แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการขายทอดตลาดที่ดินจำนองทั้งสามแปลงโดยปลอดจำนองให้แก่ผู้เสนอราคาสูงสุดเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2530และผู้ซื้อได้ชำระราคาครบถ้วนแล้ว ต่อมาศาลแพ่งได้มีหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินให้จดทะเบียนระงับจำนองและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสามแปลงให้ผู้ซื้อ และโจทก์ได้รับเงินสุทธิจากการขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2530 ดังนี้ ถือได้ว่าการบังคับคดีได้เสร็จลงแล้ว การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ยกเลิกการขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2531 จึงเป็นการยื่นคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาดหลังจากการขายทอดตลาดเสร็จสิ้นลงแล้วถึง 9 เดือน คำร้อง ของ จำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ.มาตรา 296 วรรคสอง ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอให้ยกเลิกการขายทอดตลาด.
ย่อยาว
โจทก์และจำเลยทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลและศาลได้พิพากษาไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ต่อมาจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงได้ยึดที่ดินทั้งสามแปลงของจำเลยที่ 2 ที่ได้จดทะเบียนจำนองประกันหนี้ไว้แก่โจทก์ และดำเนินการขายทอดตลาดปลอดจำนองเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2530จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2531 ว่า การขายทอดตลาดไม่ชอบเพราะไม่ได้ส่งประกาศขายทอดตลาดไปให้จำเลยที่ 2ทราบตามระเบียบของกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดี พ.ศ. 2522 และราคาที่ขายต่ำกว่าราคาท้องตลาด ขอให้ยกเลิกการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี
โจทก์และนายสมคิด เซ็งสุทธา ผู้ซื้อทรัพย์ได้จากการขายทอดตลาดยื่นคำคัดค้านว่า การขายทอดตลาดได้ดำเนินการไปโดยสุจริตไม่มีเหตุอันสมควรจะต้องยกเลิกและผู้ซื้อทรัพย์ได้ขายทรัพย์ให้บุคคลภายนอกไปแล้ว และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำหนังสือรายงานต่อศาลว่าการขายทอดตลาดครั้งพิพาทเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2530 ที่จำเลยที่ 2ร้องว่าขายโดยไม่ชอบนั้น เป็นการขายทอดตลาดครั้งที่สามของการขายทอดตลาดที่ดินทั้งสามแปลงของจำเลยที่ 2 การขายทอดตลาดสองครั้งแรกผู้แทนโจทก์แถลงขอให้งดการขายเนื่องจากจำเลยผ่อนชำระหนี้ภายนอกให้แก่โจทก์ และได้ส่งประกาศการขายทอดตลาดครั้งพิพาทไปให้จำเลยที่ 2 โดยวิธีปิดหมาย การขายทอดตลาดเสร็จสิ้นแล้ว จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องเกินกำหนดตามกฎหมาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดที่ดินสามแปลงของจำเลยที่ 2 ซึ่งได้จดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ไว้แก่โจทก์ในการบังคับคดีเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประกาศขายทอดตลาดที่ดินทั้งสามแปลงสามครั้ง ครั้งที่หนึ่งเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2528 และครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 30ธันวาคม 2529 ผู้แทนโจทก์แถลงว่าจำเลยผ่อนชำระหนี้ภายนอกให้แก่โจทก์ ขอให้งดการขายทอดตลาดไว้ ต่อมาโจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินทั้งสามแปลงเป็นครั้งที่สาม เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2530
พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 มีสิทธิร้องขอให้ยกเลิกการขายทอดตลาดหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 306 เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งคำสั่งศาลและวันขายทอดตลาดให้ผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีทราบและตามมาตรา 296 วรรคสอง ในกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 4 ลักษณะ 2 ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลอื่นซึ่งมีส่วนได้เสียในการบังคับคดี ซึ่งต้องเสียหายโดยการฝ่าฝืนนั้น อาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง แต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่ทราบการฝ่าฝืนนั้น โดยขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการขายทอดตลาดได้ ข้อเท็จจริงคดีนี้ปรากฏตามรายงานของเจ้าพนักงานบังคับคดี ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2530 ว่าในวันที่ 14สิงหาคม 2530 ได้ทำการขายทอดตลาดที่ดินจำนองทั้งสามแปลงโดยปลอดจำนองให้แก่ผู้เสนอราคาสูงสุด คือแปลงที่ 1 และ 2 ขายให้นายสมคิดเซ็งสุทธา ราคา 181,000 บาท และ 126,000 บาท ตามลำดับ แปลงที่ 3ขายให้นายประสิทธิ์ จงอัศญากุล และนายบุญส่ง เห็นสกุล ราคา 148,000บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าเจ้าพนักงานประเมินทุกแปลง ผู้ซื้อได้ชำระราคาครบถ้วนแล้ว ตามหนังสือกรมบังคับคดีลงวันที่ 1 กันยายน2530 และวันที่ 8 กันยายน 2530 และศาลแพ่งได้มีหนังสือลงวันที่4 กันยายน 2530 และ 11 กันยายน 2530 ถึงเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาพระโขนง ให้จดทะเบียนระงับจำนองและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสามแปลงให้ผู้ซื้อ ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัดโจทก์ได้รับเงินสุทธิจากการขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน2530 ตามใบเสร็จรับเงินลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2530 แล้ว ดังนี้ถือได้ว่าการบังคับคดีได้เสร็จลงแล้ว การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ยกเลิกการขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2531 จึงเป็นการยื่นคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาดหลังจากการขายทอดตลาดเสร็จสิ้นลงแล้วถึง 9 เดือน คำร้องของจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง เพราะได้ยื่นภายหลังจากการบังคับคดีได้เสร็จลงแล้ว ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอให้ยกเลิกการขายทอดตลาดได้ คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ส่งประกาศการขายทอดตลาดที่ดินทั้งสามแปลงครั้งที่พิพาทให้จำเลยที่ 2 โดยชอบหรือไม่ และราคาที่ขายต่ำกว่าราคาท้องตลาดหรือไม่อีกต่อไป…”
พิพากษายืน.