คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 264/2534

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เมื่อเช็คพิพาทเป็นเช็คสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ และไม่เข้าข่ายที่จะเป็นตั๋วเงินเสียตามมาตรา 1008 ทั้งมีการสลักหลังไม่ขาดสายโจทก์เป็นผู้ครอบครองเช็ค จึงเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คของธนาคารกสิกรไทยจำกัด สาขาถนนศรีภูวนารถ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาให้แก่ผู้ถือรวมสามฉบับ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้สลักหลังเช็คทั้งสามฉบับดังกล่าว เมื่อเช็คแต่ละฉบับถึงกำหนดชำระ โจทก์นำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งสามฉบับ โจทก์ชอบที่จะได้รับดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 90,748 บาท ซึ่งเป็นยอดรวมของเช็คทั้งสามฉบับนับแต่วันที่ 12 มีนาคม 2527 อันเป็นวันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเช็คฉบับสุดท้าย จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 10 เดือน เป็นเงินค่าดอกเบี้ย 5,668 บาท ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน96,416 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน90,748 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยที่ 1ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา จำเลยที่ 2 ให้การว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะไม่บรรยายให้ชัดเจนว่า จำเลยที่ 2สลักหลังเช็คในฐานะใด โจทก์เป็นผู้ทรงโดยไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 2 ไม่เคยเป็นหนี้โจทก์และไม่เคยมีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้สลักหลังการที่โจทก์นำเช็คมาฟ้องเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เช็คตามฟ้องได้มีการชำระเงินแก่ผู้มีชื่อไปแล้ว ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 90,748 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 12 มีนาคม 2527 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องไม่เกิน5,668 บาท จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนจำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เช็คพิพาททั้งสามฉบับเป็นเช็คสั่งจ่ายเงินแก่ผู้ถือมีจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่าย และจำเลยที่ 2เป็นผู้ลงลายมือชื่อสลักหลัง เมื่อเช็คแต่ละฉบับถึงกำหนด โจทก์ได้นำไปเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค
ในปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดใช้เงินตามเช็คแก่โจทก์หรือไม่นั้น จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเพราะโจทก์มิใช่ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามทางนำสืบของจำเลยที่ 2 ฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 กับบิดาโจทก์เข้าหุ้นส่วนกันรับซื้อลดเช็ค เมื่อมีการเลิกห้างหุ้นส่วน จึงแบ่งเช็คที่ได้รับซื้อจากลูกค้าให้หุ้นส่วนไปดำเนินการเอง โดยจำเลยที่ 2 สลักหลังเช็คเพื่อให้ทราบว่าเป็นเช็คที่ผ่านห้างหุ้นส่วน มิได้เจตนาผูกพันรับผิดเช็คสามฉบับทีพิพาทเป็นเช็คที่บิดาโจทก์รับไป โจทก์เป็นเพียงผู้ครอบครองเช็คเป็นตัวแทนของบิดาโจทก์ จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงิน เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 904 บัญญัติว่า “อันผู้ทรงนั้นหมายความว่าบุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงินหรือเป็นผู้รับสลักหลัง ถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ ๆ ก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน” และมาตรา 905บัญญัติว่า “ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติ มาตรา 1008 บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครอง ถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักหลังลอยก็ตาม ท่านให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย…” ฉะนั้นเมื่อเช็คพิพาทเป็นเช็คสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ และไม่เข้าข่ายที่จะเป็นตั๋วเงินเสียตามมาตรา 1008 ทั้งมีการสลักหลังไม่ขาดสายโจทก์เป็นผู้ครอบครองเช็ค จึงเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 2 มิได้ให้การว่าโจทก์มิใช่ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายเพราะเหตุใดจึงไม่มีประเด็นที่จะนำสืบ ส่วนที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่า จำเลยที่ 2กับบิดาโจทก์เป็นหุ้นส่วนกันประกอบธุรกิจรับซื้อลดเช็ค ต่อมาได้เลิกห้างหุ้นส่วนและแบ่งเช็คที่ได้รับซื้อมาจากลูกค้าเพื่อให้แต่ละคนนำเช็คไปจัดการเอง จำเลยที่ 2 สลักหลังเช็คเพียงเพื่อแสดงว่าเช็คนั้นได้ผ่านห้างหุ้นส่วนมา มิใช่สลักหลังเพื่อรับผิดนั้นเป็นการนำสืบนอกเหนือและขัดกับคำให้การ เพราะจำเลยที่ 2 ให้การว่ามิได้สลักหลังเช็คพิพาท จึงนำมารับฟังไม่ได้ ส่วนที่จำเลยที่ 2 อ้างในฎีกาว่า เช็คพิพาทเป็นเช็คของบิดาโจทก์ โจทก์เพียงครอบครองแทนไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินนั้น ก็เป็นข้อที่มิได้ให้การต่อสู้ไว้ ไม่เป็นประเด็นที่จะวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share