แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 42 ผู้คัดค้านในฐานะผู้ถูกบังคับตามคำชี้ขาดจึงอาจยื่นคำคัดค้านขอให้ศาลชั้นต้นปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ตามมาตรา 43 ซึ่งศาลชั้นต้นจะต้องวินิจฉัยว่ามีเหตุตามมาตรา 43 (1) ถึง (6) ที่จะไม่บังคับตามคำชี้ขาดหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่ากรณีไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง
สัญญาซื้อขายหุ้นกำหนดว่า ความสมบูรณ์ การตีความ และการดำเนินการตามสัญญานี้ให้ใช้บังคับตามกฎหมายไทย ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงถึงการขัดกันของกฎหมาย การวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทตามสัญญาซื้อขายหุ้นของอนุญาโตตุลาการจึงต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 การที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ผู้คัดค้านทั้งสองรับผิดชำระดอกเบี้ยทบต้นรายวัน ซึ่งก็คือให้ผู้ร้องคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยได้นั้น ย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติมาตรา 224 วรรคสอง และเข้าเกณฑ์เป็นกรณีที่การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน กรณีจึงไม่อาจบังคับตามคำชี้ขาดในส่วนนี้ของอนุญาโตตุลาการได้ ผู้คัดค้านทั้งสองจึงคงรับผิดชำระดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้น
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้บังคับผู้คัดค้านทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 146,595,072 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันผิดนัด (วันที่ 22 มีนาคม 2555) จนถึงวันที่ผู้คัดค้านทั้งสองได้รับคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ (วันที่ 9 มิถุนายน 2557) คำนวณเป็นดอกเบี้ย 24,399,042.81 บาท ร่วมกันชำระเงินจำนวน 704,166.05 ดอลลาร์สหรัฐ และจำนวน 2,536,700 ดอลลาร์ฮ่องกง พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 146,595,072 บาท จำนวน 704,166.05 ดอลลาร์สหรัฐ และจำนวน 2,536,700 ดอลลาร์ฮ่องกง แก่ผู้ร้อง นับแต่วันถัดจากวันที่ผู้คัดค้านทั้งสองได้รับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจนกว่าจะชำระเสร็จ คำนวณดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2557 จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 8,976,437.97 บาท 43,118.11 ดอลลาร์สหรัฐ และ 155,329.44 ดอลลาร์ฮ่องกง ตามลำดับ
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเขตปกครองพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก กับให้ผู้คัดค้านทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้อง โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 50,000 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ
ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ผู้ร้องอุทธรณ์ขอให้ผู้คัดค้านทั้งสองรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 146,595,072 บาท และดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวของเงินจำนวน 704,166.05 ดอลลาร์สหรัฐ และจำนวน 2,536,700 ดอลลาร์ฮ่องกง นั้น เห็นว่า คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ผู้ร้องจึงไม่อาจมีคำขอให้บังคับเกินไปกว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่กำหนดสถานะความรับผิดของผู้คัดค้านทั้งสองจากการผิดสัญญาซื้อขายหุ้นไว้โดยเฉพาะแล้วได้ และตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 นั้น ศาลไม่อาจมีคำพิพากษาบังคับเกินคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอให้ศาลชั้นต้นกำหนดในเรื่องดอกเบี้ยแตกต่างไปจากคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นยกคำขอของผู้ร้องในส่วนนี้มาจึงชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
สำหรับอุทธรณ์ของผู้คัดค้านทั้งสองที่ว่า ตามพยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำมาสืบยังรับฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของสาธารณรัฐเกาหลี ผู้ร้องจึงไม่อาจร้องขอต่อศาลให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้นั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการวินิจฉัยข้อเท็จจริงและรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ข้อยกเว้นตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้คัดค้านในประเด็นดังกล่าวนี้ ส่วนที่ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์ว่า