คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2636/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เครื่องหมายการค้าคำว่า”IXOL”ของโจทก์และเครื่องหมายการค้าคำว่า”itol”ของจำเลยเป็นเครื่องหมายการค้าประเภทคำที่เป็นตัวอักษรโรมันอย่างเดียวไม่มีรูปหรือลวดลายประกอบการที่จำเลยนำเอารูปจิงโจ้อยู่ในวงกลมมาประกอบเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ภาชนะบรรจุสินค้าหาใช่สาระสำคัญในการนำมาประกอบการวินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือไม่เพราะรูปภาพดังกล่าวมิได้จดทะเบียนเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าเมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยมี2พยางค์เหมือนกันตัวอักษร5ตัวเท่ากันและเหมือนกันถึง4ตัวต่างกันเฉพาะตัวกลางเท่านั้นและแม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมดส่วนของจำเลยเป็นตัวพิมพ์ใหญ่เฉพาะตัวแรกอีก4ตัวเป็นตัวพิมพ์เล็กแต่เมื่ออ่านออกเสียงมีสำเนียงใกล้เคียงกันทั้งที่ภาชนะบรรจุสินค้าของจำเลยใช้คำภาษาไทยว่า”วิลตอล”ย่อมทำให้ประชาชนผู้ใช้ที่ไม่คุ้นเคยต่อภาษาต่างประเทศย่อมอาจจะฟังหรือเรียกขานเป็นสำเนียงเดียวกันได้เครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงมีลักษณะเป็นการเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทำให้ประชาชนหลงผิดว่าเป็นสินค้าของโจทก์ได้เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “VIXOL” ใช้กับสินค้าจำพวก 47 ประเภทน้ำยาขัดพื้น และเครื่องสุขภัณฑ์และให้บริษัท ไอ.พี.เคมิเกิล จำกัด เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายทั่วประเทศ จำเลยได้ผลิตและจำหน่ายสินค้าจำพวกเดียวกันโดยใช้เครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “Vitol” ซึ่งคล้ายคลึงกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์มากจนทำให้ประชาชนเข้าใจผิดได้ว่าเป็นสินค้าของโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย สินค้าของโจทก์ขายตกต่ำจากวันทำละเมิดจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 900,000 บาท และโจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงในทางการค้า 100,000 บาท ขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันทำละเมิดไปจนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายถัดจากวันฟ้องต่อไปเดือนละ 200,000 บาท จนกว่าจะเลิกใช้เครื่องหมายดังกล่าวและเก็บสินค้าจากท้องตลาด
จำเลยให้การว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองไม่เหมือนหรือคล้ายกันรวมทั้งส่วนประกอบของเครื่องหมายการค้าแตกต่างกันหลายประการ จำเลยกระทำโดยสุจริต โจทก์มิได้รับความเสียหายและฟ้องโจทก์เคลือบคลุมในเรื่องค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ก่อนชี้สองสถาน บริษัท ไอ.พี.เคมิเกิล จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นโจทก์ร่วม ศาลอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยเลิกใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า”Vitol” (ไวโตล หรือ ไวตอล หรือวิทตอล) ต่อไป และให้จำเลยค่าเสียหายให้แก่โจทก์และโจทก์ร่วมในอัตราเดือนละ 1,000 บาท นับแต่วันที่1 พฤษภาคม 2523 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะเลิกใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าว และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในทุนทรัพย์ที่โจทก์และโจทก์ร่วมชนะ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 2,000 บาทแทนโจทก์และโจทก์ร่วม
