แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ซึ่งต้องถือว่าโจทก์เช่าที่ดินพิพาทจากเจ้าของเดิมปลูกอ้อยและการที่จำเลยว่าจ้างคนงานเข้าไปเผาและตัดต้นอ้อยของโจทก์ในที่ดินพิพาทไปขายจำเลยกระทำไปโดยเชื่อว่าต้นอ้อยในที่ดินพิพาทเป็นของผู้อื่นซึ่งมอบให้จำเลยดูแลแทนและจำเลยไม่ทราบว่าโจทก์เช่าที่ดินพิพาทจากเจ้าของเดิมปลูกอ้อยและต้นอ้อยในที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ก็ตาม แต่จำเลยจะต้องรับผิดในทางแพ่งฐานกระทำละเมิดโจทก์หรือไม่ ต้องพิจารณาว่าความเข้าใจของจำเลยดังกล่าวเป็นไปโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่ เมื่อปรากฏว่าความเข้าใจว่าตนมีสิทธิทำได้ของจำเลยเป็นไปด้วยความประมาทเลินเล่อ จำเลยจึงต้องรับผิดในผลแห่ง ละเมิดอันเกิดจากการกระทำโดยประมาทของตน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบห้าร่วมกันชำระเงิน300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสิบห้าให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 1 มีนาคม 2538)จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 15
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2536 สมาคมเจ้าของม้าแข่งแห่งประเทศไทยได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 11655 จากนาวาอากาศเอกพิศุทธิ์และนางสุมาลี โพธิ์แพทย์ กับซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 11657 และ 11658 จากนายจงรักษ์ จันทรประไพโดยจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของสมาคมเจ้าของม้าแข่งแห่งประเทศไทยและโจทก์เป็นนายหน้าฝ่ายผู้ขาย หลังจากซื้อที่ดินพิพาททั้งสามแปลงแล้ว จำเลยที่ 2 มอบให้จำเลยที่ 1 ดูแลที่ดินพิพาทแทน ต่อมาวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2538 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันจ้าง จำเลยที่ 3 ถึงที่ 15 ตัดต้นอ้อยในที่ดินพิพาทไปขายและเผาต้นอ้อยในที่ดินพิพาท ปัญหาข้อต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีว่าโจทก์เช่าที่ดินพิพาทจากเจ้าของเดิมหรือไม่ และการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่าจ้างจำเลยที่ 3 ถึงที่ 15 เข้าไปตัดและเผาต้นอ้อยในที่ดินพิพาทเป็นการละเมิดโจทก์หรือไม่ ปรากฏว่าเกี่ยวกับคดีนี้โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีอาญาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกบุกรุกเข้าไปรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งโจทก์เช่าจากนาวาอากาศเอกพิศุทธิ์และนายสมพงษ์ แล้วตัดเอาต้นอ้อยของโจทก์ไปโดยทุจริต กับจุดไฟเผาต้นอ้อยซึ่งกำลังแตกต้นเล็ก ๆ ด้วย คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2539 ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับมอบหมายจากสมาคมเจ้าของม้าแข่งแห่งประเทศไทย เจ้าของที่ดินที่เกิดเหตุให้เป็นผู้ดูแลที่ดินได้ส่งคนงานเข้าไปเผาและตัดต้นอ้อยในที่ดินไปขายโดยเข้าใจว่าอ้อยนั้นเป็นของเจ้าของที่ดินและจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีอำนาจกระทำได้โดยไม่รู้ว่าโจทก์เป็นผู้เช่าและเป็นเจ้าของต้นอ้อยที่ปลูกอยู่ในที่ดิน ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำไปโดยไม่มีเจตนากระทำผิดต่อโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1246/2539 ของศาลชั้นต้น คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ดังนั้นในการพิพากษาคดีนี้ซึ่งเป็นคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 46 คือต้องถือว่าโจทก์เช่าที่ดินพิพาทจากเจ้าของเดิมปลูกต้นอ้อย และการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่าจ้างคนงานเข้าไปเผาและตัดต้นอ้อยของโจทก์ในที่ดินพิพาทไปขาย จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำไปโดยเชื่อว่าต้นอ้อยในที่ดินพิพาทเป็นของสมาคมเจ้าของม้าแข่งแห่งประเทศไทยซึ่งมอบให้จำเลยที่ 2 ดูแลแทนและจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ทราบว่าโจทก์เช่าที่ดินพิพาทจากเจ้าของเดิมปลูกต้นอ้อยและต้นอ้อยในที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ปัญหานี้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้หยิบยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์แล้ว แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้วินิจฉัย คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงไม่ชอบ เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาโดยหยิบยกปัญหานี้ขึ้นฎีกาด้วย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยก่อน แต่แม้ข้อเท็จจริงตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1246/2539 ของศาลชั้นต้น จะฟังได้ว่าที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้คนงานตัดและเผาต้นอ้อยของโจทก์โดยเข้าใจว่าตนมีอำนาจกระทำได้โดยไม่รู้ว่าโจทก์เป็นผู้เช่าและเป็นเจ้าของอ้อยที่ปลูกในที่ดิน แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องรับผิดในทางแพ่งฐานกระทำละเมิดโจทก์หรือไม่ ต้องพิจารณาว่าความเข้าใจของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดังกล่าวเป็นไปโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 15 ตัดต้นอ้อยและเผาต้นอ้อยของโจทก์เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2538 ซึ่งโจทก์เบิกความว่า ขณะนั้นต้นอ้อยโตประมาณ 8 เดือน แสดงว่ามีการปลูกต้นอ้อยดังกล่าวประมาณเดือนมิถุนายน2537 อันเป็นเวลาหลังจากสมาคมของม้าแข่งแห่งประเทศไทยซื้อที่ดินดังกล่าวประมาณ 6 เดือน จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนสมาคมเจ้าของม้าแข่งแห่งประเทศไทยในการซื้อที่ดินดังกล่าวและเป็นผู้ที่สมาคมเจ้าของม้าแข่งแห่งประเทศไทยมอบให้ดูแลที่ดินแทน ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นผู้ที่จำเลยที่ 2 มอบหมายให้ดูแลที่ดินดังกล่าวแทนจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้เป็นคนปลูกต้นอ้อยในที่ดินพิพาท การที่มีต้นอ้อยขึ้นอยู่ในที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 และที่ 2 ควรจะสอบถามผู้คนในละแวกนั้นเสียก่อนว่าต้นอ้อยในที่ดินพิพาทขึ้นมาได้อย่างไร โดยเฉพาะโจทก์ซึ่งเป็นนายหน้าผู้ติดต่อขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ก็มีบ้านอยู่ใกล้กับที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 และที่ 2 ควรจะสอบถามโจทก์เสียก่อนที่จะให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 15 ตัดและเผาต้นอ้อย นอกจากนี้ยังได้ความจากโจทก์ว่าเมื่อโจทก์เห็นจำเลยที่ 3 ถึงที่ 15 ตัดต้นอ้อยในที่ดินพิพาท โจทก์บอกให้หยุดและไปแจ้งความจำเลยที่ 1 และที่ 2 เบิกความในทำนองเดียวกันว่า เมื่อคนงานมาแจ้งเรื่องที่โจทก์ไปแจ้งความ จำเลยที่ 1 โทรศัพท์แจ้งจำเลยที่ 2 จากนั้นจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้พบโจทก์ที่สถานีตำรวจได้ยินเจ้าพนักงานตำรวจถามโจทก์เกี่ยวกับหลักฐานสัญญาเช่าแต่โจทก์มิได้นำมาแสดงต่อเจ้าพนักงานตำรวจหลังจากนั้นจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็สั่งให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 15 ตัดต้นอ้อยต่อไปจนเสร็จและให้นำต้นอ้อยดังกล่าวไปขาย หากจำเลยที่ 1และที่ 2 ใช้ความระมัดระวังสอบถามโจทก์หรือเจ้าของที่ดินเดิมเสียก่อน ก็จะทราบได้ว่าโจทก์ได้เช่าที่ดินพิพาทจากเจ้าของเดิมและโจทก์เป็นคนปลูกต้นอ้อยในที่ดินพิพาท แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2ไม่ใช้ความระมัดระวังให้ดี ดังนั้น ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2เข้าใจว่าตนมีสิทธิกระทำได้นั้นจึงเป็นไปด้วยความประมาทเลินเล่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดอันเกิดจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของตน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 95,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1