ตามคำคัดค้านของผู้คัดค้านทั้งสองมิได้ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ แต่เป็นการขอให้ศาลปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ข้ออ้างของผู้คัดค้านทั้งสองเป็นการโต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานและเนื้อหาในประเด็นข้อพิพาทที่อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย มิใช่การโต้แย้งตามมาตรา 40 (1) (ก) ถึง (จ) แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 กรณีจึงไม่มีเหตุที่ศาลจะเพิกถอนคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการก็ดี หรือที่อุทธรณ์ว่า อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก็ดี ข้ออุทธรณ์ของผู้คัดค้านทั้งสองดังกล่าวนี้เท่ากับเป็นการกล่าวอ้างว่า คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนรวมทั้งฝ่าฝืนต่อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามมาตรา 45 (1) และ (2) ผู้คัดค้านจึงมีอำนาจอุทธรณ์ได้
คดีจึงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านทั้งสองว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่ากรณีไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้น เป็นคำสั่งที่ชอบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 42 ผู้คัดค้านในฐานะผู้ถูกบังคับตามคำชี้ขาดจึงอาจยื่นคำคัดค้านขอให้ศาลชั้นต้นปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ตามมาตรา 43 ซึ่งศาลชั้นต้นจะต้องวินิจฉัยว่ามีเหตุตามมาตรา 43 (1) ถึง (6) ที่จะไม่บังคับตามคำชี้ขาดหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นไปวินิจฉัยว่า กรณีไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อคดีมาสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยในประเด็นตามคำร้องและคำคัดค้านที่ศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยก่อน โดยมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเป็นประการแรกว่า มีเหตุที่จะปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ชี้ขาดให้ผู้คัดค้านทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 146,595,072 บาท กับจำนวน 704,166.05 ดอลลาร์สหรัฐ และ 2,536,700 ดอลลาร์ฮ่องกง แก่ผู้ร้องหรือไม่ เห็นว่า ในส่วนที่ผู้คัดค้านทั้งสองกล่าวอ้างว่า การที่อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้ผู้คัดค้านทั้งสองในฐานะตัวแทนของนางสาวสุวิมล นางสาวอุษณีย์ และนางสาวอุษณา รับผิดแทนบุคคลทั้งสามดังกล่าวซึ่งเป็นตัวการ เป็นคำชี้ขาดที่วินิจฉัยเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ และไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ข้อเท็จจริงได้ความจากข้อสัญญา ข้อ 9.10 ของสัญญาซื้อขายหุ้นว่า คู่สัญญาตกลงให้ข้อพิพาท ข้อขัดแย้งและข้อเรียกร้องใด ๆ ที่เกิดขึ้นจากหรือเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายหุ้นหรือการกระทำผิดสัญญา การบอกเลิกสัญญาหรือความไม่สมบูรณ์ของสัญญาดังกล่าวให้ระงับโดยกระบวนการอนุญาโตตุลาการตามข้อบังคับอนุญาโตตุลาการของคณะกรรมาธิการว่าด้วยกฎหมายการค้าระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ (UNCITRAL ARBITRATION RULES) ที่ใช้บังคับ และเมื่อพิจารณาจากข้อสัญญา ข้อ 8.01 (ก) ก็กำหนดให้ผู้แทนของผู้ขายแต่ละคนร่วมกันและแทนกันรับผิดและชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ซื้อ แสดงว่ามีการตกลงเรื่องความรับผิดของคู่สัญญาไว้โดยชัดแจ้งแล้ว ดังนั้น การที่อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้ผู้คัดค้านทั้งสองซึ่งเป็นผู้แทนของผู้ขายรับผิดตามที่ผู้ร้องเรียกร้อง จึงหาใช่เป็นคำชี้ขาดที่วินิจฉัยเกินขอบเขตแห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือคำขอของผู้ร้องตามที่ผู้คัดค้านทั้งสองกล่าวอ้างไม่ ส่วนที่ผู้คัดค้านทั้งสองกล่าวอ้างว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเป็นคำชี้ขาดที่ขัดแย้งกับบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้น เห็นว่า เมื่อตามสัญญาซื้อขายหุ้น ได้กำหนดเรื่องการชดใช้ค่าเสียหายและข้อจำกัดความรับผิดไว้ในข้อสัญญา ข้อ 8.01 (ก) โดยกำหนดไว้ว่า “ให้ผู้แทนของผู้ขายแต่ละคน (และไม่ใช่ฝ่ายผู้ขายรายอื่น) ร่วมกันและแทนกัน รับผิดและชดใช้ค่าเสียหายและให้ผู้ซื้อปราศจากความสูญเสีย, ความรับผิด, ข้อเรียกร้อง, ความเสียหาย, ค่าใช้จ่าย หรือรายจ่ายใด (รวมถึงแต่ไม่จำกัดเฉพาะการสูญเสียกำไรและการลดลงของมูลค่า) รวมถึงค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายทางกฎหมายในจำนวนที่เหมาะสม (เรียกรวมกันว่า “ค่าเสียหาย”) ของผู้ซื้อหรือที่เกิดขึ้นกับผู้ซื้อที่เกิดขึ้นจากที่เกี่ยวพันกับ หรือเกี่ยวข้องโดยประการอื่นกับ (1)… (3) ค่าเสียหายใด ๆ และทั้งหมด (รวมถึงภาษีต่าง ๆ) ที่เกิดขึ้นกับบริษัทฯ ที่เกิดขึ้นจาก ที่เกี่ยวพันกับ หรือเกี่ยวข้องโดยประการอื่นกับการซื้อที่ดินและทรัพย์สินที่มิใช่สินทรัพย์หลักของผู้ขายจากบริษัทฯ ตามที่ระบุไว้ในข้อ 5.07 ทั้งนี้ค่าเสียหายดังกล่าวจะไม่รวมการขาดทุนทางบัญชี (accounting loss) ที่เกิดขึ้นโดยบริษัทฯ อันเป็นผลมาจากการขายที่ดินและทรัพย์สินที่มิใช่สินทรัพย์หลักตามข้อ 5.07 หรือ…” จากข้อสัญญาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสองในฐานะคู่สัญญาในสัญญาซื้อขายหุ้น ได้ตกลงกันไว้ตั้งแต่ขณะทำสัญญาแล้วว่า ให้ผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นกับบริษัทไทยน๊อคซ์ สเตนเลส จำกัด (มหาชน) อันนื่องมาจากการที่ผู้ขายหุ้นของบริษัทไทยน๊อคซ์ สเตนเลส จำกัด (มหาชน) ให้แก่ผู้ร้องซื้อที่ดินและทรัพย์สินที่ไม่ใช่สินทรัพย์หลักจากบริษัทดังกล่าว ซึ่งผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสองในฐานะคู่สัญญาชอบที่จะตกลงเช่นนั้นได้ ข้อตกลงดังกล่าวจึงหาใช่ข้อตกลงที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรดังที่ผู้คัดค้านทั้งสองกล่าวอ้างไม่ ส่วนประเด็นว่าผู้คัดค้านทั้งสองมีฐานะเป็นผู้ซื้อที่ดินและทรัพย์สินที่ไม่ใช่สินทรัพย์หลักหรือไม่นั้น ผู้คัดค้านทั้งสองมิได้โต้แย้งเป็นอย่างอื่น จึงต้องฟังว่าผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้ซื้อ กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเป็นประการต่อไปว่า การที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ผู้คัดค้านทั้งสองรับผิดชำระดอกเบี้ยทบต้นรายวันในต้นเงินจำนวน 146,595,072 บาท ตามอัตราดอกเบี้ยเท่ากับอัตราเฉลี่ยของอัตราไลบอร์หนึ่งเดือนของสมาคมธนาคารอังกฤษ สำหรับดอลลาร์สหรัฐซึ่งปรากฏอยู่ในหน้า 3,750 (หรือหน้าถัดไป) ของดาวน์โจนส์ เทเลเรท สกรีน ณ เวลา 11.00 นาฬิกา (เวลาลอนดอน) ในแต่ละวัน นับแต่วันที่ 22 มีนาคม 2555 จนถึงวันชำระเสร็จนั้น เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาซื้อขายหุ้นมีข้อสัญญา ข้อ 9.09 กำหนดไว้ว่า ความสมบูรณ์ การตีความ และการดำเนินการตามสัญญานี้ให้ใช้บังคับตามกฎหมายไทย ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงถึงการขัดกันของกฎหมาย เมื่อมีข้อสัญญากำหนดให้ใช้กฎหมายไทยเช่นนี้ การวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทตามสัญญาซื้อขายหุ้นของอนุญาโตตุลาการจึงต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น” และวรรคสองบัญญัติว่า “ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด” เมื่อตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้ไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี หากคิดในอัตราสูงกว่านี้ต้องมีเหตุอันชอบด้วยกฎหมาย และตามวรรคสอง ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ย การที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ผู้คัดค้านทั้งสองรับผิดชำระดอกเบี้ยทบต้นรายวัน ซึ่งก็คือให้ผู้ร้องคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยได้นั้น ย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติมาตรา 224 วรรคสอง และเข้าเกณฑ์เป็นกรณีที่การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน กรณีจึงไม่อาจบังคับตามคำชี้ขาดในส่วนนี้ของอนุญาโตตุลาการได้ ผู้คัดค้านทั้งสองจึงคงรับผิดชำระดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้น ส่วนที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ผู้คัดค้านทั้งสองชำระดอกเบี้ยตามอัตราดอกเบี้ยต่อปีเท่ากับอัตราเฉลี่ยของอัตราไลบอร์หนึ่งเดือนของสมาคมธนาคารของอังกฤษฯ นั้น เมื่อตามทางไต่สวนของผู้ร้องและของผู้คัดค้านทั้งสองไม่ได้ความชัดว่า อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีหรือไม่ จึงเห็นสมควรกำหนดเป็นเงื่อนไขว่า ให้ผู้คัดค้านทั้งสองรับผิดชำระดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นในอัตราดังกล่าว แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
พิพากษาแก้เป็นว่า ในส่วนของต้นเงิน 146,595,072 บาท ให้ผู้คัดค้านทั้งสองรับผิดชำระดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นในอัตราดอกเบี้ยต่อปีเท่ากับอัตราเฉลี่ยของอัตราไลบอร์หนึ่งเดือนของสมาคมธนาคารอังกฤษ สำหรับดอลลาร์สหรัฐซึ่งปรากฏอยู่ในหน้า 3,750 (หรือหน้าถัดไป) ของดาวน์โจนส์ เทเลเรท สกรีน ณ เวลา 11.00 นาฬิกา (เวลาลอนดอน) ในแต่ละวัน แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