แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
สัญญาณโทรศัพท์เป็นกรรมวิธีแปลงเสียงพูดให้เป็นกระแสไฟฟ้าแล้วส่งกระแสไฟฟ้านั้นไปในสายลวดไปเข้าเครื่องที่ศูนย์ชุมสายประจำภูมิภาคของการสื่อสารแห่งประเทศไทยผู้เสียหาย แล้วแปลงสัญญาณไฟฟ้าเป็นคลื่นวิทยุส่งไปยังเครื่องรับปลายทางในต่างประเทศ เครื่องรับปลายทางจะแปลงสัญญาณกลับเป็นเสียงพูดอีกครั้งหนึ่ง สัญญาณโทรศัพท์จึงเป็นกระแสไฟฟ้าที่แปลงมาจากเสียงพูดเคลื่อนที่ไปตามสายลวดที่จำเลยต่อพ่วงเป็นตัวนำจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง การที่จำเลยลักเอาสัญญาณโทรศัพท์จากสายโทรศัพท์ซึ่งอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายไปใช้เพื่อประโยชน์ของจำเลยโดยทุจริต จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์
จำเลยกระทำผิดฐานลักทรัพย์ต่อผู้เสียหายรายเดียวกันลักษณะการกระทำความผิดอย่างเดียวกัน สถานที่เกิดเหตุเดียวกันและมีเจตนาประสงค์ต่อผลอย่างเดียวกัน แต่จำเลยกระทำความผิดแต่ละครั้งต่างวันต่างเวลากัน มิได้กระทำต่อเนื่องติดต่อกัน และหลังจากกระทำแต่ละครั้งบรรลุวัตถุประสงค์สมดังเจตนาแล้ว จำเลยก็เลิกกระทำโดยถอดเครื่องโทรศัพท์ออกจากสายสัญญาณโทรศัพท์ที่ต่อพ่วงเชื่อมติดกันไว้อันเป็นการเลิกกระทำความผิดในครั้งนั้น ๆ โดยเด็ดขาด การกระทำความผิดครั้งต่อไปต้องนำเครื่องโทรศัพท์ไปพ่วงกับสายสัญญาณโทรศัพท์ของผู้เสียหายใหม่ทุกครั้ง การกระทำความผิดของจำเลยแต่ละครั้งจึงแยกต่างหากจากกันอันเป็นการกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระ
ความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 11,12(1),18 วรรคสอง,48,62 วรรคหนึ่ง,81 และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(1) วรรคแรก,336 ทวิ มิได้เกี่ยวพันกัน ทั้งการที่จะบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(2) จะต้องเป็นกรณีที่หลังจากลดโทษแต่ละกระทงความผิดแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นที่จะลงแก่จำเลยเกิน 20 ปี มิใช่วางโทษทุกกระทงก่อนเมื่อเกิน 20 ปี จึงลงโทษจำคุกได้เพียง 20 ปี แล้วจึงลดโทษภายหลัง กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 91(2)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2542 ถึงวันที่ 18 มกราคม 2542เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยซึ่งเป็นคนต่างด้าว เชื้อชาติ และสัญชาติเยอรมันเข้ามาในราชอาณาจักรไทยทางชายแดนจังหวัดเชียงใหม่ โดยไม่มีหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง ไม่เดินทางเข้ามาตามช่องทางด่านตรวจคนเข้าเมือง เขตท่า สถานี หรือท้องที่และตามกำหนดเวลาที่รัฐมนตรีได้ประกาศไว้ ไม่ยื่นรายการตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และไม่ผ่านการตรวจอนุญาตของพนักงานเจ้าหน้าที่ หลังจากจำเลยเข้ามาแล้ว จำเลยอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยได้กระทำผิดฐานลักทรัพย์หลายกรรมต่างกันกล่าวคือ เมื่อวันที่ 29, 31 กรกฎาคม 2542 วันที่ 1, 2, 3, 4, 5, 6, 9, 10, 12, 14, 16และ 17 สิงหาคม 2542 เวลากลางคืนก่อนเที่ยงและหลังเที่ยง จำเลยลักเอาคลื่นสัญญาณโทรศัพท์ของการสื่อสารแห่งประเทศไทยผู้เสียหาย โดยนำเครื่องโทรศัพท์ไปพ่วงกับสายสัญญาณโทรศัพท์ของผู้เสียหาย และกดหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อไปต่างประเทศรวม 16 ครั้ง โดยทุจริตคิดเป็นเงิน 26,703.50 บาท ในการลักทรัพย์ดังกล่าวจำเลยใช้รถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน ภูเก็ต ธ – 0741 เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดและหลบหนี ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91, 334, 335, 336 ทวิ พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 4,11, 12, 18, 58, 62, 81 ริบของกลางที่เจ้าพนักงานเก็บรักษาไว้ และให้จำเลยใช้หรือคืนเงิน 26,703.50 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองพ.