมีต่อไป เพราะไม่สามารถทำเหมืองแร่ของจำเลยได้
โจทก์ฟ้องเรียกเงินจำนวนหนึ่งเป็นค่าเสียหายเพราะจำเลยผิดสัญญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(2) ให้โจทก์ฟ้องต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล จำเลยเป็นนิติบุคคล แม้จะจดทะเบียนในต่างประเทศ แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 71 วรรค 2 ถิ่นที่นิติบุคคลมีสาขาสำนักงานจะจัดเป็นภูมิลำเนาในส่วนกิจการอันทำ ณ ที่นั้นก็ได้ เมื่อจำเลยมีสำนักงานสาขาอยู่ในเขตอำนาจศาลชั้นต้นที่โจทก์ฟ้องคดีนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยต่างเป็นบริษัทจำกัด ตั้งขึ้นตามกฎหมายแห่งสหพันธ์มาลายา มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ปีนัง สหพันธ์มาลายา และต่างมีสาขาทำการอยู่ในประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๔๙๓ จำเลยทำสัญญากับโจทก์ให้โจทก์ทำเหมืองแร่ดีบุกซึ่งจำเลยได้รับประทานบัตรจากรัฐบาลไทย เหมืองดังกล่าวอยู่ที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา มีกำหนดเวลา๑๕ ปี และมีสิทธิต่อได้อีก ๑๕ ปี โจทก์ลงทุนซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ทำเหมืองเป็นเงิน ๕๘๗,๔๔๘.๒๔ เหรียญมาลายู คิดเป็นเงินไทย ๔,๑๑๒,๑๓๗.๖๘ บาท จำเลยจะต้องทำใบมอบอำนาจให้โจทก์ปฏิบัติการทำเหมืองได้สะดวกและมอบไว้แก่เจ้าพนักงานโลหกิจด้วย ถ้าไม่มีใบมอบอำนาจ โจทก์ทำเหมืองแร่ไม่ได้ ครั้นวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๓ จำเลยได้แจ้งการถอนมอบอำนาจที่มอบให้โจทก์ โจทก์ทำเหมืองแร่ไม่ได้ ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย ๕๓๙,๔๐๙ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย และค่าที่โจทก์ต้องเสียประโยชน์อันควรมีควรได้เดือนละ ๔๑,๔๙๓ บาท ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าโจทก์จะได้เข้าทำเหมืองต่อไปตามสัญญา และสามารถทำการขายแร่ตามสัญญาได้
จำเลยให้การว่า นายแชนยูชิคไม่ได้เป็นกรรมการของจำเลย ไม่ได้เป็นหุ้นส่วนด้วย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยมีสำนักงานอยู่ปีนัง ได้ทำสัญญาเช่ากับโจทก์จริง โจทก์ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามสัญญาผลิตแร่ไม่ได้ตามโควต้า จำเลยเกรงจะได้รับความเสียหาย จึงบอกเลิกสัญญาถอนใบมอบอำนาจเสีย ค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องมากเกินควร
ศาลชั้นต้นเห็นว่า สัญญาเช่าทำเหมืองระหว่างโจทก์จำเลย มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะ พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ปัญหาข้อแรกมีว่า จำเลยได้รับประทานบัตรทำเหมืองแร่รายนี้มาแล้ว จำเลยมิได้ทำเอง กลับทำสัญญาให้โจทก์ทำเหมืองแร่แทนตน โดยได้รับผลประโยชน์จากโจทก์ สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยดังนี้เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่นั้น ตามพระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่ พ.ศ. ๒๔๖๑ มาตรา ๑๑ ใบอนุญาตร่อนแร่คุ้มได้เฉพาะตัวผู้ถือใบอนุญาต ไม่คุ้มถึงลูกจ้างหรือจะเอาไปให้ผู้อื่นใช้ทำการแทนไม่ได้ ฯลฯ มาตรา ๑๖ อาชญาบัตรตรวจแร่เป็นของให้เฉพาะตัว ผู้ถือจะโอนให้ผู้อื่นไม่ได้ แต่คุ้มถึงลูกจ้างของผู้ถือด้วย พระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่ พ.