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยเป็นเครื่องหมายการค้าประเภทคำที่เป็นตัวอักษรโรมันอย่างเดียวไม่มีรูปหรือลวดลายประกอบ ฉะนั้นเมื่อนำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไปใช้กับสินค้าที่ผลิตออกจำหน่าย เจ้าของเครื่องหมายการค้าจะใช้สีอะไร และใช้ควบกับรูปภาพหรือลวดลายอย่างใดก็ได้ จึงเห็นว่าการที่จำเลยนำเอารูปจิงโจ้อยู่ในวงกลมมาประกอบเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ภาชนะบรรจุสินค้า เพื่อแสดงให้เห็นว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยแตกต่างกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ซึ่งประกอบด้วยรูปเครื่องสุขภัณฑ์ในห้องน้ำตามภาชนะบรรจุสินค้าก็ตาม ก็หาใช่สาระสำคัญที่จะต้องนำเอารูปภาพดังกล่าวมาพิจารณาประกอบในการวินิจฉัยเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยแต่อย่างใดไม่ เพราะรูปภาพดังกล่าวมิได้จดทะเบียนเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าแต่ประการใด ศาลฎีกาเห็นว่าในการวินิจฉัยเครื่องหมายการค้าของจำเลยว่าเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือไม่นั้นจะต้องวินิจฉัยจากคำอักษรโรมันที่เป็นเครื่องหมายการค้าเท่านั้นข้อเท็จจริงปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยเป็นอักษรโรมันมี 2 พยางค์เหมือนกันและจำนวนตัวอักษรก็มี 5 ตัวเท่ากันทั้งมีตัวอักษรที่เหมือนกันถึง 4 ตัว คือตัวหน้า 2 ตัวและตัวท้าย2 ตัว คงต่างกันเฉพาะตัวกลางเท่านั้นคือของโจทก์เป็นตัว “X” ส่วนของจำเลยเป็นตัว “T” แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นอักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมด ส่วนของจำเลยเป็นตัวพิมพ์ใหญ่เฉพาะตัวแรกอีก 4 ตัว เป็นตัวพิมพ์เล็กก็ตาม แต่เมื่ออ่านออกเสียงหรือเรียกขานเครื่องหมายการค้าแล้ว เห็นว่ามีสำเนียงใกล้เคียงกัน โดยของโจทก์อ่านว่า วิกซอล หรือไวซอล หรือวิซอล ก็ได้ ส่วนของจำเลยอ่านว่าวิทตอล หรือไวตอล หรือวิตอล ก็ได้ เพราะต่างไม่มีคำแปลด้วยกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ภาชนะบรรจุสินค้าของจำเลย หมาย จ.9 ใช้คำภาษาไทยว่า “ไวตอล” แต่ที่ภาชนะบรรจุสินค้าหมาย จ.10 จำเลยกลับใช้คำภาษาไทยว่า “วิทตอล” ทั้ง ๆ ที่จำเลยใช้คำภาษาไทยในคำขอจดทะเบียนว่า “ไวโตล” แสดงให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยที่จะให้เรียกขานเครื่องหมายการค้าของจำเลยให้ใกล้เคียงกับคำว่า “วิกซอล”ของโจทก์นั่นเอง ที่นายกมล กอวัฒนา ผู้จัดการบริษัทจำเลยเบิกความว่าที่ภาชนะบรรจุสินค้าหมาย จ.10 พิมพ์คำภาษาไทย “วิทตอล” นั้นเนื่องจากการพิมพ์ผิดไม่มีน้ำหนักรับฟัง เพราะว่าถ้าหากจำเลยไม่สั่งให้ผู้รับจ้างพิมพ์เครื่องหมายการค้าและภาพประกอบรวมทั้งคำภาษาไทยที่ภาชนะบรรจุสินค้าให้แล้ว ผู้รับจ้างจะพิมพ์ขึ้นเองโดยมิได้รับความเห็นชอบของจำเลยได้อย่างไร จึงเห็นว่าสำเนียงเรียกขานเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยใกล้เคียงและคล้ายกันมากเนื่องจากสินค้าที่โจทก์และจำเลยผลิตออกจำหน่ายนี้ เป็นสินค้าที่ประชาชนทั่วไปใช้สอย ผู้ใช้ที่ไม่คุ้นเคยต่อภาษาต่างประเทศย่อมอาจจะฟังและเรียกขานเป็นสำเนียงเดียวกันได้ หากจำเลยไม่ประสงค์จะฉวยโอกาศแอบอิงเครื่องหมายการค้าของโจทก์แสวงหาประโยชน์จำหน่ายสินค้าของจำเลยแล้ว จำเลยก็น่าจะเลือกใช้เครื่องหมายการค้าที่เป็นอักษรโรมันคำอื่น ๆ ที่ไม่เหมือนหรือคล้ายกับของโจทก์ได้อีกมากมายจากข้อเท็จจริงที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น เห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยมีลักษณะและสำเนียงเรียกขานคล้ายคลึงและเป็นการเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ทำให้ประชาชนผู้ซื้อหรือใช้สินค้าหลงผิดว่าเป็นสินค้าของโจทก์ได้ จึงเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ดังฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยมิได้เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ส่วนปัญหาว่าโจทก์เสียหายเพียงใดนั้น ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดแล้วซึ่งศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย และจำนวนค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้ก็เหมาะสมชอบด้วยรูปคดีแล้ว ฎีกาโจทก์และโจทก์ร่วมฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ”.

Share