คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2405/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เครื่องหมายการค้าของโจทก์ใช้คำว่า SONY ของจำเลยใช้คำว่า SONIO แม้จะขึ้นต้นตัวอักษรโรมัน SON สามตัวเหมือนกัน แต่รูปลักษณะตัวหนังสือและวิธีการเขียนผิดกันโจทก์เขียนด้วยตัวหนังสือธรรมดา ไม่มีลวดลาย ส่วนจำเลยเขียนตัวหนังสือเส้นหนาทึบและมีลวดลายจากด้านล่างลากโค้งเป็นรูปมนขึ้นไปด้านบน เห็นได้ว่าเพียงแต่สำเนียงเท่านั้นที่ใกล้เคียงกัน ลักษณะตัวหนังสือและวิธีการเขียนแตกต่างกันเห็นได้ชัดแจ้ง เครื่องหมายการค้าของจำเลยแตกต่างกับของโจทก์ ไม่อาจทำให้สาธารณชนหลงผิดได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า SONYทั้งในภาษาอังกฤษและภาษาไทย และได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในประเทศไทย สำหรับสินค้าจำพวก 8 เป็นเวลาหลายปีแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2518 จำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า SONIO โจทก์ได้คัดค้าน แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ายกคำคัดค้านของโจทก์และจะดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวให้จำเลย เครื่องหมายการค้าดังกล่าวคล้ายกับของโจทก์ ทั้งตัวอักษรและสำเนียงการอ่านก่อให้เกิดความหลงผิดสับสนได้ง่าย ทั้งได้ขอจดทะเบียนในสินค้าจำพวกเดียวกับโจทก์นับได้ว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนคล้ายกับของโจทก์ ถึงขนาดจะทำให้สาธารณชนเกิดความสับสนและหลงผิดได้เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยระงับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวและห้ามมิให้จำเลยใช้เครื่องหมายการค้านั้นกับสินค้าของจำเลยต่อไป

จำเลยให้การว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยแตกต่างในรูปลักษณะลวดลายและทั้งสำเนียงขานกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ไม่ก่อให้เกิดความสับสนและหลงผิดในการซื้อสินค้าประเภทนี้ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนกับของโจทก์จนอาจเป็นการลวงสาธารณชนได้ พิพากษาห้ามมิให้จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าตามฟ้องให้ระงับการจดทะเบียนตามคำขอของจำเลย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยแตกต่างกับของโจทก์ ทั้งรูปลักษณะและวิธีการเขียน ไม่อาจทำให้สาธารณชนหลงผิดได้ โจทก์จะขอให้ห้ามจำเลยไม่ได้ พิพากษากลับ ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิจารณาเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้ากันแล้วคำว่า SONY ของโจทก์ และคำว่า SONIO ของจำเลยแม้จะขึ้นต้นตัวอักษรโรมัน SON สามตัวเหมือนกัน แต่รูปลักษณะตัวหนังสือและวิธีการเขียนผิดกัน โจทก์เขียนด้วยตัวหนังสือธรรมดาไม่มีลวดลาย ส่วนจำเลยเขียนตัวหนังสือเส้นหนาทึบและมีลวดลายจากด้านล่างลากโค้งเป็นรูปมนขึ้นไปข้างบน เห็นได้ว่า เพียงแต่สำเนียงเท่านั้นที่ใกล้เคียงกัน ลักษณะหนังสือและวิธีการเขียนแตกต่างกันเห็นได้ชัดแจ้ง ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยแตกต่างกับของโจทก์ ไม่อาจทำให้สาธารณชนหลงผิดได้ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

พิพากษายืน

Share