ศ. ๒๔๖๑ มาตรา ๔๕ (ฉบับที่ ๘) มาตรา ๖ การที่จะโอนประทานบัตรนั้น ถ้ารัฐมนตรีไม่ได้ลงนามยอมให้โอนแล้ว จะโอนไม่ได้ ฯลฯ ศาลฎีกาเห็นว่า ใบอนุญาตร่อนแร่นั้น กฎหมายห้ามมิให้ผู้ถือเอาไปให้ผู้อื่นนำไปใช้ อาชญาบัตรตรวจแร่ผู้ถือให้ผู้อื่นใช้ก็ได้ โดยจำกัดให้คุ้มถึงเฉพาะลูกจ้างของผู้ถืออาชญาบัตร แต่ประทานบัตรนั้นหาได้มีข้อห้ามข้อจำกัดดังใบอนุญาตร่อนแร่หรือาชญาบัตรตรวจแร่ไม่ คงเป็นปัญหาว่าการที่จำเลยผู้ถือประทานบัตรมอบอำนาจให้โจทก์ทำเหมืองแร่ตามประทานบัตรโดยจำเลยชักเอาประโยชน์จากผลที่ทำได้เป็นการโอนประทานบัตรที่จะต้องได้รับความยินยอมจากรัฐมนตรีตามกฎหมายก่อนหรือไม่ ข้อนี้เป็นที่เห็นได้ชัดว่าจำเลยมิได้โอนประทานบัตรให้โจทก์ แม้จะมีโจทก์เป็นผู้รับมอบอำนาจจากจำเลย จำเลยก็ยังคงเป็นผู้ถือประทานบัตร มีนิติสัมพันธ์กับผู้ออกประทานบัตรอยู่ตามเดิม หากจะมีความรับผิดเกิดขึ้นตามประทานบัตรอย่างใด จำเลยก็ยังคงรับผิดอยู่อย่างนั้น ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าการมอบอำนาจแล้วชักเอาประโยชน์จากผู้รับมอบอำนาจเช่นนี้ จะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอยู่หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า การมอบอำนาจและชักเอาประโยชน์ในกรณีเช่นนี้ หามีผลให้ผู้ใดต้องขายผลิตผลของตนแก่ผู้รับมอบอำนาจด้วยราคาถูกลงดังฎีกาที่ ๑๒๘๘/๒๕๐๑ นั้นไม่ และก็ไม่มีผลทำให้ผู้ใดต้องซื้อแร่จากผู้รับมอบอำนาจแพงขึ้นกว่าราคาตลาดแต่ประการใด ศาลฎีกาจึงมีมติโดยที่ประชุมใหญ่ว่า สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยมิได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าสัญญารายนี้เป็นโมฆะนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
ศาลฎีกาฟังตามที่ศาลชั้นต้นชี้ขาดมาว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาในการที่เพิกถอนใบมอบอำนาจ ไม่ยอมให้โจทก์ทำเหมืองแร่ตามสัญญา
ปัญหาเรื่องค่าเสียหายของโจทก์ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์เรียกร้องเกินสมควรจึงคำนวณเฉลี่ยจากค่าชักถิ้วที่โจทก์ชำระแก่จำเลยตลอดเวลา ๕ ปี เดือนละ ๕,๕๓๕.๖๗ บาท ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าเป็นผลกำไรของโจทก์โดยถูกต้อง แต่โจทก์ควรได้ค่าเสียหายในคดีนี้เป็นจำนวนเท่าใดนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๒๗ ตัวการจะถอนตัวแทนเสียเวลาใดก็ได้ทุกเมื่อ เหตุนี้ แม้การถอนอำนาจจะเป็นการผิดสัญญา โจทก์ก็ไม่มีสิทธิจะบังคับให้จำเลยมอบอำนาจให้ตนได้ทำเหมืองแร่ต่อไปจนครบเวลาตามสัญญา เป็นกรณีที่โจทก์ย่อมต้องรับรู้ถึงผลที่จะเกิดขึ้นได้เช่นนี้แล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า ควรคำนวณค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงินจำนวนหนึ่งโดยกะประมาณจากรายได้ของโจทก์ดังกล่าวแล้วชั่วระยะเวลาที่โจทก์ควรจะระงับความเสียหายของโจทก์ที่จะมีต่อไป เพราะไม่สามารถทำเหมืองแร่ของจำเลยได้ ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าควรเป็นจำนวน ๖๕,๐๐๐ บาท เป็นค่าทดแทนเพียงพอแล้ว
ข้อที่จำเลยต่อสู้คดีว่า จำเลยมิได้มีภูมิลำเนาในเขตศาลชั้นต้นที่โจทก์ฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกเงินจำนวนหนึ่งเป็นค่าเสียหาย เพราะจำเลยผิดสัญญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๔(๒) ให้โจทก์ฟ้องต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล จำเลยเป็นนิติบุคคล แม้จะจดทะเบียนในต่างประเทศ แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๑ วรรค ๑ ถิ่นที่นิติบุคคลที่สาขาสำนักงาน จะจัดเป็นภูมิลำเนาในส่วนกิจการอันทำ ณ ที่นั้นด้วยก็ได้ ตามพระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่ พ.ศ. ๒๔๖๑ มาตรา ๔๓ ผู้ถือประทานบัตรต้องมีสำนักงานในราชอาณาจักร ซึ่งบอกไว้ต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อการติดต่อส่งจดหมายหรือแจ้งความอันใดให้ทราบ จึงไม่มีข้อสงสัยว่าข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าจำเลยมีสำนักงานอยู่ ณ สถานที่ตามที่ระบุในฟ้องในเขตศาลชั้นต้นจะไม่เป็นความจริง
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินหกหมื่นห้าพันบาท กับดอกเบี้ยร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปี ตั้งแต่วันฟ้อง

Share