แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยล็อกคอ ส. ในร้านอาหาร แล้วใช้มีดแทงผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของร้านอาหารที่จะเข้าไปช่วย ส. จนได้รับอันตรายแก่กายและต้องถอยห่างออกไป หลังจากนั้นจำเลยใช้มีดจี้ที่คอ ส.พร้อมกับตะโกนต่อหน้าคนในร้านว่าที่ทำไปเพื่อต้องการเงิน500 บาท แม้จำเลยจะมิได้เจาะจงว่าต้องการเงินจากผู้เสียหายแต่ตามพฤติการณ์เห็นได้ว่าต้องการให้ผู้เสียหายในฐานะเจ้าของร้านยื่นเงินให้ในทันใดนั้น เมื่อจำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมเสียก่อนที่จะได้เงินจากผู้เสียหายการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามชิงทรัพย์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 80, 91, 295, 310, 337, 339, 371 และริบของกลางจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ปรับ 80 บาท มาตรา 295, 310, 337วรรคสอง, 80 ลงโทษ ตามมาตรา 337 วรรคสอง, 80 ซึ่งเป็นบทหนักจำคุก 2 ปี 8 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน และปรับ 40 บาท ริบของกลางข้อหาอื่นให้ยก โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339, 80 จำคุก 8 ปีลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 4 ปี ให้ยกฟ้องข้อหาพยายามกรรโชกนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกาว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานพยายามชิงทรัพย์
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงคงได้ความตามที่โจทก์นำพยานเข้าสืบประกอบคำรับสารภาพของจำเลยว่านางสาวสายฝนแสนกั้ง เป็นพนักงานเสิร์ฟอาหารอยู่ที่ร้านพอใจซึ่งเป็นของนายเกษมศักดิ์ อมรแสนสุขคืนเกิดเหตุนายดำรงค์ เข็มสันเทียะจำเลยไปรับประทานอาหารที่ร้านพอใจ โดยได้สั่งอาหารและเบียร์มาดื่ม ซึ่งนางสาวสายฝนเป็นคนนำอาหารและเบียร์มาเสิร์ฟให้หลังจากนั้นประมาณ 15 นาที ขณะที่นางสาวสายฝนเดินมาจากหลังร้านผ่านโต๊ะที่จำเลยนั่ง จำเลยก็ลุกขึ้นเดินมาหานางสาวสายฝนผลักนางสาวสายฝนล้มลง แล้วจับคอเสื้อนางสาวสายฝนให้ยืนขึ้นพร้อมกับอ้อมไปทางข้างหลังแล้วล็อกคอไว้ นายเกษมศักดิ์ซึ่งกำลังนั่งรับประทานอาหารอยู่กับเพื่อน ๆ เห็นเช่นนั้นก็เข้าไปช่วย จำเลยจึงใช้มีดแทงนายเกษมศักดิ์ถูกแขนซ้ายบริเวณข้อพับนายเกษมศักดิ์ต้องถอยห่างออกไป จากนั้นจำเลยได้ลากนางสาวสายฝนออกมาทางหน้าร้านแล้วเอามีดจี้ที่คอด้านขวาของนางสาวสายฝนพร้อมทั้งร้องตะโกนดัง ๆ บอกให้ทุกคนได้ยินว่าที่ทำเช่นนั้นเพราะต้องการเงิน 500 บาท เพื่อจะกลับบ้านที่โคราชและต้องการให้เอารถยนต์ไปส่งจำเลยด้วย นายเกษมศักดิ์ได้บอกจำเลยว่าให้ใจเย็น ๆ แล้วขอให้คนในร้านโทรศัพท์ไปแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทราบ ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มาจับจำเลยได้ มีปัญหาว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพยายามชิงทรัพย์หรือไม่เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339บัญญัติว่า “ผู้ใดลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อ
(1) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไป
(2) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น
(3) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้
(4) ปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือ
(5) ให้พ้นจากการจับกุม
ผู้นั้นกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์…”
การกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์จึงประกอบด้วยการกระทำ2 อย่าง คือ การทำร้ายร่างกายหรือขู่ว่าจะทำร้าย และการลักทรัพย์กรณีที่จะเป็นความผิดฐานพยายามชิงทรัพย์นั้น ความไม่สำเร็จจะต้องอยู่ที่การลักทรัพย์ สำหรับคดีนี้จำเลยได้กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายสำเร็จไปแล้ว โดยได้ใช้มีดแทงนายเกษมศักดิ์จนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายและทำร้ายนางสาวสายฝนโดยล็อกคอนางสาวสายฝนไว้แล้ว คงมีปัญหาที่จะต้องพิจารณาว่าจำเลยได้ลงมือลักทรัพย์ของนายเกษมศักดิ์ตามฟ้องแต่ลักไม่สำเร็จหรือไม่ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความในท้องสำนวนนั้น เมื่อจำเลยล็อกคอนางสาวสายฝนไว้และทำร้ายร่างกายนายเกษมศักดิ์แล้วจำเลยได้ตะโกนต่อหน้าคนในร้ายว่าที่ทำไปเพื่อต้องการเงิน 500 บาท และให้จัดรถยนต์ให้ 1 คันซึ่งตามพฤติการณ์ดังกล่าวแม้จำเลยจะมิได้เจาะจงว่าจะต้องการเงินจากนายเกษมศักดิ์ แต่ก็พอเห็นได้ว่าต้องการให้นายเกษมศักดิ์ในฐานะเจ้าของร้านอาหารยื่นเงินให้ 500 บาท โดยให้ยื่นเงินให้ในทันใดนั้น เหตุผลอีกข้อหนึ่งที่พอจะนำมาอนุมานถึงเจตนาที่แท้จริงของจำเลยก็คือ เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้และแจ้งข้อหาว่ากระทำความผิดฐานพยายามชิงทรัพย์ จำเลยก็ให้การรับสารภาพและรับสารภาพตลอดมาแม้ในชั้นศาล ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานพยายามชิงทรัพย์ด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339, 80 โดยไม่ได้ระบุว่าวรรคใดนั้นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสาม, 80 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์