คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2645/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ชกต่อยทำร้ายผู้เสียหายเพื่อบังคับขู่เข็ญให้ผู้เสียหายจำต้องลงลายมือชื่อในสัญญากู้เงินและสัญญาซื้อขาย การที่จำเลยที่ 2พูดกับผู้เสียหายว่า คิดจะโกงหรืออย่ามาเล่นกับฉันนะ ในขณะที่จำเลยที่ 1กระชากคอเสื้อผู้เสียหายอยู่และต่อมาจำเลยที่ 1 ต่อยที่บริเวณหางคิ้วซ้ายผู้เสียหายจนบาดเจ็บเลือดออกและพูดกับผู้เสียหายว่าให้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้เงิน มิฉะนั้นจะเจ็บตัวอีก ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกันกับจำเลยที่ 1 ทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย และร่วมกันข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมลงลายมือชื่อว่าเป็นผู้กู้ในสัญญากู้เงิน สัญญากู้เงินก่อให้เกิดสิทธิในหนี้ซึ่งมีวัตถุแห่งหนี้เป็นเงินแก่ผู้ให้กู้จึงเป็นประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินแก่ผู้ให้กู้ เมื่อจำเลยทั้งสองได้ไปซึ่งสัญญากู้เงินจากการข่มขืนใจโดยทำร้ายร่างกายผู้เสียหายให้ยอมลงลายมือชื่อว่าเป็นผู้กู้เงินจากจำเลยที่ 2 อันเป็นการได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินจึงเป็นการร่วมกันกระทำผิดฐานกรรโชกและทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกรรโชกโดยข่มขืนใจนางสาวกนกกร วงษ์เธอ ผู้เสียหาย ให้ยอมเขียนสัญญากู้เงินว่าผู้เสียหายกู้เงินจำนวน 135,000 บาท จากจำเลยทั้งสองโดยใช้รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ก-5418 อุตรดิตถ์ ของผู้เสียหายเป็นประกันและให้ยอมมอบหลักฐานการครอบครองรถยนต์คันดังกล่าวและบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เสียหายแก่จำเลยทั้งสองเพื่อประกอบสัญญากู้เงินดังกล่าว อันเป็นการให้จำเลยทั้งสองได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินทั้งนี้โดยจำเลยทั้งสองร่วมกันขู่เข็ญและใช้กำลังประทุษร้ายชกต่อยทำร้ายผู้เสียหายที่บริเวณใบหน้าหลายครั้งจนผู้เสียหายยอมเช่นว่านั้น โดยได้เขียนสัญญากู้เงินและมอบหลักฐานการครอบครองรถยนต์คันหมายเลขทะเบียนก-5418 อุตรดิตถ์ บัตรประจำตัวประชาชนให้จำเลยทั้งสอง การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 295 และ 337ให้คืนสัญญากู้เงิน หลักฐานการครอบครองรถยนต์คันหมายเลขทะเบียนก-5418 อุตรดิตถ์ และบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เสียหายให้แก่ผู้เสียหาย

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 295 และ 337 วรรคแรกการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337วรรคแรก จำคุกคนละ 2 ปี กับให้จำเลยทั้งสองคืนสัญญากู้เงินหลักฐานการครอบครองรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ก-5418 อุตรดิตถ์และบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เสียหายให้แก่ผู้เสียหาย

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 3กรกฎาคม 2539 เวลาประมาณ 19 นาฬิกา นางสาวกนกกร วงษ์เธอผู้เสียหายได้ไปที่บ้านของจำเลยทั้งสองมีการคุยกันถึงหนี้สินค้างชำระในที่สุดได้มีการทำสัญญากู้เงินและสัญญาซื้อขายตามเอกสารหมายล.1 และ ล.2 ต่อมาผู้เสียหายร้องทุกข์กล่าวหาว่าถูกจำเลยทั้งสองกรรโชกให้ผู้เสียหายต้องยอมทำหนังสือสัญญาดังกล่าว ในการกรรโชกจำเลยที่ 1 ได้ชกต่อยทำร้ายร่างกายทำให้ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บปรากฏบาดแผลตามรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลเอกสารหมาย จ.1

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า คำพยานโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้เป็นมั่นคงว่า จำเลยที่ 1 ได้ชกต่อยทำร้ายผู้เสียหายจริงตามฟ้องสาเหตุที่ทำร้ายร่างกายผู้เสียหายได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่า เพื่อบังคับขู่เข็ญให้ผู้เสียหายจำต้องลงลายมือชื่อในสัญญากู้เงินและสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าหนังสือสัญญากู้เงินและสัญญาซื้อขายทั้งสองฉบับนั้นทำขึ้นเมื่อวันที่ 3กรกฎาคม 2539 ซึ่งตรงกับวันเกิดเหตุจึงทำให้คำพยานโจทก์สมเหตุผลยิ่งขึ้น การที่จำเลยที่ 2 พูดกับผู้เสียหายว่า คิดจะโกงหรืออย่ามาเล่นกับฉันนะ ในขณะที่จำเลยที่ 1 กระชากคอเสื้อผู้เสียหายอยู่และต่อมาจำเลยที่ 1 ต่อยที่บริเวณหางคิ้วซ้ายผู้เสียหายจนบาดเจ็บเลือดออกและพูดกับผู้เสียหายว่าให้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้เงิน มิฉะนั้นจะเจ็บตัวอีกถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกันกับจำเลยที่ 1 ทำร้ายร่างกายผู้เสียหายและร่วมกันข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมลงลายมือชื่อว่าเป็นผู้กู้ในสัญญากู้เงินเอกสารหมาย ล.1 สัญญากู้เงินก่อให้เกิดสิทธิในหนี้ซึ่งมีวัตถุแห่งหนี้เป็นเงินแก่ผู้ให้กู้จึงเป็นประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินแก่ผู้ให้กู้ เมื่อจำเลยทั้งสองได้ไปซึ่งสัญญากู้เงินเอกสารหมายล.1 จากการข่มขืนใจโดยทำร้ายร่างกายผู้เสียหายให้ยอมลงลายมือชื่อว่าเป็นผู้กู้เงินจากจำเลยที่ 2 อันเป็นการได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินแล้ว จึงเป็นการร่วมกันกระทำผิดฐานกรรโชกและทำร้ายร่างกายผู้เสียหายมีความผิดตามฟ้อง แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงสภาพแห่งการกระทำผิดประกอบกับจำเลยทั้งสองไม่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกมาก่อน ศาลฎีกาเห็นสมควรรอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองไว้เพื่อให้โอกาสจำเลยทั้งสองกลับตนเป็นพลเมืองดี

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองไว้มีกำหนดคนละ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share