แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความในคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3) จำเลยร่วมจึงมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่สามารถยกข้อต่อสู้ขึ้นปฏิเสธความรับผิดได้อย่างไม่มีจำกัดและศาลมีอำนาจพิจารณาพิพากษาถึงความรับผิดของคู่ความทุกฝ่ายไปได้ในคราวเดียวกันโดยไม่จำต้องให้โจทก์ไปฟ้องจำเลยร่วมเป็นคดีเรื่องใหม่ เมื่อจำเลยร่วมมีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีรถยนต์สูญหายแก่โจทก์ ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยร่วมรับผิดต่อโจทก์ได้ไม่ถือว่าเกินคำขอของโจทก์
กรมธรรม์ประกันภัยระบุว่าในกรณีรถยนต์สูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ ชิงทรัพย์และปล้นทรัพย์จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ เมื่อรถยนต์ถูก ภ. ลักไปโดยจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนรู้เห็นด้วย แม้จำเลยที่ 1 จะทราบว่า ภ. นำรถยนต์ไปจำนำไว้ที่บ่อนย่านคลองตัน เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่สามารถนำรถยนต์กลับคืนมาได้ ย่อมถือได้ว่ารถยนต์ได้สูญหายไปโดยเหตุเนื่องจากการลักทรัพย์ตามข้อกำหนดของกรมธรรม์ประกันภัยแล้ว จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน 4ศ-7115กรุงเทพมหานคร ไปจากโจทก์ในราคาค่าเช่าซื้อ 395,932.20 บาท มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ภายหลังทำสัญญาจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 6 เป็นต้นมา โจทก์บอกเลิกสัญญา แต่จำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบรถยนต์คืนขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์คืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 340,000 บาท และให้จำเลยทั้งสองรวมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 91,000 บาทกับค่าเสียหายต่อไปอีกเดือนละ 13,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์คืนพร้อมเบี้ยปรับอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนของต้นเงิน 431,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ได้ 5 งวด ปรากฏว่ารถยนต์คันพิพาทได้สูญหายไป โดยมิได้เกิดจากความผิดของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 คงรับผิดเพียงเท่าค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระจำนวน 260,000 บาทเศษเท่านั้น โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์และเบี้ยปรับอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ค่าเสียหายหากจะมีก็คือดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จำเลยที่ 1 ได้ทำประกันภัยรถยนต์คันพิพาทและได้แจ้งเบาะแสเรื่องรถยนต์คันพิพาทสูญหายให้โจทก์ทราบแล้ว แต่โจทก์เพิกเฉยไม่เรียกร้องเอาจากผู้รับประกันภัยและไม่ติดตามเอารถยนต์คืน ความเสียหายจึงเกิดจากความผิดของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม เพราะจำเลยที่ 1 อาจฟ้องเพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือใช้ค่าทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3) ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยร่วมให้การว่า จำเลยร่วมเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันพิพาทโดยมีจำเลยที่ 1เป็นผู้เอาประกันภัย โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกัน จำเลยร่วมเป็นบุคคลภายนอกไม่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมธรรม์ประกันภัยระบุว่าจำเลยร่วมจะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยเท่านั้น รถยนต์คันพิพาทนั้น จำเลยที่ 1 ยินยอมให้บุคคลผู้มีชื่อนำไปใช้ แต่บุคคลผู้มีชื่อยังไม่ได้นำมาคืนเท่านั้นหาได้สูญหายไปไม่ จำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิดและตามคำให้การของจำเลยที่ 1ระบุว่ารถยนต์คันพิพาทสูญหายไปโดยมิใช่ความผิดของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เป็นผลให้จำเลยร่วมไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย เนื่องจากจำเลยร่วมจะรับผิดต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้องและยกคำร้องของจำเลยที่ 1