ศ. 2522 มาตรา 62 วรรคหนึ่ง, 81 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1), 336 ทวิการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 14 วัน ฐานอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 14 วัน ฐานไม่มีหนังสือเดินทาง (ที่ถูกฐานคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่มีหนังสือเดินทาง) จำคุก14 วัน (ที่ถูกความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ต้องปรับบทลงโทษตามมาตรา 11, 12(1), 18 วรรคสอง, 62 วรรคหนึ่ง, 81 ฐานเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานเป็นคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุกกระทงละ 14 วัน รวมสองกระทงจำคุก 28 วัน) ฐานลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ(ที่ถูกฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะ) จำคุกกระทงละ 1 ปี 6 เดือนรวม 16 กระทง รวมจำคุกทั้งสิ้น 24 ปี 1 เดือน 12 วัน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 12 ปี 21 วัน ริบของกลางที่เจ้าพนักงานเก็บรักษาไว้ และให้จำเลยใช้หรือคืนเงิน 26,703.50 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1) วรรคแรก ประกอบมาตรา 336 ทวิ ฐานเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่เข้าตามช่องทางที่รัฐมนตรีกำหนด ฐานคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่มีหนังสือเดินทางฐานเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ฐานคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่มีใบสำคัญถิ่นที่อยู่และใบสำคัญประจำตัว ฐานคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522มาตรา 11, 12(1), 18 วรรคสอง, 48, 62 วรรคหนึ่ง, 81 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันเรียงกระทงลงโทษแต่เฉพาะฐานคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่มีหนังสือเดินทาง ฐานเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่มีใบสำคัญถิ่นที่อยู่และใบสำคัญประจำตัวเป็นความผิดกรรมเดียว ลงโทษฐานเข้ามาในราชอาณาจักร โดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อรวมโทษทุกกระทงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(2) ให้จำคุก 20 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 10 ปี ให้ยกโทษจำคุกในความผิดฐานคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่มีหนังสือเดินทางนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกที่ว่า การที่จำเลยแอบต่อพ่วงใช้สัญญาณโทรศัพท์โดยไม่ได้รับอนุญาตและแอบใช้สัญญาณโทรศัพท์โทรไปยังต่างประเทศโดยเจตนาจะไม่ชำระค่าใช้โทรศัพท์เป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือไม่ ซึ่งจำเลยฎีกาว่า การกระทำของจำเลยเป็นเพียงการต่อใช้คลื่นสัญญาณโทรศัพท์ของผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยลักเอาคลื่นสัญญาณโทรศัพท์ของการสื่อสารแห่งประเทศไทยผู้เสียหาย โดยนำเครื่องโทรศัพท์ไปพ่วงกับสายสัญญาณโทรศัพท์ของผู้เสียหายจากนั้นจำเลยกดเลขหมายโทรศัพท์ติดต่อไปต่างประเทศรวม 16 ครั้ง แต่ละครั้งโทรติดต่อหลายรายการ จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องซึ่งเท่ากับจำเลยรับว่าได้ลักเอาสัญญาณโทรศัพท์จากสายโทรศัพท์ของผู้เสียหายไปจริง สัญญาณโทรศัพท์เป็นกรรมวิธีแปลงเสียงพูดให้เป็นกระแสไฟฟ้าแล้วส่งกระแสไฟฟ้านั้นไป ในสายลวดไปเข้าเครื่องที่ศูนย์ชุมสายประจำภูมิภาคของผู้เสียหาย แล้วแปลงสัญญาณไฟฟ้าเป็นคลื่นวิทยุแล้วส่งไปยังเครื่องรับปลายทางในต่างประเทศ เครื่องรับปลายทางจะแปลงสัญญาณกลับเป็นเสียงพูดอีกครั้งหนึ่ง สัญญาณโทรศัพท์จึงเป็นกระแสไฟฟ้าที่แปลงมาจากเสียงพูดเคลื่อนที่ไปตามสายลวดที่จำเลยต่อพ่วงเป็นตัวนำจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง การที่จำเลยลักเอาสัญญาณโทรศัพท์จากสายโทรศัพท์ซึ่งอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายไปใช้เพื่อประโยชน์ของจำเลยโดยทุจริตจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่ที่ 1880/2542 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดชัยภูมิ โจทก์ นายบรรหาร ศรีภิรมย์ จำเลย ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5354/2539 ที่จำเลยอ้างมาในฎีกานั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกันคดีนี้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปมีว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวหรือต่างกรรมต่างวาระซึ่งจำเลยฎีกาว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียว มิใช่หลายกรรมเห็นว่า แม้จำเลยจะกระทำต่อผู้เสียหายรายเดียวกัน ลักษณะการกระทำความผิดอย่างเดียวกัน สถานที่เกิดเหตุเดียวกัน และมีเจตนาประสงค์ต่อผลอย่างเดียวกันก็ตาม แต่จำเลยกระทำความผิดแต่ละครั้งต่างวันต่างเวลากัน มิได้กระทำต่อเนื่องติดต่อกัน และหลังจากการกระทำแต่ละครั้งบรรลุวัตถุประสงค์สมดังเจตนาแล้วจำเลยก็เลิกกระทำโดยถอดเครื่องโทรศัพท์ออกจากสายสัญญาณโทรศัพท์ที่ต่อพ่วงเชื่อมติดกันไว้ออกอันเป็นการเลิกกระทำความผิดในครั้งนั้น ๆ โดยเด็ดขาด การกระทำความผิดครั้งต่อไปต้องนำเครื่องโทรศัพท์ไปพ่วงกับสายสัญญาณโทรศัพท์ของผู้เสียหายใหม่ทุกครั้ง การกระทำความผิดของจำเลยแต่ละครั้งจึงแยกต่างหากจากกัน อันเป็นการกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระ หาใช่เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวดังที่จำเลยฎีกาไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้นชอบแล้วฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ปรับบทลงโทษจำเลย ความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง และความผิดฐานลักทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(1) วรรคแรก, 336 ทวิ แล้ววินิจฉัยว่า เมื่อโทษจำคุกทุกกระทงที่รวมลงแก่จำเลยนั้นกระทงที่หนักที่สุดคือฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 3 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปี ดังนี้ โทษจำคุกทั้งสิ้นที่จะลงแก่จำเลยนั้นจะเกิน 20 ปี ไม่ได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(2) นั้น ไม่ถูกต้องเนื่องจากความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1) วรรคแรก, 336 ทวิ มิได้เกี่ยวพันกันทั้งการที่จะบังคับใช้มาตรา 91(2) จะต้องเป็นกรณีที่หลังจากลดโทษแต่ละกระทงความผิดแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นที่จะลงแก่จำเลยเกิน 20 ปี มิใช่วางโทษทุกกระทงก่อนเมื่อเกิน 20 ปี จึงลงโทษจำคุกได้เพียง 20 ปี แล้วจึงลดโทษภายหลัง คำพิพากษาส่วนนี้ของศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงไม่ชอบ แม้โจทก์มิได้ฎีกาในปัญหานี้ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาแก้ไขให้ถูกต้องได้ แต่จะลงโทษจำเลยโดยลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้วจำคุกเกิน 10 ปี ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามิได้มิฉะนั้นจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 212 ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่รวมโทษจำคุกทุกกระทงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91(2) ความผิดฐานเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานเป็นคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกกระทงละ 14 วันรวมสองกระทงจำคุก 28 วัน ความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะจำคุกกระทงละ 1 ปี 6 เดือน และปรับกระทงละ 8,000 บาท รวมทุกความผิดและทุกกระทง จำคุก 20 ปี และปรับ 128,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 10 ปี และปรับ 64,000 บาทโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56จำเลยถูกคุมขังมาพอแก่โทษปรับแล้ว จึงให้ปล่อยตัวไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8