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน273,753 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์2539 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนก็ให้จำเลยร่วมเป็นผู้ชำระแทน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยร่วมฎีกาข้อแรกว่า โจทก์ไม่ได้กล่าวในฟ้องหรือขอให้บังคับจำเลยร่วมร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ จำเลยร่วมไม่ได้เป็นคู่สัญญากับโจทก์การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยร่วมรับผิดต่อโจทก์จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอเห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อรถยนต์พิพาทและจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันร่วมกันรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้คดีว่ารถยนต์คันพิพาทสูญหายไปโดยมิได้เกิดจากความผิดของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้เอาประกันวินาศภัยรถยนต์คันพิพาทไว้กับจำเลยร่วมซึ่งจำเลยร่วมมีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีรถยนต์คันพิพาทสูญหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ ในระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 1 ได้ขอให้ศาลเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความในคดีด้วย ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่บุคคลอาจเข้ามาเป็นคู่ความในคดีได้นอกเหนือจากการเป็นคู่ความนับแต่เริ่มต้นตามคดีตามปกติ ดังนั้นเมื่อศาลชั้นต้นมีหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความในคดีเป็นจำเลยร่วมตามคำขอของจำเลยที่ 1 โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3) จำเลยร่วมจึงมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ จำเลยร่วมสามารถยกข้อต่อสู้ของตนขึ้นปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด และศาลย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาถึงความรับผิดของคู่ความทุกฝ่ายในคดีไปได้ในคราวเดียวกัน โดยไม่จำต้องให้โจทก์ไปฟ้องจำเลยร่วมเป็นคดีเรื่องใหม่อีกเรื่องหนึ่ง ดังนั้นเมื่อศาลเห็นว่าตามกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยร่วมมีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีรถยนต์สูญหายแก่โจทก์ ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยร่วมรับผิดต่อโจทก์ได้ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ไม่ถือว่าเกินคำขอของโจทก์ ฎีกาของจำเลยร่วมข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยร่วมฎีกาข้อต่อมาว่า รถยนต์คันพิพาทไม่ได้สูญหายเนื่องจากนางภัทรวีร์บุญนาค ภริยาของนายวัชรชัย อึ๊งโพธิ์ นำไปจำนำไว้ที่บ่อนการพนัน จำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย สำหรับปัญหาดังกล่าวนายวัชรชัย อึ๊งโพธิ์น้องจำเลยที่ 1เบิกความเป็นพยานจำเลยที่ 1 ว่าพยานดูแลและใช้สอยรถยนต์คันพิพาทในช่วงเวลาที่จำเลยที่ 1 เดินทางไปต่างประเทศเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2538 ขณะที่พยานพักอยู่กับนางภัทรวีร์ บุญนาค ภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสปรากฏว่ารถยนต์คันพิพาทได้สูญหายไปพร้อมกุญแจ พยานได้ไปร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่านางภัทรวีร์เป็นผู้ลักรถยนต์นายทวีศักดิ์ พงษ์พิเดช พนักงานติดตามรถยนต์ของจำเลยร่วมเบิกความเจือสมพยานจำเลยที่ 1 ว่า เมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2538 พยานได้รับแจ้งจากนายวัชรชัยว่านางภัทรวีร์ภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสของนายวัชรชัย ได้ลักรถยนต์ของจำเลยที่ 1ซึ่งนายวัชรชัยรับดูแลรักษาไปและนำไปจำนำไว้ที่บ่อนการพนัน พยานได้บันทึกถ้อยคำของนายวัชรชัยไว้ ต่อมาพยานติดตามไปที่บ่อนการพนันพบว่า รถยนต์คันพิพาทจำนำไว้ที่บ่อนการพนันจริง ซึ่งในบันทึกที่นายวัชรชัยให้ถ้อยคำไว้ต่อจำเลยร่วมมีใจความว่าในระหว่างที่นายวัชรชัยรับดูแลรักษารถยนต์ของจำเลยที่ 1 ปรากฏว่านางภัทรวีร์ภริยาที่มิได้จดทะเบียนสมรสของนายวัชรชัยได้ลักรถยนต์คันพิพาทไปจำนำที่บ่อนคลองตัน และนำเงินไปเล่นการพนันจนหมด จากคำของพยานประกอบบันทึกเอกสารดังกล่าวข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่านางภัทรวีร์ ได้ลักรถยนต์คันพิพาทไปจำนำที่บ่อนการพนันโดยจำเลยที่ 1 และนายวัชรชัยมิได้มีส่วนรู้เห็นด้วย มีปัญหาว่าจำเลยร่วม ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่าตามตารางกรมธรรม์ประกันภัยระบุว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันพิพาทโดยมีโจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ ในสัญญาหมวดที่ 3 การคุ้มครองความเสียหาย ต่อรถยนต์ ระบุไว้ในข้อ 3.5.3 ว่าในกรณีรถยนต์สูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ ชิงทรัพย์และปล้นทรัพย์ จำเลยร่วม จะจ่าย ค่าสินไหมทดแทนเต็มตามจำนวนเงินจำกัดความรับผิดตามสัญญาข้อ 3.1 ในรายการ 4 ของตาราง เมื่อได้ความว่า รถยนต์คันพิพาทถูกนางภัทรวีร์ลักไปโดยจำเลยที่ 1 มิได้มีส่วนรู้เห็นด้วย แม้จำเลยที่ 1จะทราบว่านางภัทรวีร์นำรถยนต์คันพิพาทไปจำนำไว้ที่บ่อนย่านคลองตัน แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่สามารถนำรถยนต์คันพิพาทกลับคืนมาได้ ย่อมถือได้ว่า รถยนต์คันพิพาทได้สูญหายไปโดยเหตุอันเนื่องจากการลักทรัพย์ตามข้อกำหนดของกรมธรรม์ประกันภัยแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยร่วมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยร่วมในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